คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ เป็น “โครงการผลิตครูมืออาชีพ”
2. แต่งตั้งคณะกรรมการทำหน้าที่บริหารโครงการครูมืออาชีพ จำนวน 2 ชุด ดังนี้
2.1 คณะกรรมการบริหารโครงการผลิตครูมืออาชีพ
2.2 คณะกรรมการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตและนักศึกษาทุนโครงการผลิตครูมืออาชีพ
สาระสำคัญของเรื่อง
ศธ. รายงานว่า
1. โครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 ธันวาคม 2552 ชื่อของโครงการฯ ทำให้เกิดข้อสงสัยกับความหมายของคำว่า “ครูพันธุ์ใหม่” ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ที่ต้องการผลิตครูมืออาชีพ ที่มีความรู้ทางวิชาการ เชี่ยวชาญทางวิชาชีพ และมีอุดมการณ์ในวิชาชีพครู ด้วยหลักสูตรและกระบวนการที่เน้นการปฏิบัติและการฝึกอบรมที่เข้มข้น ในสาขาและพื้นที่ที่ขาดแคลนและจำเป็นต่อการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอาชีวศึกษา โดยมีเป้าหมายการผลิตจำนวน 5 รุ่น ตั้งแต่ปีการศึกษา 2554-2558 รวมจำนวน 30,000 คน ด้วยหลักสูตรครูระดับปริญญาตรี (5 ปี) และหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู จึงขอเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น “โครงการผลิตครูมืออาชีพ”
2. จากการสิ้นสุดการดำเนินงานของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ทำให้ไม่สามารถดำเนินการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตกรณีการรับนักศึกษาครูที่กำลังศึกษาชั้นปีที่ 1 และรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเข้าศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู รวมทั้งประกาศผลการคัดเลือกผู้รับทุนโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ รุ่นปีการศึกษา 2554 กรณีรับนักศึกษาที่กำลังศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรระดับปริญญาตรี 5 ปี รูปแบบการประกันการมีงานทำ (ไม่มีทุนการศึกษา) ซึ่งจะต้องประกาศผลการคัดเลือกพร้อมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ได้รับจัดสรรให้บรรจุเข้ารับราชการครู เนื่องจากต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ ทั้ง 2 ชุดประกอบกับนักเรียน นักศึกษาครู และผู้ปกครองได้มีการสอบถามเกี่ยวกับการประกาศผลการคัดเลือกผู้รับทุนโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ รุ่นปีการศึกษา 2554 และขอทราบนโยบายความต่อเนื่องในการดำเนินงานเป็นจำนวนมาก จึงต้องเร่งรัดการแต่งตั้งคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด เพื่อทำหน้าที่บริหารโครงการฯ โดยเร็ว
3. การเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการที่ทำหน้าที่บริหารโครงการฯ ซึ่งขอปรับเปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการผลิตครูมืออาชีพ” มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 265 และ 267 ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคณะกรรมการที่ทำหน้าที่บริหารโครงการทั้ง 2 ชุด เป็นการดำเนินงานในเชิงประสานงานเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ไม่มีเรื่องผลประโยชน์และการเข้ารับสัมปทาน จึงไม่มีผลกับกฎหมายด้านต่าง ๆ
คณะกรรมการบริหารโครงการผลิตครูมืออาชีพ และคณะกรรมการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตและนักศึกษาทุนโครงการผลิตครูมืออาชีพ มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้
คณะกรรมการบริหารโครงการผลิตครูมืออาชีพ
องค์ประกอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็น ประธานกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็น รองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย ศาตราจารย์บุญทัน ดอกไธสง รองศาสตราจารย์สุขุม เฉลยทรัพย์ นางพรนิภา ลิมปพยอม นายดิเรก พรสีมา นางสาวศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เลขาธิการคุรุสภา ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการอุดมศึกษา เป็น กรรมการและเลขานุการ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จำนวน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
อำนาจหน้าที่
1. กำหนดนโยบาย กรอบและทิศทางการดำเนินงานของโครงการผลิตครูมืออาชีพ เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมีการดำเนินงานที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
2. กำกับ ดูแล บริหารโครงการ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้โครงการดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
3. ติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการดำเนินงานโครงการต่อกระทรวงศึกษาธิการ คณะรัฐมนตรี และสาธารณชน
4. แต่งตั้งคณะทำงานได้ตามความเหมาะสม
คณะกรรมการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตและนักศึกษาทุนโครงการผลิตครูมืออาชีพ
องค์ประกอบ นางสาวศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ เป็น ประธานกรรมการ นางพรนิภา ลิมปพยอม และผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ เป็น รองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย รองศาสตราจารย์สมบัติ นพรัก รองศาสตราจารย์สุขุม เฉลยทรัพย์ รองศาสตราจารย์วรพล พรหมิกบุตร บางเบญจวรรนรี โชติช่วงนิรันดร์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เลขาธิการคุรุสภา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา โดยมีผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการอุดมศึกษา เป็น กรรมการและเลขานุการ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จำนวน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
อำนาจหน้าที่
1. จัดทำเกณฑ์และคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตเข้าร่วมโครงการ
2. จัดทำเกณฑ์และดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาทุนเข้าร่วมโครงการ
3. จัดทำประชาสัมพันธ์โครงการ
4. รายงานผลการดำเนินงานต่อกระทรวงศึกษาธิการ คณะรัฐมนตรี และสาธารณชน
5. แต่งตั้งคณะทำงานได้ตามความเหมาะสม
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 พฤษภาคม 2555--จบ--