ร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก (East –West Economic Corridor : EWEC) ครั้งที่ 3

ข่าวการเมือง Tuesday May 12, 2015 16:43 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก (East –West Economic Corridor : EWEC) ครั้งที่ 3

2. ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมให้การรับรองร่างเอกสารดังกล่าว

3. หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

สาระสำคัญของเรื่อง

กต. รายงานว่า

1. ไทยกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เกี่ยวกับการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (EWEC) ครั้งที่3 ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2558 ซึ่งในการประชุมจะมีการรับรองร่างถ้อยแถลงร่วม (Join Statement) การประชุมระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก ครั้งที่ 3

2. ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

2.1 ทั้ง 4 ประเทศมีเจตนารมณ์ที่จะร่วมกันส่งเสริมความเชื่อมโยงและการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างเมียนมา – ไทย – สปป.ลาว – เวียดนาม ตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก

2.2 รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการที่ผ่านมา เช่น การปรับปรุง / ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจ ฯ การให้สัตยาบันของไทยในภาคผนวกส่วนที่เหลือแนบท้ายความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion Cross-Border Transport Agreement : GMS CBTA) การรวมเส้นทาง หมายเลข 8 และ 12 เชื่อมโยงไทย – สปป.ลาว –เวียดนาม เข้าไปในความตกลง GMS CBTA และการดำเนินการตรวจปล่อยจุดเดียว (Single Stop Inspection : SSI) ที่จุดผ่านแดนแดนสะหวัน-ลาวบาว ระหว่าง สปป. ลาว – เวียดนาม และการเตรียมการในส่วนของไทย สำหรับการตรวจปล่อยจุดเดียวที่จุดผ่านแดนมุกดาหาร – สะหวันนะเขต

2.3 ตระหนักถึงความท้าทายสำหรับการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก ที่ยังคงอยู่ เช่น ความจำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามแนวเส้นทางในส่วนที่ยังขาดหาย สภาพของเส้นทางถนนบางส่วนที่ทรุดโทรมและขาดการบำรุงอย่างทันท่วงที สิ่งอำนวยความสะดวกที่จุดผ่านแดนที่ต้องการการปรับปรุงหรือยกระดับ ค่าใช้จ่ายและเวลาในการขนส่งข้ามพรมแดนที่จุดผ่านแดนและการขาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพียงพอตามแนวเส้นทาง

2.4 เห็นพ้องแนวทางในการดำเนินการต่อไป เช่น การเสริมสร้างความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเร่งรัดการบังคับใช้ความตกลงการอำนวยความสะดวกข้ามพรมแดนตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก ระหว่างไทย – สปป. ลาว – เวียดนาม ในการขยายแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตกไปยังเมืองหลวงของทั้ง 3 ประเทศ ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือไฮฟองของเวียดนาม การเร่งรัดการจัดทำความตกลงในการรวมเส้นทางหมายเลข 8 และ 12 เข้าไปในความตกลง GMS CBTA การผลักดันการเปิดให้บริการรถโดยสารประจำทางระหว่างไทย – สปป. ลาว –เวียดนาม การบังคับใช้การตรวจปล่อยจุดเดียวที่จุดผ่านแดนสะหวันนะเขต-มุกดาหาร การผลักดันการขยายขอบเขตความตกลงการอำนวยความสะดวกข้ามพรมแดนตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตกให้ครอบคลุมเมียนมาและการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่ปฏิบัติงานที่จุดผ่านแดนและผู้ประกอบธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์

3. ร่างถ้อยแถลงร่วมดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของไทยในการสร้างเสริมความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการไปมาหาสู่ในระดับประชาชนระหว่างไทย – สปป. ลาว –เมียนมา-เวียดนาม ตลอดจนจะช่วยนำไปสู่ความกินดีอยู่ดีที่ดียิ่งขึ้นของประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวพื้นที่ดังกล่าวด้วย และโดยที่ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ มีสาระเป็นการกล่าวถึงความสำคัญและความคืบหน้าในการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก อุปสรรคและความท้าทายที่ยังคงอยู่ ตลอดจนแนวทางการดำเนินการต่อไปจึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 พฤษภาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ