กรอบเจรจาเพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางบกระหว่างไทย-มาเลเซีย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 27, 2012 13:21 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกรอบเจรจาเพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางบกระหว่างไทย-มาเลเซียตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้นำเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป

ข้อเท็จจริง

คค. เสนอว่า

1. ปัจจุบันการขนส่งทางถนนระหว่างไทยกับมาเลเซียเป็นไปตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งสินค้าเน่าเสียง่ายทางถนนจากประเทศไทยผ่านแดนมาเลเซียไปยังสิงค์โปร์ ลงนามวันที่ 24 พฤศจิกายน 2522 โดยมาเลเซียยินยอมให้ประเทศไทยขนส่งสินค้าเน่าเสียง่าย ได้แก่ ปลา สัตว์น้ำจำพวกที่มีเปลือกหุ้มตัว หอย เนื้อสัตว์แช่เย็นหรือแช่แข็ง ผลไม้ ผักสด ทางถนนจากประเทศไทยผ่านแดนมาเลเซีย ไปยังสิงค์โปร์ได้ไม่เกิน 30,000 ตัน/ปี จะได้รับยกเว้นการชำระอากร ภาษี ค่าธรรมเนียม หรือค่าภาระอื่น ๆ ต่อมาปริมาณการขนส่งสินค้าเน่าเสียง่ายทางถนนมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้การขนส่งสินค้าเกินปริมาณที่กำหนดไว้ในความตกลง เป็นผลให้ผู้ประกอบการของประเทศไทยต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

2. ในส่วนของการขนส่งผู้โดยสารทางถนนระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย ยังไม่มีการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศรองรับ ทำให้การขนส่งผู้โดยสารบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย เป็นเพียงการอนุญาตเฉพาะครั้งคราวภายใต้เงื่อนไขและเขตพื้นที่ตามที่ทั้งสองประเทศกำหนด จึงเป็นข้อจำกัดและอุปสรรคของทั้งผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวในการเดินทาง และท่องเที่ยวทางถนนระหว่างสองประเทศ ดังนั้น การจัดทำความตกลง/บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางบกระหว่างไทย-มาเลเซีย จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางถนนระหว่างไทย-มาเลเซียให้คลี่คลายลง โดยไม่ต้องรอให้กรอบความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกในการขนส่งของอาเซียนซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของประเทศสมาชิกมีผลใช้บังคับ

3. คค. ได้จัดทำกรอบเจรจาเพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางบกระหว่างไทย-มาเลเซีย เสนอคณะกรรมการผู้แทนรัฐบาลเพื่อพิจารณาทำความตกลงเกี่ยวกับการขนส่งทางบกกับรัฐบาลต่างประเทศเป็นประจำ ในการประชุมครั้งที่ 2/2555 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ คค. นำเสนอกรอบเจรจาเพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางบกระหว่างไทย-มาเลเซียต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ก่อนที่จะดำเนินการเจรจาจัดทำบันทึกความเข้าใจด้านการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางบกระหว่างไทย-มาเลเซียต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

1. วัตถุประสงค์ บันทึกความเข้าใจฯ ที่จะจัดทำขึ้นเป็นการขยายโอกาสการให้บริการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างไทยกับมาเลเซีย และมีผลเป็นการยกเลิกบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งสินค้าเน่าเสียง่ายทางถนนจากประเทศไทยผ่านแดนมาเลเซียไปยังสิงค์โปร์ ซึ่งมีการจำกัดประเภทของสินค้าและปริมาณของสินค้าเน่าเสียง่าย โดยจะทำให้การขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างประเทศไทยและมาเลเซียเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็ว เป็นผลให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศทั้งในด้านการค้าและบริการท่องเที่ยว

2. สิทธิการจราจร อนุญาตให้มีการประกอบการรถขนส่งสินค้าและผู้โดยสารข้ามแดนและผ่านแดนทางถนนตามเส้นทางและด่านพรมแดนเข้า-ออก ที่กำหนดร่วมกัน และอนุญาตให้ผู้ประกอบการรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานประเทศผู้รับ ได้รับสิทธิในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารในประเทศผู้รับได้ โดยไม่รวมการขนส่งในประเทศ ทั้งนี้ การขนส่งข้ามแดนและผ่านแดนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศผู้รับ

3. เส้นทางการขนส่งข้ามแดน/ผ่านแดนและสิ่งอำนวยความสะดวก ให้มีการกำหนดเส้นทางการขนส่ง และสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณพรมแดนตามที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน

4. การอำนวยความสะดวกพิธีการข้ามแดน ให้มีการกำหนดด่านพรมแดนโดยความเห็นชอบร่วมกัน และให้มีการดำเนินการตรวจปล่อยร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบริเวณเดียววัน รวมทั้งปรับประสานและทำให้ง่ายขึ้นของพิธีการทางศุลกากร

5. การขนส่งสินค้าอันตราย ไม่อนุญาตให้ขนส่งสินค้าอันตราย เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากประเทศภาคีเป็นกรณี ๆ ไป ซึ่งเป็นไปตามพิธีสาร 9 ของกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน

6. การขนส่งสินค้าเน่าเสียง่าย ประเทศภาคีต้องอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าเน่าเสียง่าย

7. การยอมรับรถ กำหนดให้มีการยอมรับรถขนส่งสินค้าและรถโดยสารที่จดทะเบียนในประเทศภาคี การยอมรับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ข้ามแดนและผ่านแดนซึ่งกันและกัน ประเทศภาคีต้องอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าเน่าเสียง่าย

8. การขนส่งบุคคลข้ามแดนผ่านแดน ให้นำหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกมาใช้สำหรับการขนส่งบุคคลข้ามแดน

9. การขนส่งข้ามแดนและผ่านแดนทางรถไฟ ให้เป็นไปตามข้อตกลงการเดินรถร่วมระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยและการรถไฟแห่งสหพันธ์มลายา บังคับใช้เมื่อปี พ.ศ. 2497

10. คณะกรรมาธิการร่วม ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อประสานงานในการดำเนินการตามความตกลงฯ

11. การเริ่มมีผลบังคับใช้ ความตกลงจะมีผลใช้บังคับในวันที่ลงนามและมีผลเป็นการยกเลิกบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งสินค้าเน่าเสียง่ายทางถนนจากประเทศไทยผ่านแดนมาเลเซียไปยังสิงค์โปร์ พ.ศ. 2522

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มิถุนายน 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ