ข้อเสนอนโยบายเร่งด่วนการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 22, 2009 17:19 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบข้อเสนอนโยบายเร่งด่วนการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล และให้จัดตั้งสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอทุกอำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา) รวม 37 อำเภอ

2. ให้จัดอัตราพนักงานราชการเพื่อปฏิบัติงานตามนโยบายเร่งด่วนที่เสนอทั้ง 3 ข้อ รวม 982 อัตรา ดังนี้

2.1 อัตราพนักงานราชการในสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดและสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอ จำนวน 435 อัตรา

2.2 อัตราพนักงานราชการปฏิบัติงานในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามควบคู่วิชาวิสามัญ จำนวน 204 อัตรา และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 63 อัตรา

2.3 อัตราพนักงานราชการเพื่อเป็นครูอาสาในสถาบันการศึกษาปอเนาะจำนวน 275 แห่ง

3. อนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินการ จำนวนงบประมาณ 349.59 ล้านบาท โดยให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รับผิดชอบงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2552 และกระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบตั้งงบประมาณตั้งแต่งบประมาณปี 2553 เป็นต้นไป

กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอนโยบายการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยได้ดำเนินการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง จัดทำร่างข้อเสนอนโยบายการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ปรับปรุงร่าง ข้อเสนอนโยบายดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. ข้อเท็จจริงและสถานการณ์ปัจจุบัน ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่านักเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จากการทดสอบของสำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติต่ำกว่าร้อยละ 50 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ และผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2550 ของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศทุกวิชา รวมทั้งผลการสำรวจนักเรียนในช่วงชั้นที่ 1 (ประถมศึกษาปีที่ 3) ในปี 2550 พบว่าเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ถึงร้อยละ 30.82

ผลการประเมินคุณภาพภายนอก โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) พบว่าโรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 200 แห่ง ไม่ผ่านการรับรอง นอกจากนี้ พบว่ามีปัญหาการออกกลางคันสูง และอัตราการเรียนต่อทั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลายรวมทั้งอุดมศึกษาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ

ทั้งนี้ จากสภาพข้อเท็จจริงในพื้นที่ซึ่งปริมาณสถานศึกษาเอกชนและผู้เรียนในสถานศึกษาเอกชนมีสัดส่วนมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ โดยมีสัดส่วนนักเรียนในสถานศึกษาเอกชนต่อรัฐในระดับมัธยมศึกษาเป็น 70 : 30 แต่ไม่มีหน่วยงานดูแลด้านการศึกษาโดยตรง ทำให้การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทั้งของสถานศึกษาและผู้เรียนเป็นไปได้ยาก ที่ผ่านมาจึงพบว่าผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนในสถานศึกษาเอกชนต่ำกว่ารัฐ รวมถึงส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงโอกาสในการเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นของผู้เรียนด้วย

ในด้านการอุดหนุนจากรัฐให้กับโรงเรียนเอกชนในรูปค่าใช้จ่ายรายหัว ซึ่งอุดหนุนเงินเดือนครูเฉพาะวิชาสามัญ ไม่รวมถึงครูสอนศาสนา ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างบุคลากรภายในโรงเรียน โรงเรียนขนาดเล็กได้รับการอุดหนุนงบประมาณน้อยไม่เพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพและการอุดหนุนด้านกายภาพให้กับสถาบันศึกษาปอเนาะ บางครั้งไม่สอดคล้องต่อความต้องการ นอกจากนี้ระบบการตรวจสอบ ติดตามการอุดหนุนยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

2. สาระสำคัญของข้อเสนอนโยบาย

2.1 ให้จัดตั้งสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล และสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอในทุกอำเภอของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (จะนะ นาทวี เทพา และ สะบ้าย้อย) รวม 37 อำเภอ เพื่อดูแลรับผิดชอบประสาน ส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาเอกชน ทั้งด้านวิชาการ บุคลากร การอุดหนุนงบประมาณ และการบริหารทั่วไป

2.2 ให้จัดอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไปปฏิบัติงานในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการกำกับดูแล ส่งเสริม สนับสนุน โดยไปปฏิบัติงานในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามควบคู่สามัญทุกโรงๆ ละ 2 คน (242 โรงๆ ละ 2 คน รวม 484 คน) และปฏิบัติงานในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามทุกโรงๆ ละ 1 คน (63 โรงๆ ละ 1 คน รวม 63 คน) ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งสิ้น 547 อัตรา

2.3 จัดสรรครูอาสาเพื่อทำหน้าที่สอนวิชาวิสามัญในสถาบันศึกษาปอเนาะ โดยให้ครอบคลุมสถาบันศึกษาปอเนาะทุกแห่งใน 5 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 379 แห่ง ๆ ละ 1 อัตรา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 เมษายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ