ความตกลงว่าด้วยการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดาของอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 5, 2012 09:01 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้

1. เห็นชอบและอนุมัติการลงนามความตกลงว่าด้วยการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดาของอาเซียน ก่อนนำเสนอความตกลงฯ และภาคผนวกแนบท้ายเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามมาตรา 190 เพื่อให้ความเห็นชอบเพื่อผูกพันไทยต่อไป

2. มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้ได้รับมอบหมายอื่น เป็นผู้ลงนามความตกลงฯ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญ ในความตกลงฯ หรือภาคผนวกแนบท้าย มอบให้ผู้ลงนามเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้นๆ แทนคณะรัฐมนตรี

3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้ได้รับมอบหมายอื่นลงนามความ ตกลง

4. เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบตามข้อ 1. แล้ว มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินกระบวนการภายในประเทศเพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามความตกลงว่าด้วยการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดาและข้อผูกพันแนบท้ายความตกลง และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือแจ้งเลขาธิการอาเซียนว่าประเทศไทยได้ดำเนินการตามกระบวนการภายในเสร็จสิ้นแล้วเพื่อให้ความตกลงฯ และภาคผนวกแนบท้ายความตกลงมีผลใช้บังคับ

สาระสำคัญ

1. ASEAN MNP Agreement จัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายบุคลากรที่ประสงค์จะให้บริการในประเทศสมาชิกในสาขาเกี่ยวกับการค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน โดยเกี่ยวข้องกับการเข้าเมืองชั่วคราวหรือการพำนักชั่วคราวของบุคคลธรรมดา

2. สาระสำคัญของ ASEAN MNP Agreement มีดังนี้

2.1 ASEAN MNP Agreement ประกอบด้วยข้อบทและข้อผูกพัน โดยสาระของข้อบทเกี่ยวกับการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้เกิดการเคลื่อนย้ายบุคลากรที่ประสงค์จะให้บริการในประเทศสมาชิกในสาขาเกี่ยวกับการค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน ส่วนข้อผูกพันจะระบุประเภทของบุคลากรที่ประเทศสมาชิกอนุญาตให้เข้ามาให้บริการได้ตามสาขาที่ระบุในข้อผูกพัน รวมถึงระยะเวลาในการให้เข้าเมืองชั่วคราวหรือพำนักชั่วคราวและเงื่อนไขอื่น ๆ เกี่ยวกับการอนุญาตทำงาน

2.2 ข้อผูกพันของไทยจะอนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายบุคลากร 2 ประเภท คือ

(1) ผู้เยี่ยมเยือนทางธุรกิจ (Business Visitor) ซึ่งหมายถึง บุคคลธรรมดาที่จะเข้ามาพำนักในไทยด้วยวัตถุประสงค์ด้านประชุมหรือติดต่อทางธุรกิจ เข้าร่วมสัญญาซื้อหรือขายบริการเยี่ยมเยือนธุรกิจที่จัดตั้ง และจัดตั้งธุรกิจในไทย หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน โดยการพำนักดังกล่าวจะอนุญาตในชั้นต้นไม่เกิน 90 วัน และอาจขยายระยะเวลาได้รวมไม่เกิน 1 ปี

(2) ผู้โอนย้ายภายในบริษัท (Intra-Corporate Transferee) ซึ่งหมายถึงผู้โอนย้ายระหว่างบริษัทในเครือในระดับผู้บริหาร ผู้จัดการ หรือผู้เชี่ยวชาญ โดยบุคคลนั้นต้องได้รับการจ้างโดยบริษัทดังกล่าวนอกประเทศไทยมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปีก่อนดำเนินการเข้ามาในไทย และต้องผ่านเงื่อนไขความจำเป็นด้านการจัดการของกรมการจัดหางาน โดยการพำนักดังกล่าวจะอนุญาตไม่เกิน 1 ปี และอาจขยายระยะเวลาได้อีก 3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี

การอนุญาตข้างต้นครอบคลุมการเคลื่อนย้ายบุคลากรใน 25 สาขา ดังต่อไปนี้ (1) บริการวิศวกรรม (2) บริการคอมพิวเตอร์ (3) บริการวิจัยและพัฒนา (4) บริการให้เช่า (5) บริการด้านโฆษณา (6) บริการวิจัยตลาดและสำรวจความเห็น (7) บริการด้านบริหารจัดการ (8) บริการที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร (9) บริการที่เกี่ยวเนื่องกับประมง (10) บริการที่เกี่ยวเนื่องกับป่าไม้ (11) บริการที่เกี่ยวเนื่องกับเหมืองแร่ (12) บริการที่ปรึกษา (13) บริการซ่อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ (14) บริการการแปล (15) บริการจัดประชุม (16) บริการด้านโทรคมนาคม (17) บริการผลิตสื่อวิทยุและโทรทัศน์ (18) บริการก่อสร้าง (19) บริการด้านการศึกษา (20) บริการด้านสิ่งแวดล้อม (21) บริการด้านการเงิน (22) บริการด้านสุขภาพ (23) บริการด้านโรงแรม (24) บริการด้านกีฬา และ (25) บริการด้านการขนส่ง

ทั้งนี้ เงื่อนไขการอนุญาตให้เข้ามาและพำนักในประเทศไทยภายใต้ข้อผูกพันทั้งหมดไม่เกินกว่าขอบเขตของกฎหมายไทยและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ไทยใช้ในการอนุญาตให้เข้ามาทำงานในปัจจุบันอยู่แล้ว

2.3 ความตกลงนี้จะมีผลใช้บังคับหลังจากที่ประเทศสมาชิกทั้งหมดได้แจ้งหรือส่งเอกสารแจ้งการให้สัตยาบัน (หากจำเป็น) ต่อเลขาธิการอาเซียน ซึ่งจะต้องไม่เกิน 180 วันหลังจากวันที่ได้ลงนามในความตกลง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 พฤศจิกายน 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ