เขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองเซี่ยเหมิน ครบรอบ 30 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 2, 2012 14:11 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ปี ค.ศ. 2011 เมืองเซี่ยเหมินได้รับชื่อว่าเป็นเมืองแห่งอารยธรรมแห่งชาติติดต่อกันถึง 3 ปี ซึ่งเป็นของขวัญวันเกิดอันดีที่สามารถเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปีของเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองเซี่ยเหมิน รัฐบาลเมืองเซี่ยเหมินจึงได้จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปีอย่างมโหฬารให้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองเซี่ยเหมินในวันที่ 26 ธันวาคม ปี ค.ศ. 2011 ณ ศูนย์การแสดงและประชุมนานาชาติเมืองเซี่ยเหมิน

ใน 30 ปีที่ผ่านมานี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองเซี่ยเหมินได้พัฒนาอย่างรวดเร็วและมั่นคง เดินอยู่ในแนวหน้าของประเทศจีน

ความเป็นมาของเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองเซี่ยเหมิน

ปี ค.ศ. 1978 รัฐบาลจีนเริ่มปฏิบัตินโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ โดยเน้นหนักทางด้านพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ในช่วงเวลานั้นประเทศจีนยังมีเงินทุนไม่มากนัก จึงเกิดความคิดที่จะจูงใจชาวจีนโพ้นทะเลให้กลับมาลงทุนที่ประเทศจีน ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.1980 รัฐบาลกลางได้อนุมัติการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ เมืองเซินเจิ้น เมืองจูไห่ เมืองซัวถัวและเมืองเซี่ยเหมินตามลำดับ

การที่เลือกสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษในเมืองเซี่ยเหมิน เนื่องจากมีชาวจีนโพ้นทะเลเชื้อสายฝูเจี้ยนจำนวนมาก และยังเป็นเมืองที่ใกล้กับไต้หวันมากที่สุด จึงสามารถใช้เป็นสถานที่ที่พัฒนาความสัมพันธ์กับไต้หวันได้อีก

รัฐบาลเมืองเซี่ยเหมินได้มีการกำหนดพื้นที่ส่วนหนึ่งของเขตหูหลี่จำนวน 2.5 ตารางกิโลเมตรเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองเซี่ยเหมินและเริ่มก่อสร้างในวันที่ 15 ตุลาคม ปี ค.ศ.1981 และได้กำหนดระเบียบการปฏิบัติตามข้อบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษมณฑลกวางตุ้ง

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.1984 หลังจากที่เติ้งเสี่ยวผิงได้สำรวจเมืองเซี่ยเหมิน และพิจารณาอนุมัติให้เขตเศรษฐกิจพิเศษฯ ขยายจนถึงทั่วเกาะ กล่าวคือเขตหูหลี่และเขตซือหมิง รวมกันเป็น 13.1 ตารางกิโลเมตร และได้มีกำหนดนโยบายบางประการของเขตท่าเรือปลอดภาษี ปี ค.ศ.1989 รัฐบาลกลางได้อนุมัติสร้างเขตไห่ชาง เขตซิ่งหลิน และเขตจี๋เหม่ยให้เป็นเขตการลงทุนของนักลงทุนไต้หวัน ซึ่งสามารถดำเนินนโยบายของเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ

ปี ค.ศ. 1992 รัฐบาลกลางก็ได้อนุมัติการสร้างเขตปลอดภาษีเซี่ยงหยู่และเขตปลอดภาษีไห่ชาง

ปี ค.ศ. 1994 คณะกรรมการผู้แทนประชาชนได้อนุมัติให้บัญญัติสิทธิพิเศษที่ใช้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ

ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2010 รัฐบาลกลางได้อนุมัติขยายเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ จนถึงทั่วเมือง รวมเป็น 1,569 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์แสดงให้เห็นว่า ทั้งเมืองเซี่ยเหมินได้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว และจะสามารถใช้สิทธิพิเศษอันเดียวกันได้ต่อไป

(หมายเหตุ เมืองเซี่ยเหมินได้ปกครองทั้งหมด 6 เขต ดังนี้ เขตซือหมิง เขตหูหลี่ เขตจี๋เหม่ย เขตไห่ชาง เขตเสียงอัน และเขตถงอัน โดยเขตซือหมิงและเขตหูหลี่อยู่ในเกาะเซี่ยเหมิน หรือเรียกกันว่าบนเกาะ เขตที่เหลืออยู่นอกเกาะเซี่ยเหมิน หรือเรียกกันว่านอกเกาะ)

การคมนาคม

อากาศยาน

ปี ค.ศ.1981 เมืองเซี่ยเหมินได้สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมาเพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในเมืองเซี่ยเหมิน ในสมัยนั้น ประเด็นสำคัณอยู่ที่การพิจารณาว่าจะก่อสร้างสนามบินบนเกาะเซี่ยเหมินหรือไม่ เมืองเซี่ยเหมินตั้งอยู่ใกล้กับไต้หวัน เป็นฐานที่มั่นสำคัญทางการทหาร เมืองเซี่ยเหมินยังตั้งอยู่ในรัศมีการยิงปืนใหญ่ของจินเหมิน(ไต้หวัน) หากเกิดเหตุปะทะกันจะส่งผลให้เกิดความเสียหาย จึงไม่เหมาะในการสร้างสนามบิน แต่ในเวลานั้น ทั้งมณฑลฝูเจี้ยนมีสนามบินเพียงแห่งเดียวตั้งอยู่ที่เมืองฝูโจว ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่จะมาลงทุนที่เมืองเซี่ยเหมินต้องต่อรถที่เมืองฝูโจวอีกประมาณ 7 ถึง 8 ชั่วโมงถึงจะสามารถมาถึงเมืองเซี่ยเหมิน การเดินทางเป็นเรื่องยากลำบาก ในที่สุดรัฐบาลกลางได้อนุมัติสร้างสนามบินนานาชาติเกาฉี เป็นสนามบินแห่งแรกของประเทศจีนที่ได้สร้างโดยเงินกู้ต่างประเทศ สนามบินนานาชาติเกาฉีของเมืองเซี่ยเหมินเปิดใช้บริการครั้งแรกในวันที่ 22 ตุลาคม ปี ค.ศ. 1983

สนามบินนานาชาติเกาฉีนอกเหนือจากการใช้ขนถ่ายผู้โดยสาร ยังสามารถใช้ขนถ่ายสินค้าได้อีกด้วย จนกระทั่งปลายปี ค.ศ. 2010 นอกจากเส้นทางภายในประเทศจีนแล้วสนามบินนานาชาติเกาฉียังได้เปิดเส้นทางเชื่อมต่อไปยัง ฮ่องกง มาเก๊า ไถเป่ย เกาโสง และอีกหลายเมืองในต่างประเทศ รวม 35 เส้นทาง ปี ค.ศ. 2010 สนามบินนานาชาติเกาฉีขนถ่ายผู้โดยสารทั้งหมด 13,2066 ล้านคน เทียบกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 และขนถ่ายสินค้าทั้งหมด 245,200 ตัน เทียบกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.1 ปัจจุบันนี้ เมือง

เซี่ยเหมินยังได้เปิดเส้นทางตรง เซี่ยเหมิน-ไถเป่ย ทำให้สามารถเดินทางไปไต้หวันโดยไม่ต้องไปเปลี่ยนเครื่องที่ฮ่องกงหรือมาเก๊าอีกต่อไป จึงถือได้ว่าเซี่ยเหมินเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันโดยตรง

เนื่องจากการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เมืองเซี่ยเหมินต้องการสร้างสนามบินใหม่เพื่อมารองรับผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลเมืองเซี่ยเหมินมีแผนจัดสร้างสนามบินนานาชาติเสียงอัน ที่เขตเสียงอัน เมืองเซี่ยเหมิน โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี ค.ศ. 2013 แล้วเสร็จในปลายปี ค.ศ. 2018 และเปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2019 ท่าเรือ

ในช่วง 30 ปีก่อน บริษัทขนส่งทางเรือของเมืองเซี่ยเหมินมีจำนวนไม่มาก และเรือขนส่งสินค้าของบริษัทเหล่านั้นบรรจุสินค้าได้ต่ำกว่า 1,000 ตัน ภายหลังการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 30 ปี (นับถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2011) เมืองเซี่ยเหมินได้จัดตั้งบริษัทขนส่งทางเรือและบริษัทให้บริการที่เกี่ยวข้องทางด้านโลจิสติกส์ทั้งหมด 522 บริษัท มีเรือขนส่งภายในประเทศจำนวน 408 ลำ และเรือขนส่งระหว่างประเทศจำนวน 18 ลำ ท่าเรือเซี่ยเหมินได้เปิดเส้นทางขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทั้งภายในและต่างประเทศทั้งหมด 188 เส้นทาง คิดเป็น 992 เที่ยวเรือต่อเดือน ส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองเซี่ยเหมินเป็นไปอย่างมั่นคง ปัจจุบันนี้ ท่าเรือเซี่ยเหมินจัดอยู่ในอันดับที่ 7 ของท่าเรือในประเทศจีนที่มีกำลังการขนส่งมากที่สุด

นอกจากการขนส่งสินค้า ท่าเรือเซี่ยเหมินยังเป็นท่าเรือสำคัญในการขนส่งผู้โดยสารระหว่างเซี่ยเหมินและจินเหมิน(ไต้หวัน) รวมไปถึงได้เปิดเส้นทางการท่องเที่ยวจินเหมิน ในปี ค.ศ. 2010 เส้นทางเซี่ยเหมิน-จินเหมินได้ขนถ่ายผู้โดยสาร 1.35 ล้านคน ทำรายได้ให้กับเมืองเซี่ยเหมินประมาณ 70 ล้านหยวน

ทางบก

เซี่ยเหมินมีเส้นทางคมนาคมสำคัญได้แก่ 4 สะพานและ 1 อุโมงค์เส้นทางดังกล่าวอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนเมืองเซี่ยเหมินและการคมนาคมที่สะดวกและครบครันนี้เองที่เป็นปัจจัยหลักในการส่งเสริมการพัฒนาของเศรษฐกิจเมืองเซี่ยเหมินอย่างต่อเนื่อง เดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 1991 สะพานข้ามทะเลแห่งแรกของประเทศจีน ที่ตั้งชื่อสะพานเซี่ยเหมินได้เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ซึ่งเชื่อมระหว่างเกาะเซี่ยเหมินกับเกาะนอกและเมืองรอบข้าง

เดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 1999 สะพานไห่ชางเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ

เดือนกรกฏาคม ปี ค.ศ. 2008 สะพานจี๋เหม่ยเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ

เดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2008 สะพานซิ่งหลินเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ

เดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2010 อุโมงค์เสียงอันที่เป็นอุโมงค์ใต้ทะเลแห่งแรกของประเทศจีนเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ซึ่งอุโมงค์ดังกล่าวเป็นอุโมงค์ใต้ทะเลที่เมืองเซี่ยเหมินออกแบบและสร้างด้วยตนเอง

ผลิตภัณฑ์มวลรวม GDP

ก่อนหน้าที่ประเทศจีนได้ดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ เศรษฐกิจจีนได้พัฒนาไปอย่างล่าช้า โดยภาคเกษตรกรรมเป็นองค์ประกอบสำคัญ ในปี ค.ศ.1981 ซึ่งเป็นปีแรกที่เมืองเซี่ยเหมินเริ่มสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น อุตสาหกรรมขั้นปฐมภูมิคิดเป็นร้อยละ 31 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมด ส่วนอุตสาหกรรมขั้นตติยภูมิได้ครองสัดส่วนแค่ร้อยละ 25

หลังจากเมืองเซี่ยเหมินได้สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมา โดยเฉพาะหลังจากปี ค.ศ.1990 เป็นต้นมา เศรษฐกิจได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมได้เติบโตด้วยอัตรานับเป็นร้อยละ 10

นอกจากการเติบโตของตัวเลขแล้ว โครงสร้างของเศรษฐกิจเมืองเซี่ยเหมินได้ปรับปรุงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นับถึงปี ค.ศ.2000 อุตสาหกรรมขั้นทุติยภูมิและขั้นตติยภูมิคิดเป็นร้อยละ 53 และ 43 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมืองเซี่ยเหมินไม่ได้เป็นเมืองที่อาศัยการเกษตรกรรมอีกต่อไป

ปี ค.ศ. 2000 ประเทศจีนได้เข้าสู่องค์การการค้าโลก หรือ WTO ซึ่งถือว่าเป็นทั้งโอกาสและการท้าทายของประเทศจีน และเมืองเซี่ยเหมินด้วย ตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา เศรษฐกิจเมืองเซี่ยเหมินได้พัฒนาอย่างมั่นคง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขั้นตติยภูมิ ถึงแม้ว่าปี ค.ศ. 2009 เศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบของวิกฤตการเงินโลก แต่อุตสาหกรรมขั้นตติยภูมิของเมืองเซี่ยเหมินยังคงรักษาแนวโน้มการเติบโตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10

อุตสาหกรรม

ในปี ค.ศ. 2000 การผลิตของอุตสาหกรรมคิดเป็นมูลค่า 77,582 ล้านหยวน เทียบกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.2 โดยบริษัทที่มีมูลค่าการผลิตมากกว่า 100 ล้านหยวนมีจำนวน 109 บริษัท รวมเป็นมูลค่าการผลิต 51,010 ล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 65.75 ของมูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมทั้งหมด

ในปี ค.ศ. 2005 การผลิตของอุตสาหกรรมคิดเป็นมูลค่า 209,682 ล้านหยวน เทียบกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.9 โดยบริษัทที่มีมูลค่าการผลิตมากกว่า 100 ล้านหยวนมีจำนวน 244 บริษัท รวมเป็นมูลค่าการผลิต 167,879 ล้านหยวน ครองร้อยละ 80.06 ของมูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมทั้งหมด อุตสาหกรรมที่สำคัญของเมืองเซี่ยเหมินได้แก่ เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์ คิดเป็นมูลค่าการผลิต 153,494 ล้านหยวน ครองร้อยละ 73.20 ของมูลค่าการผลิตทั้งหมด นอกจากนี้ เมืองเซี่ยเหมินยังได้สร้างฐานผลิตอุปกรณ์ไฮเทคระดับชาติ เช่น อุปกรณ์การสื่อสาร วัตถุดิบทังสเตน อุปกรณ์กึ่งตัวนำแสง เป็นต้น

ในปี ค.ศ. 2010 การผลิตของอุตสาหกรรมคิดเป็นมูลค่า 378,104 เทียบกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.1 โดยบริษัทที่มีมูลค่าการผลิตมากกว่า 100 ล้านหยวนมีจำนวน 434 บริษัท รวมเป็นมูลค่าการผลิต 314,218 ล้านหยวน ครองสัดส่วนร้อยละ 85.6 ของมูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมทั้งหมด เมืองเซี่ยเหมินได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมสำคัญของตนเองอย่างรวดเร็ว เช่น อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สื่อสาร และอุตสาหกรรมทีวีจอแบนล้วนมีมูลค่าการผลิตมากกว่า 50,000 ล้านหยวน/ปี อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมผลิตสินค้าอาหารและแปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเครื่องจักรวิศวกรรม และอุตสาหกรรมผลิตสินค้านำแสงและพลังงานแสงอาทิตย์ มีมูลค่าการผลิตมากกว่า 10,000 ล้านหยวน/ปี

ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาล อุตสาหกรรมเบาของเมืองเซี่ยเหมินได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว และอุตสาหกรรมสำคัญของเมืองเซี่ยเหมินได้แก่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและเคมีภัณฑ์

อิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่อันดับ 1 ของเมืองเซี่ยเหมิน ได้ครองสัดส่วนของมูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมมากกว่าร้อยละ 50 ผลิตภัณฑ์สำคัญของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดังนี้ คอมพิวเตอร์ มือถือ เครื่องรับ-ส่งภาพ/เสียง และอุปกรณ์ต่างๆ

เครื่องจักร

อุตสาหกรรมเครื่องจักรเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเมืองเซี่ยเหมิน ปัจจุบันนี้ อุตสาหกรรมเครื่องจักรของเมืองเซี่ยเหมินได้เชื่อมโยงเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรวิศวกรรม การรักษาเครื่องบิน ผลิตภัณฑ์ทังสเตน รถขนส่งผู้โดยสาร เรือ และอุปกรณ์แผงควบคุมไฟฟ้า เป็นต้น

อุตสาหกรรมใหม่

นอกจากอุตสาหกรรมที่สำคัญแล้ว รัฐบาลเมืองเซี่ยเหมินกำลังส่งเสริมการพัฒนาของอุตสาหกรรมใหม่ เช่น Atonics Electronics, Software, ผลิตภัณฑ์ชีววิทยาและผลิตภัณฑ์การแพทย์เป็นต้น

การลงทุนด้วยทุนต่างชาติ

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1982 บริษัทผลิตอิฐที่ลงทุนโดยชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีนได้รับการอนุมัติก่อสร้าง ซึ่งเป็นบริษัทแรกที่ลงทุนด้วยทุนต่างชาติในเขตเศรษฐกิจฯ หลังจากนั้นไม่นาน นักลงทุนต่างชาติต่างพากันมาลงทุนที่เขตเศรษฐกิจพิเศษฯ

นับจากปี ค.ศ. 1981 ถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ.2011 โครงการต่างประเทศที่ลงทุนในเมืองเซี่ยเหมินมีจำนวน 9,337 โครงการ เงินทุนตามสัญญาคิดเป็นมูลค่า 35,790 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เงินทุนที่ใช้จริงคิดเป็น 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 50 บริษัทของบริษัท Top 500 ของโลกได้มาลงทุนที่เมืองเซี่ยเหมิน 92 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 2,150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทุนต่างชาติที่มาลงทุนในเมืองเซี่ยเหมินมีจำนวนเพิ่มมากยิ่งขึ้น ส่วนใหญ่มาจากฮ่องกงและไต้หวัน

จนกระทั่งปลายเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2011 โครงการที่ฮ่องกงลงทุนในเมืองเซี่ยเหมินคิดเป็นจำนวน 3,387 โครงการ คิดเป็นเงินทุนตามสัญญา 17,650 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ครองสัดส่วนร้อยละ 49.3 ของเงินทุนตามสัญญาทั้งหมด เงินทุนที่ใช้จริงประมาณ 11,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ครองสัดส่วนร้อยละ 47.5 ของเงินทุนที่ใช้จริงวทั้งหมด เงินทุนฮ่องกงส่วนใหญ่ลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมการผลิต เช่นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอเสื้อผ้า เส้นใยเคมี(Chemical Fiber) เครื่องมือและอุปกรณ์ใช้งานเฉพาะทาง เครื่องจักรไฟฟ้า เป็นต้น ช่วงหลายปีนี้ ฮ่องกงสนใจลงทุนธุรกิจบริการมากยิ่งขึ้น เช่นการบริการซอฟต์แวร์ การค้าส่ง-ค้าปลีกและการค้าบริการ

นับถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2011 โครงการที่ไต้หวันลงทุนในเมืองเซี่ยเหมิน(รวมถึงการลงทุนผ่านประเทศที่ 3) คิดเป็นจำนวน 3,846 โครงการ คิดเป็นเงินทุนตามสัญญา 10,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เงินทุนที่ใช้จริงคิดเป็น 7,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากปัญหาการขัดแย้งด้านการเมืองในช่วงก่อนหน้านั้น ชาวไต้หวันที่เข้ามาลงทุนที่เมืองเซี่ยเหมินจะต้องผ่านประเทศ/ภูมิภาคที่ 3 เช่น หมู่เกาะเวอร์จิน(Virgin Islands) ฮ่องกง ซามัว เกาะเคย์แมน หมู่เกาะคุก เป็นต้น โครงการที่ชาวไต้หวันลงทุนในเมืองเซี่ยเหมินโดยผ่านประเทศ/ภูมิภาคที่ 3 คิดเป็นจำนวน 597 โครงการ ด้วยเงินทุนตามสัญญา 5,410 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เงินทุนที่ใช้จริงคิดเป็น 4,470 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะปี ค.ศ. 2011 ที่จีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันเริ่มปฏิบัติตาม ECFA(Economic Cooperation Framework Agreement) รัฐบาลกลางได้สนับสนุนไต้หวันมาลงทุนที่แผ่นดินใหญ่โดยตรงและการค้าขายโดยตรง จึงได้ส่งผลให้ไต้หวันมาลงทุนที่เมืองเซี่ยเหมินมากยิ่งขึ้น

การเงิน

เนื่องมาจากชาวต่างประเทศมาลงทุนที่เมืองเซี่ยเหมินเพิ่มมากขึ้นดังนั้นธนาคารต่างชาติจึงเริ่มเข้ามาเปิดสาขาที่เขตเศรษฐกิจพิเศษฯ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.1985 ธนาคารร่วมทุนรายแรกของประเทศจีนได้ก่อตั้งขึ้นและใช้ชื่อเป็นธนาคารนานาชาติเซี่ยเหมิน(Xiamen International Bank) ต่อมา Standard Chartered Bank, The Hong Kong and Shanghai Banking Co., Ltd., Citibank, N.A., ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารอื่นๆ ต่างทยอยเข้ามาเปิดสาขาที่เมืองเซี่ยเหมิน

เดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2010 รัฐบาลกลางได้อนุมัติให้เมืองเซี่ยเหมินก่อตั้งศูนย์การบริการการเงินจีน-ไต้หวัน และนำร่องนโยบายปฏิรูปในธุรกิจการเงิน ปัจจุบันนี้ บริษัทไต้หวันมีการลงทุนที่เมืองเซี่ยเหมินและเมืองอื่นๆเพิ่มมากขึ้นจึงมีความต้องการหมุนเวียนเงินทุนระหว่างแผ่นดินใหญ่และไต้หวันโดยตรง การสร้างศูนย์การบริการการเงินจีน-ไต้หวันจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาของอุตสาหกรรมการผลิตและธุรกิจการเงิน นอกจากนี้ ยังสามารถกระชับความสัมพันธ์ระหว่างแผ่นดินใหญ่โดยเฉพาะเมืองเซี่ยเหมินกับไต้หวันอีกด้วย

การนำเข้าส่งออก

ตั้งแต่การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองเซี่ยเหมินเป็นต้นมา รัฐบาลเมืองเซี่ยเหมินได้กำหนดทิศทางการพัฒนาของเมืองคือเน้นการผลิตเพื่อส่งออก ดังนั้นนอกจากนโยบายส่งเสริมการลงทุน รัฐบาลเมืองเซี่ยเหมินยังมีนโยบายสนับสนุนการส่งออกอีกด้วย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา เศรษฐกิจของเมืองเซี่ยเหมินเติบโตอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้กับการนำเข้าส่งออกเติบโตอย่างรวดเร็ว

สินค้าหลักที่เมืองเซี่ยเหมินส่งออกได้แก่ เครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ รองเท้า กระเป๋า ร่ม เคมีภัณฑ์ หินและผลิตภัณฑ์จากหิน พลาสติกและยาง เป็นต้น สินค้านำเข้าหลักได้แก่ เครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ พลาสติก ยางพารา แร่ รถยนต์ เหล็ก ไม้ กระดาษ เป็นต้น

ประเทศคู่ค้าสำคัญในการส่งออกได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ฮ่องกง ประเทศอาเซียน อเมริกาใต้และไต้หวัน และประเทศคู่ค้าสำคัญในการนำเข้าได้แก่ ไต้หวัน ประเทศอาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ สหภาพยุโรปและอเมริกาใต้

การค้าภายใน

เศรษฐกิจของเมืองเซี่ยเหมินพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้รายได้ของประชากรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้การค้าภายในของเมืองเซี่ยเหมินพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากปี ค.ศ. 2008 ที่เกิดวิกฤตการเงินโลก รัฐบาลกลางเริ่มปรับนโยบายจากเน้นการส่งออกเป็นส่งเสริมการค้าภายในแทน

ปี ค.ศ. 2000 ยอดการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของเมืองเซี่ยเหมินคิดเป็น 16,964 ล้านหยวน เทียบกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 โดยยอดการค้าส่ง-ปลีกคิดเป็นมูลค่า 11,743 ล้านหยวน เนื่องจากประชากรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของประชากรจึงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่าถึง 9,047 หยวน

ปี ค.ศ. 2005 ยอดการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของเมืองเซี่ยเหมินมีมูลค่า 27,190 ล้านหยวน เทียบกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 โดยยอดค้าส่ง-ปลีกคิดเป็นมูลค่า 22,829 ล้านหยวน เทียบกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของประชากรมีมูลค่า 11,849 หยวน เทียบกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 โดยค่าใช้จ่ายด้านสินค้าอาหารคิดเป็น 4,382 หยวน เทียบกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ครองสัดส่วนร้อยละ 37.0 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ปี ค.ศ. 2010 ยอดการค้าปลีกสินอุปโภคบริโภคของสังคมคิดเป็นมูลค่า 69,655 ล้านหยวน เทียบกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.0 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของประชากรมีมูลค่า 19,961 หยวน เทียบกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0

การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองเซี่ยเหมิน

ใน 30 ปี ที่ผ่านมานี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษฯ พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นในทุกๆ ด้าน เมืองเซี่ยเหมินนอกจากเป็นเมืองที่เหมาะกับการลงทุน ยังเป็นเมืองแห่งอารยธรรมแห่งประเทศจีน มีสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยว และเมืองเซี่ยเหมินยังขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งสวนสาธารณะ

ในอนาคต เขตเศรษฐกิจพิเศษฯ จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีศักยภาพ โดยเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเด่นให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น พัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทค พัฒนาสิ่งก่อสร้างเพื่อรองรับการท่องเที่ยวให้มากขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การพัฒนาของเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ จะต้องเน้นด้านกระชับความสัมพันธ์กับไต้หวันและความสัมพันธ์ระหว่างเมืองเซี่ยเหมิน-จางโจว-เฉวียนโจว

กระชับความสัมพันธ์กับไต้หวัน

ปัจจุบันนี้ ไต้หวันเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 3 ของเมืองเซี่ยเหมิน การปฏิบัติตามแผนข้อตกลง ECFA ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองเซี่ยเหมินกับไต้หวันแน่นแฟ้นมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันนี้ เซี่ยเหมินเป็นศูนย์กระจายผลไม้ไต้หวันไปยังทั่วประเทศจีนและจัดเป็นเมืองที่มีมูลค่าการค้าขายกับไต้หวันมากที่สุดอีกด้วย

ปลายเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2011 รัฐบาลได้อนุมัติโครงการนำร่องการปฏิรูปด้านการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวันของรัฐบาลเมืองเซี่ยเหมิน ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสอันดีของการพัฒนาเศรษฐกิจ ปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมของเมืองเซี่ยเหมินให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือเมืองเซี่ยเหมิน-ไต้หวัน

แผนบูรณาการการพัฒนาร่วม 3 เมือง -- เซี่ยเหมิน จางโจวและเฉวียนโจว

แผนบูรณาการการพัฒนาร่วม 3 เมือง — เซี่ยเหมิน จางโจวและเฉวียนโจวเป็นโครงการที่สร้างเมืองเซี่ยเหมิน เมืองจางโจวและเมืองเฉวียนโจวให้เป็นภูมิภาคหรือเมืองใหญ่อันเดียวกัน และพัฒนาซึ่งกันและกัน

วันที่ 8 กันยายน ปี ค.ศ. 2011 รัฐบาลเมืองเซี่ยเหมิน เมืองจางโจวและเมืองเฉวียนโจวได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยแผนฯ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวได้กำหนดหลักการ เป้าหมาย แผน แนวคิดการพัฒนาและระบบการปกครองของความร่วมมือใน 5 ปีข้างหน้า โดยทั้ง 3 เมืองจะร่วมมือกันในทางด้านคมนาคม อุตสาหกรรมการผลิต โลจิสติกส์ที่ทันสมัย การท่องเที่ยว สารสนเทศ สิ่งก่อสร้างพื้นฐาน และการรักษาสิ่งแวดล้อม และนำมาพัฒนาซึ่งกันและกัน

ที่มา http://www.stats-xm.gov.cn/tjzl/tjgb/index_1.htm

http://www.xmnn.cn/zt11/jjtq30/

http://www.stats-xm.gov.cn/2001/2001.htm

http://baike.baidu.com/view/2700226.htm

http://news.xinhuanet.com/local/2011-09/08/c_122003558.htm

เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ