สรุปภาวะตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในตลาดเยอรมนี เดือนมกราคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 3, 2011 14:53 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. การผลิตและยอดการจำหน่าย

ถึงแม้ว่าจะผ่านพ้นเทศกาลสำคัญๆ ประจำปีมาแล้วก็ตาม การจับจ่ายซื้อสินค้าของผู้บริโภคยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ร้านค้าปลีกสำคัญๆ สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าใช้ในบ้าน ได้แก่ เครื่องซักผ้า โทรทัศน์ วิทยุ เครื่องเสียง กล้องถ่ายรูป กล้องวีดีโอ เหล่านี้เป็นต้น ยังคงใช้การลดราคาสินค้าในการแข่งขันเพื่อขยายส่วนแบ่งตลาด เครื่องประดับโลหะมีค่าประดับอัญมณีแท้ ก็ได้รับความสนใจ มีการซื้อเพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีการสะสมทองคำทองแท่งเพิ่มมากขึ้น ทำให้ในภาพรวมตลาดเครื่องประดับและอัญมณีในเยอรมนีมีแนวโน้มที่แจ่มใสอยู่ ตามตัวเลขสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี ปี 2553 ในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) มียอดการจำหน่ายสินค้าประเภทนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เป็นการขายในประเทศมูลค่า 163 ล้านยูโรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 และการขายในต่างประเทศมูลค่า 93.2 ล้านยูโร มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 สำหรับเครื่องประดับเทียม มีการขายทั้งสิ้นลดลงร้อยละ 32.7 เป็นมูลค่า 18.8 ล้านยูโร

2. สถานการณ์การนำเข้า

ความต้องการสินค้าเครื่องประดับแท้และเทียมยังคงมีมากต่อเนื่อง ในช่วง 10 เดือนแรก ปี 2553 (ม.ค.-ต.ค.) เยอรมนีนำเข้าเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 11,961.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.3 ส่วนใหญ่ของสินค้าที่เยอรมนีนำเข้าจะเป็นทองคำ แพลทินัม โดยส่วนหนึ่งเป็นการสะสม และอีกส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในการผลิตเป็นเครื่องประดับต่อไป มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 7,223.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 60 ของการนำเข้าทั้งสิ้น มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.0 แหล่งนำเข้าที่สำคัญๆ ได้แก่ อัฟริกาใต้ (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 14) สหรัฐฯ (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 10) และเบลเยี่ยม (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 10) ทองคำมีการนำเข้าเป็นมูลค่า 3,147 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 26 ของการนำเข้าทั้งสิ้น มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.2 แหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สวิส (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 68) ออสเตรีย (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 11) อัฟริกาใต้ (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3) สำหรับเครื่องประดับแท้ทำด้วยทองและเงิน มีการนำเข้ามูลค่า 819.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ ร้อยละ 7 ของการนำเข้าทั้งสิ้น มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ได้แก่ ไทย (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 21) สวิส (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 20) จีน (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 13) อิตาลี (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 10) ส่วนเครื่องประดับเทียม มีการนำเข้ามูลค่า 450 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 4 ของการนำเข้าสินค้ารายการนี้ทั้งสิ้น มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ได้แก่ จีน ออสเตรียและฮ่องกง มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 57, 18 และ 3 ตามลำดับ

3. การส่งออกของไทยไปตลาดเยอรมนี

ในปี 2553 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปเยอรมนีเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 233.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 7 ของการส่งออกสินค้าไทยไปเยอรมนีทั้งสิ้น มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 20.7 สินค้าที่ส่งออกมากอันดับแรกจะเป็น เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน มูลค่า 109.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 46.7 ของการส่งออกสินค้ารายการนี้ไปเยอรมนี มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 ในเยอรมนีสินค้าไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดประมาณร้อยละ 37 รองลงมาเป็นจีนมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 28 อินเดีย (6%) และอิตาลี (5%) รองลงมาเป็นเครื่องประดับทำด้วยทองคำมูลค่า ไทยส่งออกเป็นมูลค่า 40.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 24.3 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 17.2 ของการส่งออกสินค้ารายการนี้ไปเยอรมนี ในเยอรมนีสินค้าไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ สวิส (33%) อิตาลี (14%) ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป มูลค่า 19.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.7 แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ได้แก่ สวิส (68%) ออสเตรีย (11%) และอัฟริกาใต้ (3%) ไทย (0.5%) เครื่องประดับอัญมณีเทียม มีการนำเข้ามูลค่า 9.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.0 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ จีน (57%) ออสเตรีย (17%) และฮ่องกง (3%) ไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.6

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศฯ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ