รายงานภาวะตลาดสินค้าผ้าผืนและเครื่องนุ่งห่มในฟิลิปปินส์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 16, 2010 11:37 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ภาวะการตลาดและแนวโน้ม

ฟิลิปปินส์มีประชากรประมาณ 98 ล้านคน โดยประชากรส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและรายได้ไม่เพียงพอดำรงชีพ รายได้ของประชากรกลุ่มนี้จะหมดไปกับอาหาร ทำให้การใช้จ่ายด้านเครื่องนุ่งห่มน้อยมากโดยราคาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อ ส่งผลให้มีร้านขายเสื้อผ้าเก่าจำนวนมาก และสินค้าราคาถูกจากจีนขายดีมาก

สำหรับกลุ่มคนฐานะปานกลาง จะแต่งกายแบบเรียบๆ สบายๆ สามารถใส่กางเกงทุกประเภทรวมถึงกางเกงยีนไปทำงาน ไม่ได้ถือว่าไม่สุภาพเหมือนธรรมเนียมไทย หลายสำนักงานมีเครื่องแบบสำหรับพนักงาน คนกลุ่มนี้จำนวนมากชอบใช้สินค้าแบรนด์แนมดังๆ แต่รายได้ไม่เพียงพอจึงมีการใช้สินค้าลอกเลียนแบบสินค้าแบรนด์แนมดังๆกันจำนวนมาก อย่างไรก็ดี มีคนจำนวนหนึ่งที่มองหาสินค้าคุณภาพดี ราคาปานกลางโดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นแบรนด์ดังๆ ซึ่งสินค้าไทยสามารถเจาะตลาดคนกลุ่มนี้ได้

กลุ่มคนฐานะดีซึ่งมีประมาณร้อยละ 2 - 3 ของประชากรทั้งหมด คนกลุ่มนี้มีฐานะดีมากและใช้สินค้าคุณภาพดีเลิศโดยเฉพาะสินค้าแบรนด์แนมดังๆจากต่างประเทศ คนกลุ่มนี้มีจำนวนน้อยแต่กำลังซื้อสูงมาก ทำให้ร้านขายเสื้อผ้าแบรนด์แนมดังๆยืนหยัดอยู่ได้ อย่างไรก็ดี คนกลุ่มนี้พร้อมที่จะรับสินค้าแบรนด์แนมไม่ดัง แต่ต้องมีคุณภาพดีและรูปลักษณ์โดดเด่นทันสมัยจริงๆ

2. รสนิยม

การแต่งกายสำหรับชีวิตประจำวันของชาวฟิลิปปินส์จะเรียบๆ แต่เมื่อออกงานสังคมต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อร่วมพิธีแต่งงาน จะแต่งกายเลิศหรูและสวยงาม นิยมใส่ชุดราตรียาว โดยส่วนมากจะซื้อชุดสำเร็จรูป ส่วนบุรุษเมื่อออกงานสังคมจะใส่เสื้อบารองซึ่งตัดจากผ้าใยสับปะรด และ/หรือ ใยกล้วย ไม่นิยมใส่เสื้อสูท

3. การผลิตในประเทศ

ฟิลิปินส์มีการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศทั้งในลักษณะแบรนด์ของตนเองและรับจ้างผลิตจำนวนมาก จนเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับสองของประเทศ แบรนด์ที่เป็นของฟิลิปปินส์ เช่น bench, Penshoppe, Kamiseta และ Altitude

ขณะนี้ปัญหาด้านการเมืองของฟิลิปปินส์บรรเทาลงมาก แต่ปัญหาด้านเศรษฐกิจยังคงรุนแรง แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาประกาศความสำเร็จของผลงานมากมาย แต่นักธุรกิจพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับปัญหาด้านแรงงาน เช่น การรวมกลุ่มของคนงานเพื่อเรียกร้องสิ่งต่างๆ และคนงานไม่ใส่ใจในงาน ทำให้ผู้ประกอบการไม่ขยายกำลังการผลิตและมีความคิดที่ปิดโรงงานและหันมานำเข้า ประกอบกับการยกเลิกข้อตกลงสิ่งทอระหว่างประเทศเมื่อต้นปี 2548 ส่งผลให้เลิกใช้ระบบโควตานำเข้าสินค้าสิ่งทอ ฟิลิปปินส์เคยได้รับโควตาจำนวนมากจากสหรัฐอเมริกาและได้ประโยชน์จากระบบนี้มาก เมื่อยกเลิกระบบจึงได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จึงคาดว่าแนวโน้มการผลิตสินค้าสิ่งทอของฟิลิปปินส์จะขยายตัวในอัตราต่ำ โดยสินค้าจากประเทศจีนได้เข้ามาแทนที่ตั้งแต่การยกเลิกระบบโควต้าการนำเข้าสิ่งทอ

4. การนำเข้าสินค้าผ้าผืนและเครื่องนุ่งห่มของฟิลิปปินส์

สินค้าสิ่งทอนำเข้าที่สำคัญของฟิลิปปินส์ คือ เส้นใยสิ่งทอ ซึ่งนำเข้ามาเป็นวัตถุดิบในการทอผ้าและตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก แนวโน้มการนำเข้าเป็นไปในทางเดียวกันกับการส่งออก กล่าวคือการนำเข้าลดลงตั้งแต่ปี 2547 โดยมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าประเภทนี้ ประมาณ ปีละ 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนในปี 2552 มีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 611 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 30 จากปี 2551

ประเทศผู้ส่งสินค้าสิ่งทอเข้าฟิลิปปินส์ที่สำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง จีน เกาหลี ไต้หวัน อินโดนีเซีย และไทย

5. การค้าสิ่งทอระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์

สินค้าสิ่งทอสำคัญที่ไทยส่งไปฟิลิปปินส์ คือ เส้นด้ายและใยประดิษฐ์ และผ้าผืนมีมูลค่าการส่งออกประมาณปีละ 60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอมีแนวโน้มปิดตัวลงมากขึ้น นอกจากนั้นได้ย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศที่มีต้นทุนถูกกว่าและใกล้ตลาดส่งออก

6. กลยุทธ์การเจาะตลาดและการเข้าสู่ตลาดฟิลิปปินส์ มีดังนี้

  • ตั้งตัวแทนจำหน่ายและเปิดร้านของตนเอง เหมาะสำหรับสินค้าที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น แต่ค่าใช้จ่ายสูงมาก เนื่องจากต้องเช่าที่ในศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้า แบรนด์ของไทยที่ทำการตลาดแบบนี้ในฟิลิปปินส์ ได้แก่ Fly now Jaspal และ greyhound
  • ส่งออกให้แก่ห้างสรรพสินค้า ปกติห้างสรรพสินค้าในฟิลิปปินส์จะไม่นำสินค้าเข้าไปจำหน่ายเอง นอกจากสินค้ามีแนวโน้มการตลาดที่ดีมาก
  • ส่งออกแก่ผู้นำเข้าฟิลิปปินส์ เพื่อส่งต่อให้ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีก ซึ่งเป็นช่องทางที่ส่วนใหญ่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้
  • ผู้นำเข้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ค้าปลีกด้วย เดินทางมาซื้อด้วยตนเองในไทย สินค้าที่ส่งออกช่องทางนี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าสำหรับตลาดระดับกลางถึงระดับล่าง ที่จำหน่ายในตลาดประตูน้ำ โบ้เบ้ และพาหุรัด

7. รายชื่อผู้นำเข้ารายใหญ่ที่มีศักยภาพ

8. ข้อมูลสถิติการนำเข้าผ้าผืนและเครื่องนุ่งห่ม

สำนักงานส่งเสริมการค้า ณ กรุงมะนิลา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ