การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 24, 2010 14:43 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

โรคเขียวเตี้ยและโรคใบหงิก (เพิ่มเติม)

คณะรัฐมนตรีรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอดังนี้

1. รับทราบสถานการณ์การระบาดและการดำเนินการตามแนวทางการช่วยเหลือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

2. อนุมัติในหลักการปรับวิธีการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 กรณีที่เกษตรกรไม่เข้าร่วมโครงการให้ใช้วิธีการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวที่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ยและโรคใบหงิก ในพื้นที่ที่มีการตรวจพบว่ามีการระบาด ภายในวงเงินที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้แล้ว จำนวน 1,240 ล้านบาท

ข้อเท็จจริง

1. สถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน

สถานการณ์การระบาดเริ่มรุนแรงขึ้นในเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา โดยพบการระบาดใน 7 จังหวัด ภาคกลางและเหนือตอนล่าง สาเหตุสำคัญเนื่องจากเกษตรกรทำนาอย่างต่อเนื่องโดยไม่พักดิน การปลูกข้าวหนาแน่นเนื่องจากเกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวในปริมาณที่สูง (ประมาณ 30 — 35 กิโลกรัม/ไร่) รวมทั้งการใช้สารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ ซึ่งเป็นการทำลายศัตรูธรรมชาติและการทำนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมีอาหารดูดกินอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นและทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 1.958 ล้านไร่ และมีการระบาดมากที่สุดในรอบปี (ช่วงต้นเดือนธันวาคมถึงกลางเดือนธันวาคม 2552) เป็น 2.386 ล้านไร่

จากการดำเนินการตามมาตรการพบว่า มีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลลดลง ใน 11 จังหวัด คงเหลือพื้นที่ 6.74 แสนไร่ (ลดลง 1.59 แสนไร่) และลดลงเหลือ 3.99 แสนไร่ ใน 8 จังหวัดภาคเหนือและภาคกลาง และจากการรายงานของกรมส่งเสริมการเกษตรพบว่า พื้นที่การระบาดเพิ่มขึ้นจากเดิม 3.99 แสนไร่ เพิ่มเป็น 5.94 แสนไร่ เนื่องจากมีการปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 ต่อเนื่อง ประกอบกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเคลื่อนย้ายจากพื้นที่ มีการเก็บเกี่ยวไปยังพื้นที่ที่ปลูกใหม่ จึงทำให้พื้นที่การระบาดเพิ่มขึ้น เป็น 6.38 แสนไร่ใน 9 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก 2.45 แสนไร่ สุพรรณบุรี 1.41 แสนไร่ กำแพงเพชร 1.06 แสนไร่ นนทบุรี 0.56 แสนไร่ สิงห์บุรี 0.50 แสนไร่ อุทัยธานี 0.18 แสนไร่ ปทุมธานี 0.16 แสนไร่ อ่างทอง 0.039 แสนไร่ และพิจิตร 0.023 แสนไร่ (ข้อมูลเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2553)

2. การดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

2.1 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมการไถกลบต้นข้าว มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียน 3,763 ราย พื้นที่ 68,717.25 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มีนาคม 2553)

2.2 ได้รับการอนุมัติงบประมาณจากสำนักงบประมาณ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 จำนวน 100.335 ล้านบาท (จากที่ขออนุมัติ 501 ล้านบาท) แยกเป็นกรมการข้าว จำนวน 80.130 ล้านบาท กรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 8.285 ล้านบาท กรมพัฒนาที่ดิน 11.620 ล้านบาท และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จำนวน 0.3 ล้านบาท ในส่วนของเงินยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร วงเงิน 739 ล้านบาท อยู่ระหว่างการดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมบัญชีกลาง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้เร่งรัดการดำเนินงานต่อไป

2.3 สาเหตุสำคัญของการไม่เข้าร่วมกิจกรรมการไถกลบต้นข้าวของเกษตรกร มีดังนี้

1) ข้าวที่จะไถกลบเลยระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการไถกลบ ทำให้เกษตรกรไม่เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากต้นข้าวเติบโตใกล้ระยะเก็บเกี่ยว

2) ในช่วงเดือนมกราคม — กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ก่อนที่ทางโครงการจะได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เกษตรกรบางจังหวัด เช่น พิจิตร กำแพงเพชร อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี ปทุมธานี ได้รับสารฆ่าแมลงจากการสนับสนุนจากจังหวัด อบต. และอบจ.ทำให้เกษตรกรไม่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ โดยคาดว่าจะได้รับผลผลิตอยู่ โดยไม่ต้องไถกลบ และหากผลผลิตข้าวเสียหายโดยสิ้นเชิง เกษตรกรก็จะได้รับการชดเชยตามระเบียบของกระทรวงการคลัง (ไร่ละ 606 บาท)

3) เกษตรกรบางส่วนมีความเชื่อว่า การทำลายต้นข้าวที่ออกรวงในแปลงนาแล้ว เป็นการทำลายหรือลบหลู่แม่โพสพ ซึ่งจะทำให้การประกอบอาชีพไม่เจริญรุ่งเรือง

4) เนื่องจากข้าวราคาดี ทำให้เกษตรกรตัดสินใจปลูกข้าวต่อเนื่องและไม่สนใจเข้าร่วมโครงการ โดยพร้อมที่จะเสี่ยงและเกษตรกรบางส่วนได้มีการปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวในพื้นที่และดำเนินการควบคุมตามคำแนะนำทางวิชาการของกรมการข้าว

5) พื้นที่ระบาดบางส่วนปลูกหลังวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความช่วยเหลือ (เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553)

6) มาตรการที่กำหนดเป็นการชักชวนให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการโดยความสมัครใจ และไม่มีกฎหมายบังคับ

3. ผลกระทบของการระบาด

3.1 ด้านการควบคุมการระบาดของโรค

1) จากผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อตัดวงจรการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิก หากไม่เร่งรัดตัดวงจรชีวิตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยการพักการทำนาในเขตพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างน้อย 1 เดือน จะส่งผลกระทบจากผลผลิตข้าวของประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะในฤดูนาปี 2553 ที่กำลังจะปลูกข้าว

2) เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลยังคงอยู่และมีการเคลื่อนย้ายไปยังแปลงนาที่ปลูกใหม่ ซึ่งจะเคลื่อนย้ายไปตามกระแสลมจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นไปยังพื้นที่ปลูกข้าวภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง

3) ฤดูนาปีที่จะเริ่มในเดือนพฤษภาคม 2553 เป็นการเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคที่มีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นพาหะ ซึ่งการระบาดมีแนวโน้มเพิ่มมากกว่า 14 จังหวัดที่เคยมีการระบาด โดยอาจจะขยายเป็นวงกว้างไปในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงใต้

3.2 ด้านเศรษฐกิจ

1) ในพื้นที่ที่มีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ยและโรคใบหงิก คาดว่าผลผลิตข้าวลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 หากไม่เร่งตัดวงจรชีวิตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จะขยายพื้นที่การระบาดเพิ่มขึ้นเป็น 5 — 10 เท่า

2) ข้าวเปลือกจากพื้นที่ที่มีการระบาดมีคุณภาพต่ำ เมล็ดลีบเป็นส่วนใหญ่

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มีนาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ