การค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่นไตรมาสแรกของปี 2554 และแนวโน้มเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 2, 2011 12:03 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ

การค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่นไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปี 2554 มีมูลค่า 32.48 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 6.69 เปอร์เซ็นต์ โดยขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งขยายตัวถึง30.74 เปอร์เซ็นต์

การส่งออกมีมูลค่า 16.42 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 2.45 เปอร์เซ็นต์ ขยายตัวในอัตราที่ลดลงอย่างมากจาก 43.22 เปอร์เซ็นต์ในปีก่อน

สินค้าส่งออกที่สำคัญอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นยังคงเป็นรถยนต์และส่วนประกอบ โดยมีสัดส่วนสูงถึง15.31 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกทั้งหมด สินค้าส่งออกอื่นๆ ที่สำคัญได้แก่ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เรือโดยสาร เครื่องจักรและส่วนประกอบ เป็นต้น

การนำเข้ามีมูลค่า 16.06 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 11.41 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ในรูปเงินเหรียญสหรัฐการนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 22.81 เปอร์เซ็นต์

สินค้านำเข้าที่สำคัญคือพลังงาน(น้ำมันดิบ กาซปิโตรเลี่ยม ถ่านหิน และน้ำมันปิโตรเลียมที่กลั่นแล้ว) แผงวงจรอิเล็คทรอนิกส์ สินแร่เหล็ก เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เป็นต้น

ไตรมาสแรกของปี ญี่ปุ่นได้ดุลการค้า 0.36 ล้านล้านเยน ลดลง 77.66 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนเนื่องจากปัจจัยลบหลายปัจจัยที่กดดันการส่งออก ได้แก่ ความต้องการในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง ค่าเงินเยนที่แข็งค่า และการส่งออกที่เติบโตลดลงเนื่องจากผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ต่ออุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็คทรอนิคส์ในขณะที่มูลค่าการนำเข้ายังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นเป็นตัวหนุนทั้งนี้การนำเข้าพลังงานยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเพื่อนำมาทดแทนพลังงานนิวเคลียร์ที่โรงงานได้รับความเสียหาย

การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในไตรมาสแรกของปี 2554 มีมูลค่า 1.23ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 11.38 เปอร์เซ็นต์ ขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากปีก่อนที่เติบโตถึง52.56 เปอร์เซ็นต์ โดยญี่ปุ่นส่งออกมายังประเทศไทย 0.75ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 9.67 เปอร์เซ็นต์ นำเข้าจากไทย 0.48ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 14.15 เปอร์เซ็นต์ และได้ดุลการค้ากับไทย 0.27ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 2.43 เปอร์เซ็นต์

สินค้าที่ญี่ปุ่นส่งออกมายังไทยที่เติบโตอย่างโดดเด่นได้แก่ ไดโอท/ทรานซิสเตอร์ (64.26%) เครื่องจักรกล (48%) และเครื่องยนต์สันดาปภายใน ( 86.88%)

สินค้าที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยที่เติบโตอย่างโดดเด่นได้แก่ รถยนต์/รถจักรยานยนต์ (117%)น้ำตาล(118.6%)ยางพารา (86.24%)โครงก่อสร้างและส่วนประกอบ (53.52%) พลาสติกและผลิตภัณฑ์ (36.97%)เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง (30.36%) อาหารทะเลแปรรูป (24.18%) และ เครื่องสำอางและน้ำหอม (19.15%)เป็นต้น ไทยเป็นแหล่งนำเข้าน้ำตาลที่สำคัญอันดับ 1 ของญี่ปุ่น มีสัดส่วน 71 เปอร์เซ็นต์ของการนำเข้าทั้งหมด การนำเข้าน้ำตาลจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งโดยได้อานิสงค์จากผลิตผลที่ลดลงของคู่แข่งสำคัญอย่างออสเตรเลียที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติพายุไซโคลน

แนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นปี 2554

ภัยพิบัติแผ่นดินไหว สึนามิ และโรงงานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ได้รับความเสียหาย เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยทำให้เกิดการติดขัดในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าของภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ กลายเป็นปัจจัยกดดันอุปทาน ทำให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคมลดต่ำลง 15.3 เปอร์เซ็นต์จากเดือนกุมภาพันธ์ในขณะเดียวกันก็ส่งผลกดดันต่ออุปสงค์ ได้แก่ การตัดสินใจลงทุนของเอกชน การบริโภค และการท่องเที่ยว

ความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาข้อจำกัดของอุปทาน อันเนื่องมาจากการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าจะเป็นตัวแปรที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ทั้งนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีงบประมาณ 2554 (เม.ย.54-มี.ค.55) ลงเหลือ 0.6 เปอร์เซ็นต์ จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 1.6 เปอร์เซ็นต์

แหล่งข้อมูล :

1. World Trade Atlas

2. "Quake Shock Prompts BOJ To Cut Economic Outlook", The Nikkei, 28 April 2011

3. "Outlook for Economic Activity and Prices", Bank of Japan, 29 April 2011

4. "Earthquake Weighs On Current Account Surplus In March", The Nikkei, 12 May 2011

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ