แผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2553 (ฉบับปรับปรุง)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 16, 2010 15:50 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2553 (ฉบับปรับปรุง) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ความเป็นมา

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2552 รับทราบแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2553 เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการป้องกันและลดผลกระทบจากปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเตรียมรับสถานการณ์ป้องกันและบรรเทาความเสียหายจากปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร และให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และในแผนดังกล่าวได้กำหนดให้มีการพิจารณาทบทวนแผนเป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา

2. การดำเนินงาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการตามแผนดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะนี้ถึงกำหนดเวลาปรับปรุงแผนเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยได้ปรับปรุงเนื้อหาใน 2 ส่วนหลัก คือ โครงสร้างการบริหารจัดการภัยพิบัติด้านการเกษตร และการเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ระยะที่ 2 (ช่วงเดือนเมษายน-กันยายน 2553) ซึ่งแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2553 (ฉบับปรับปรุง) ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรแล้วเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2553 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

2.1 การบริหารจัดการภัยพิบัติด้านการเกษตร

2.1.1 โครงสร้างการบริหารจัดการภัยพิบัติด้านการเกษตร ระดับนโยบาย ประกอบด้วย คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน คณะอนุกรรมการวางแผน และติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ด้านการเกษตร ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน โดยมีคณะทำงาน 2 ชุด คือ คณะทำงานวางแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร และคณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ระดับปฏิบัติการ ประกอบด้วย ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรในส่วนกลาง และระดับจังหวัด

2.1.2 แนวทางการบริหารจัดการภัยพิบัติด้านการเกษตร แบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ

  • ก่อนเกิดภัย ประกอบด้วย การวิเคราะห์และจัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย การเตรียมความพร้อมของหน่วยงาน การประชาสัมพันธ์ และให้คำแนะนำทางวิชาการ ด้านพืช ประมง และปศุสัตว์
  • ขณะเกิดภัย ประกอบด้วย การติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนภัย การประเมินความเสียหายและการรายงาน การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น
  • หลังเกิดภัย ประกอบด้วย การสำรวจความเสียหาย การให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนโดยใช้เงินทดรองราชการและเงินงบกลาง การฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรและอาชีพเกษตรกรรม

2.2 การเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ระยะที่ 2 (ช่วงเดือนเมษายน-กันยายน 2553) ประกอบด้วย

2.2.1 สรุปสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ระยะที่ 1 (ช่วงเดือนตุลาคม 2552-มีนาคม 2553)

2.2.2 สถานการณ์ทั่วไป ระยะที่ 2 (ช่วงเดือนเมษายน-กันยายน 2553) ได้แก่ สภาพภูมิอากาศ สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ การพยากรณ์ด้านการผลิต

2.2.3 สภาพปัญหา ระยะที่ 2 (ช่วงเดือนเมษายน—กันยายน 2553) แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

(1) ปัญหาจากภัยแล้ง/ฝนทิ้งช่วง ได้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมทั้งกำหนดมาตรการในการป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบภัยดังกล่าว ได้แก่ การปฏิบัติการฝนหลวง การติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับแผนการระบายน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ การประกาศขอให้เลื่อนการทำนาปีในเขตโครงการชลประทานทุกโครงการที่รับน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ในภาคเหนือตอนล่างและในเขตโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่และรถบรรทุกน้ำ เพื่อให้การช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย

(2) ปัญหาจากอุทกภัย ได้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมทั้งกำหนดมาตรการในการป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบภัยดังกล่าว ได้แก่ การก่อสร้างปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทา อุทกภัย การใช้ระบบโทรมาตรเพื่อการพยากรณ์น้ำและแจ้งเตือนภัย การบริหารน้ำในอ่างเก็บน้ำโดยใช้ ROS การจัดทำแผนที่เสี่ยงภัย นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ดังนี้ 1) วางแผนการจัดสรรน้ำ 2) วางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ 3) การสำรองเสบียงอาหาร สัตว์และปัจจัยการผลิต 4) เตรียมแผนการอพยพสัตว์ 5) เตรียมความพร้อมยานพาหนะ เครื่องสูบน้ำ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ