รายงานภาวะตลาดอาหารทะเลแช่แข็งในเดนมาร์ก 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 11, 2011 15:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ข้อมูลทั่วไป

การบริโภคอาหารทะเลของเดนมาร์ก มีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนักในช่วงที่ผ่านมา กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2553 การใช้จ่ายการบริโภคปลา และอาหารทะเลในเดนมาร์ก มีมูลค่า 668.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมือเทียบกับปี 2548 ซึ่งมีมูลค่า 533.8 ล้านเหรียญสหรัฐ อันเป็นผลอันเนื่องมาจากในปี 2549 ซึ่งรัฐบาลได้มีการรณรงค์ให้ชาวเดนมาร์กหันมาบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพโดยการบริโภคปลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง มีผลทำให้การบริโภคปลา และอาหารทะเลแช่แข็งเพิ่มขึ้น และจากการศึกษาพบว่าในปี 2551 ชาวเดนมาร์กบริโภคปลา และอาหารทะเลประมาณ 7 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะยังนิยมการบริโภคอาหารสดมากกว่าอาหารแช่แข็ง แต่อัตราการเจริญเติบโตของความต้องการบริโภคปลา และอาหารทะเลแช่แข็งก็ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละประมาณ ร้อยละ 1-2 โดยในปี 2553 ตลาดปลา และอาหารทะเลแช่แข็งในเดนมาร์กมีมูลค่ามีมูลค่า 59.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (รูป1) หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 8.9 ของการบริโภคปลา และอาหารทะเลทั้งหมด

2. การนำเข้า และส่งออก ตลาดสินค้าปลาและอาหารทะเลในเดนมาร์ก

2.1 การนำเข้า และส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาและอาหารทะเลของเดนมาร์ก

ในปี 2553 เดนมาร์กส่งออกปลาและอาหารทะเลมูลค่า 2,973.65 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 5.33 และนำเข้ามูลค่า 2,270.64 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.27 เดนมาร์กส่งออกปลาและอาหารทะเลมากกว่านำเข้ารวมมูลค่า 703.01 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฝรั่งเศส มีมูลค่าสูงสุดที่ 543.82 ล้านเหรียญสหรัฐ และรองลงมาได้แก่ เยอรมันนี อิตาลี และเนเธอร์แลนด์อยู่ในลำดับถัดมา สำหรับประเทศไทยอยู่ที่ลำดับ 25 มีมูลค่า 11.85 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการนำเข้า ในปี 2553 เดนมาร์กมีการนำเข้า สินค้าปลา และอาหารทะเล รวมมูลค่า 2,270 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 5.33 แหล่งนำเข้านำเข้าของเดนมาร์กที่สำคัญ คือ นอร์เวย์ มีมูลค่ารวม 1,159 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาได้แก่ หมู่เกาะแฟโร กรีนแลนด์ และสวีเดน

2.2 การนำเข้าสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งจากไทย

มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งจากไทยในปี 2553 มีมูลค่า 5.84 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 54.83 จากการเริ่มฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 26 ของเดนมาร์ก สินค้านำเข้าที่สำคัญจากไทย ได้แก่ กุ้งสด แปรรูป และกึ่งแปรรูป แช่เย็น และแช่แข็ง ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และ สำหรับปลาหมึกสด แปรรูป และกึ่งแปรรูป แช่เย็น และแช่แข็ง ซึ่งเดิมเคยเป็นสินค้าทะเลแช่แข็งอันดับหนึ่งของไทยที่ส่งมาเดนมาร์ก มีการส่งออกมูลค่าและปริมาณลดลง จากเหตุภัยธรรมชาติทำให้ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้มีปริมาณลดลงราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้นและเกิดการขาดแคลนตามตารางตาราง3 สำหรับรายละเอียดการส่งออกและนำเข้าปลา และอาหารทะเลของเดนมาร์ก แยกรายประเภท

ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งจากไทยมายังเดนมาร์ก นอกจากจะนำเข้าโดยตรงจากประเทศไทยแล้วโดยผ่านท่าเรือกรุงโคเปนเฮเกน และท่าเรือเมืองAahus เดนมาร์กแล้ว ยังมีการนำเข้าผ่านต่อมาจากเนเธอร์แลนด์ และสหพันธรัฐเยอรมันด้วย ทั้งนี้ ขึ้นกับปริมาณที่สั่งซื้อและช่วงเวลาที่ต้องการสั่งซื้อ

3. ช่องทางการนำเข้าปลา และอาหารทะลแช่แข็งในประเทศเดนมาร์ก

จากการสอบถามข้อมูลจาก Danish Seafood Association พบว่า ผู้ส่งออกปลา และอาหารทะเลแช่แข็งจากประเทศไทยสามารถติดต่อผู้นำเข้า (Importer) ของเดนมาร์กได้โดยตรง ซึ่งผู้นำเข้าส่วนใหญ่จะทำหน้าที่หลายบทบาท เช่น บางรายทำหน้าที่เป็นผู้ผลิต/แปรรูป (Processor) ยังขั้นตอนต่อไปด้วย เช่น การแล่เนื้อปลา การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและส่งออกไปยังประเทศที่สาม บางรายก็เป็นผู้ค้าส่งผู้กระจายสินค้า และผู้ค้าปลีกด้วยเป็นต้น เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ หรือ ร้านขายของชำเอเชีย และเป็นที่น่าสังเกตว่าในปัจจุบัน บทบาทของนายหน้า (Broker) และพ่อค้าขายปลา (Fishmonger) มีบทบาทน้อยมากในระบบห่วงโซ่อุปทานปลา และอาหารทะเลแช่แข็ง

หลังจากสินค้าได้ถูกนำเข้า/แปรรูปโดยผู้นำเข้าแล้ว ก็จะกระจายสินค้าส่งต่อไปยัง ไปยัง 3 ช่องทางหลักคือ ผู้ค้าขายส่ง(Wholesaler)/ภัตตาคารร้านอาหาร บริษัทการจัดบริการด้านอาหาร(Restuarant / Foodservice/ Catering) / ผู้ค้ารายย่อย (Retailer) หลังจากนั้นผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้จากร้านค้ารายย่อย เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของชาวเอเชีย เป็นต้น

3.1 ผู้ผลิตผู้ประกอบการ ปลา และอาหารทะเลแช่แข็งที่สำคัญ

ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกปลา และอาหารทะเลแช่แข็งที่สำคัญในเดนมาร์ก คือบริษัท Royal Greenland A/S โดยครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด มียอดจำหน่ายประมาณ 908 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2552 และคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3.1 ของตลาดอาหารแช่แข็งทั้งหมด และรองลงมา คือ Rahbekfisk A/S คิดเป็นร้อยละ 0.7 ของตลาดอาหารแช่แข็งทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีบริษัท Gamba Food, Nordfoods Frozen A/S และ Artic

3.2 ผู้นำเข้า หรือผู้ดำเนินการ

3.3 ผู้ค้าปลีก

ในตลาดการค้าปลีกในกลุ่มผู้บริโภคหลัก (Main stream) ในเดนมาร์กนั้น มีบริษัทค้าปลีกที่สำคัญอยู่ 2 กลุ่มซึ่ง 2 กลุ่มนี้ครองส่วนแบ่งค้าปลีกเกือบร้อยละ70 ของยอดขายค้าปลีกทั้งหมด คือ Coop Danmark และ Dansk Supermarked ซึ่งกลุ่ม Coop Danmark มีซูเปอร์มาร์เก็ตในเครือข่ายที่สำคัญ ได้แก่ Kvickly, SuperBrugsen, Dagli'Brugsen, LokalBrugsen, Fakta และ Irma ในขณะที่ กลุ่ม Dansk Supermarked เป็นเจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ต F?tex, Bilka, Netto และ Salling (รายละเอียดสามารถดูได้จากเอกสารแนบท้ายในตาราง8) นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มห้าง METRO INCO ALDI นอกจากนี้ยังมีร้านชุมชนเอเชีย( Asia Grocery) เช่น ไทย จีน อินเดีย กระจายอยู่ทั่วไป และร้านค้าปลีกขายปลาแบบดั้งเดิมซึ่งมีปริมาณไม่มากนัก

3.4 บริษัทบริการ จัดเตรียมอาหาร

ในเดนมาร์กมีบริษัทบริการจัดอาหาร (Foodservice and Catering) ที่สำคัญได้แก่ Foodservice Denmark, Dansk Cater และ BC Catering เป็นผู้นำในภาคธุรกิจนี้ ซึ่งให้บริการการจัดอาหารทั้งอาหารแห้ง สด และอาหารแช่แข็ง ในปี 2553 อาหารทะเลแช่เย็นเติบโตขึ้นร้อยละ 1 ในภาคธุรกิจการบริการจัดการด้านอาหาร เมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อสัตว์อื่นที่มีอัตราการถดถอยลดลงร้อยละ 0.5 บริษัท Findus Danmark A/S เป็นอีกผู้นำหนึ่งในส่วนแบ่งตลาดในผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งในช่องทางจำหน่ายภาคการบริการจัดอาหารนี้ โดยเน้นเฉพาะการใช้ปลา และอาหารทะเลแบบยั่งยืน (Findus Fish Policy from sustainable stocks)

4. แนวโน้มผลิตภัณฑ์ปลา และอาหารทะเลแช่แข็งในเดนมาร์ก

แม้ว่าในช่วงปี 2551 และ 2552 ได้เกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแต่ปริมาณการบริโภคปลา และอาหารทะเลแช่แข็งไม่ได้ลดลงมากนัก เนื่องจากผู้บริโภคหันมานิยมการปรุงอาหารแบบง่ายๆและรับประทานเองที่บ้านแทนการรับประทานอาหารนอกบ้านเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ดังนั้น สินค้าประเภทพร้อมปรุงหรือพร้อมรับประทาน (Ready to cook or ready meal) ได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี เนื่องจากทำให้ผู้บริโภคสามารถประหยัดเวลาในการปรุงอาหาร ชาวเดนมาร์กนิยมซื้อปลาหรืออาหารทะเลแช่แข็งแบบพร้อมปรุงสำเร็จรูป ไปปรุงหรือรับประทานร่วมกับผักสด หรืออาหารสดชนิดอื่น เพื่อเพิ่มคุณค่าโภชนาการในอาหาร ผลิตภัณฑ์ปลาและอาหารสดแช่แข็งที่ได้รับความนิยมในเดนมาร์กที่สำคัญ ได้แก่ปลาชุบเกล็ดขนมปังทอด (Breaded fish fillets) เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 40 ของมูลค่ายอดจำหน่ายปลีกสินค้าประเภทปลาและอาหารทะเลแช่แข็งในปี 2553 ดังแสดงในตาราง9 ในเอกสารแนบท้าย สินค้าที่ได้รับความนิยมอื่นๆ อาทิเช่น ปลาก้อนกลมทอด (Fish cakes) (รูป3) ปลาแท่งทอด (Fish fingers) (รูป4) กุ้งตัวใหญ่ทอดกับเนย (Scampi) และปลาคลุกเกล็ดขนมปังชนิดอื่นๆ

5. กฎข้อบังคับและพิกัดอัตราภาษีศุลกากรที่สำคัญ

เดนมาร์กเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป กฎข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับอาหารทะเลจึงเป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน EU Common Fisheries Policy (CFP) ดังนั้น สินค้าประมงจากประเทศไทยที่ส่งมาจำหน่ายในเดนมาร์กหรือประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบทางการค้าของสหภาพยุโรปและรัฐบาลเดนมาร์ก หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยของอาหารของอียูคือ The European Commission’s Directorate General for Health and Consumers (SANCO) ดังนี้

  • ผู้ผลิตและส่งออกปลา และอาหารทะเลแช่แข็งต้องมีใบรับรองการจับสัตว์น้ำจากกรมประมง โดยแนบเอกสารการจับสัตว์น้ำ (Catch Certificate) เพื่อให้มั่นใจว่าการจับสัตว์น้ำตลอดห่วงโซ่การผลิตเป็นไปตามมาตรฐาน IUU ของอียู
  • สินค้าประเภทปลาสด ไข่ และ เซลส์สืบพันธุ์เพื่อการปรับปรุงพันธุ์จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสุขภาพสัตว์ (Animal Health) ของเดนมาร์กที่เกี่ยวข้อง
  • ผู้ผลิตและส่งออกปลา และอาหารทะเลแช่แข็งต้องมีเอกสารรับรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่ามาตรฐานสุขภาพอนามัย และสาธารณสุขถูกต้องตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ของอียู
  • ในกรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือใช้สารเคมีใดๆในการเพาะเลี้ยง ผลิตภัณฑ์ต้องผ่านการตรวจสอบว่าการปฏิบัติเป็นไปตามมาตรฐานของอียู

รายละเอียดเพิ่มเติม สามารถดูรายละเอียดได้จาก Ministry of Food, Agriculture and Fisheries , Danish Vetertnary and Food Administration , The Danish Directotrate of Fisheries และ Danish Food Industry Agency

  • สินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายจะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ25

นอกจากนี้ ยังมีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องที่สำคัญที่ควรคำนึงถึง ได้แก่

5.1 กฏหมายต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฏหมาย (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU)

กฏหมายต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฏหมายกำหนดขึ้นเพื่อป้องกันการค้าและการตลาดสินค้าประมงที่ผิดกฎหมายให้เกิดขึ้นยากที่สุด และเพื่อสร้างความมั่นใจว่าสินค้าประมงทุกประเภทสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้แบบ from net to plate และต่อมาสหภาพยุโรปได้ออกกฎระเบียบรวมภายใต้ EU’s Fisheries Control Policy เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 กำหนดระบบควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมายและการตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่ตลาดตั้งแต่เมื่อจับปลาได้จนเมื่อปลานั้นถึงผู้บริโภค ซึ่งกำหนดให้เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป จะสามารถจับผิดได้ในทุกจุดของห่วงโซ่ตลาด และตรวจสอบย้อนกลับไปถึงต้นกำเนิดของการทำผิดดังกล่าวได้ ซึ่งการตรวจสอบนี้จะเป็นแนวทางเดียวกันทั่วยุโรป

5.2 ข้อกำหนดของฉลากอาหาร และการบรรจุภัณฑ์

กฎหมายของ EU กำหนดให้อาหารทุกชนิด รวมทั้งอาหารทะเล ต้องระบุชื่ออาหาร รายการส่วนผสม (เรียงตามขนาดน้ำหนักจากมากไปหาน้อย) ขนาดน้ำหนักก่อนบรรจุใส่ภาชนะอาหาร วันหมดอายุ วิธีการจัดเก็บอาหาร หรือวิธีการนำไปบริโภค และชื่อผู้ผลิตอาหาร ผู้บรรจุหีบห่อ หรือผู้ขายใน EU

อาหารประเภทปลา และการประมงที่ผลิตหรือบรรจุในประเทศที่สามที่มิได้อยู่ในสหภาพยุโรป ห้ามระบุด้วย “EC”,หรือ“EC approval number ”หรือ อักษรย่อของกลุ่มประเทศอียู เช่น “DK” ,“NL”เป็นต้น

อาหารประเภทปลา และการประมงจะต้องระบุประเทศแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างชัดเจน (Country of Origin) การบรรจุภัณฑ์ด้วยแผ่นพลาสติกแบบหดตัวของอาหารประเภทปลา และการประมง จำเป็นต้องมีฉลากอาหารระบุด้วย หากไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับฉลากอาหารของอียูแล้ว สินค้าอาจถูกปฏิเสธการนำเข้าในอียูได้ สนใจข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก Danish Ministry of Agriculture and Fisheries สำหรับข้อกำหนดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และการรีไซเคิลนั้น ไม่มีข้อกำหนดพิเศษใดๆ เกี่ยวกับฉลากอาหารในประเทศเดนมาร์ก

5.3 การทำประมงอินทรีย์ (Organic Farming)

เนื่องจากปัจจุบันกระแสความนิยมการบริโภคอาหารอินทรีย์ (Organic Food)รวมทั้งประมงอินทรีย์ได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ EU Commission ได้ปรับเปลี่ยนกฎข้อบังคับใหม่ขึ้นในปี 2548 สำหรับการทำประมงอินทรีย์ให้เข้ากับรูปแบบการบริโภคอาหารของผู้บริโภค ทั้งนี้ สินค้าประมงอินทรีย์ผู้ผลิตสามารถเลือกใช้สัญลักษณ์หรือตรารับรองเกษตรอินทรีย์ของอียู (EU Organic Logo) หรือสัญลักษณ์เกษตรอินทรีย์ของเดนมาร์กก็ได้ อย่างไรก็ตาม การออกใบรับรองและกฎข้อบังคับของ Organic Certification ของเดนมาร์กมีรายละเอียดมากกว่าข้อกำหนดของทางอียู ทั้งนี้ หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถเข้าไปหาข้อมูลได้ที่ Danish Veterinary and Food Administration EU Organic Logo Denmark Organic Logo

5.4 การประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable Fishing )

ในปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มหันมาให้ความสำคัญเกี่ยวกับการทำประมงอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้น ซึ่งในเดนมาร์กได้เริ่มมีการให้หนังสือรับรอง และตราสัญลักษณ์ Marine Stewardship Council (รูป5) สำหรับสินค้าประมง ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มความเชื่อมั่นกับลูกค้าได้ ซึ่งตราสัญลักษณ์นี้แสดงถึงวิธีการจับปลา และสัตว์ทะเลด้วยวิธีการยั่งยืน (Sustainable Fishing Methods) ในเดือนพฤษภาคม 2552 บริษัท Rahbekfisk A/S เป็นบริษัทเดนมาร์กบริษัทแรกที่จัดซื้อปลา Plaice ที่มาจากการทำประมงยั่งยืน (Sustainability) จาก Hirtshals Fishing Auction (รูป6) และ Rahbekfisk A/S นับว่าเป็นบริษัทแรกที่เริ่มดำเนินการจัดหาตราสัญลักษณ์ Marine Stewardship Council สำหรับอาหารจำพวกปลาในช่องทางการขายปลีกในตลาดเดนมาร์กด้วย

6 สรุปและข้อคิดเห็น

6.1 ประเทศเดนมาร์กจัดเป็นประเทศพัฒนาและมีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม แม้จะเป็นตลาดขนาดเล็กที่มีประชากรประมาณ 4.5 ล้านคน แต่ประชากรมีรายได้สูง นิยมสินค้าที่มีคุณภาพ มีความสะดวกสบาย เป็นสังคมประชากรสูงวัย ห่วงใยสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะเกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงปี 2551-2552 แต่เศรษฐกิจก็เริ่มมีการฟื้นตัวในปี 2553 และต่อเนื่องถึงปี 2554 จากการคาดคะเนของ Euromonitor International พบว่าแนวโน้มตลาดปลา และอาหารทะเลแช่แข็งยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2558 เนื่องจากกระแสความนิยมการบริโภคปลา และอาหารทะเลที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 61.21 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2552 เป็น 64.62 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2558 (ตาราง10 ในเอกสารแนบท้าย) เนื่องจากกระแสการนิยมอาหารสุขภาพ เช่นปลา และอาหารทะเลแทนเนื้อสัตว์อื่น แม้ว่า ประชาชนชาวเดนมาร์กนิยมบริโภคอาหารสดมากกว่าอาหารแช่แข็ง แต่สินค้าที่มีความสะดวกสบาย ประเภท พร้อมรับประทาน หรือพร้อมปรุง ก็เริ่มได้รับความนิยมมมากขึ้น

6.2 ผู้ส่งออกไทยที่สนใจจะขยายตลาดสินค้าในเดนมาร์กจำเป็นต้องปรับและพัฒนาสินค้าให้เข้ากับรสนิยมของผู้บริโภค โดยการทำการวิจัยพัฒนาสินค้า ปรับปรุงให้มีคุณภาพ รสชาติ รูปลักษณ์ได้ใกล้ เคียงกับอาหารทะเลสดมาก สามารถนำไปใช้กับเมนูอาหารของชาติต่างๆได้หลายอย่าง เช่น เทมปุระ หน้าซูชิในภัตตาคารญี่ปุ่น เกี๊ยวกุ้ง บะหมี่กุ้ง ข้าวแกง ในอาหารไทย/ จีน หรือปลาชุบแป้งทอด ใช้เป็นส่วนประกอบของไส้แซนวิช ในร้านอาหารแบบตะวันตก ซึ่งง่ายต่อการนำไปปรุงรับประทาน เพียงนำไปอุ่น หรืออบไมโครเวฟ ก็นำไปรับประทานได้ทันทีซึ่งสะดวกสะบายเข้ากับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้น

6.3 ผู้ส่งออกไทยควรหาโอกาสเดินทางมาสร้างความสัมพันธ์ ศึกษาและทดลองตลาดร่วมกับผู้นำเข้า และนำจุดเด่นของสินค้าหรือบริษัท ในด้านการค้าโดยชอบธรรม (Fairtrade) คุณภาพสินค้า (Quality), ความปลอดภัย (Food safety) ความยั่งยืน (Sustainability) ความสะดวกสบายในการบริโภค (Convenient trend) และสินค้าประมงอินทรีย์ (Organic) มาเป็นจุดแข็งเพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งอื่นๆได้

6.4 ราคาสินค้าเป็นเพียงปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งในการแข่งขันเท่านั้น การรักษาคุณภาพ มาตรฐานสินค้า การรักษาสัญญา การส่งมอบ การสร้างตราสินค้าของตนเอง (Private Label) เพื่อให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น จะทำให้ผู้ส่งออกไทยสามารถรักษาลูกค้าไว้ได้อย่างยาวนาน ซึ่งลูกค้าเดนมาร์กส่วนใหญ่จะไม่นิยมเปลี่ยนผู้ส่งออกบ่อยๆ นิยมทำการค้าแบบพันธมิตรอย่างยั่งยืน

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน

แหล่งข้อมูล

กระทรวงพาณิชย์

Danish Institute for Informative Labelling

Danish Fishermen's Association http://www.fiskeriforening.dk/Euromonitor International

European Commission Fisheries

Findus A/S

Frozen Food Europe

Marine Stewardship Council

Ministry of Food, Agriculture & Fisheries

Parker M. ICON Group (2005) INSEAD

Seafish

World Trade Atlas

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก สหรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ