เยอรมันคุมเข้มสินค้าเกษตร

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 20, 2012 14:08 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เยอรมันคุมเข้มสินค้าเกษตร

*********************************************

ประเทศเยอรมนีและสหภาพยุโรป ให้ความสำคัญและมีความเข้มงวดในเรื่องการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้รับประทานและสัมผัสกับผิวหนัง ซึ่งแนวโน้มความเข้มงวดในการตรวจสอบเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด รวมถึงการออกมาตรการและกฎระเบียบฉบับใหม่ๆ มาบังคับใช้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา เช่น กฎระเบียบเรื่องสุขอนามัยมาตรการเรื่องสิ่งแวดล้อมและแรงงานเป็นต้น ซึ่งในปัจจุบัน

ประเทศคู่แข่งของไทยหลายๆ ประเทศ ได้ให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเพราะมิเช่นนั้น สินค้าบางอย่างอาจจะถูกถอดออกจากชั้นวางขายรวมถึงการถูกห้ามนำเข้าต่อไป

ประเทศเยอรมนีมีหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค (Verbraucherzentrale) และหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพสินค้า (Lebenmittelberwachungsbeh๖rde) ซึ่งคอยทำหน้าที่สุ่มตัวอย่างสินค้าจากชั้นวางขาย และนำไปทดสอบ หากพบสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ก็จะดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับและกฎหมายต่อไปซึ่งผู้ นำเข้าเยอรมันจะเกรงกลัวต่อหน่วยงานเหล่านี้ เพราะหากพบว่า ในกรณีที่มีการนำเข้าสินค้าที่ปนเปื้อนสารเคมีตกค้าง มีสารพิษและเชื้อโรคผสมอยู่ นอกจากการที่สินค้าเหล่านั้นจะถูกปลดออกจากชั้นวางขายแล้ว ผู้นำเข้าอาจจะต้องถูกปรับเงินเป็นค่าความเสียหาย หรือการจำคุก (ระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี) หรืออาจถูกปรับเงินและจำคุก รวมถึงการยึดใบอนุญาติการนำเข้าสินค้าอีกด้วย ทั้งนี้จะพิจารณาจากความผิด ตามความหนักเบาของข้อหา ซึ่งตามปกติแล้ว จะมีโทษเป็นการปรับเงินค่าความเสียหายเป็นส่วนใหญ่ โดยมีค่าปรับตั้งแต่ 500 ยูโร จนถึงเงินค่าปรับจำนวนมากกว่า 1 ล้านยูโร เป็นต้น

นอกจากนี้ หากมีข่าวเรื่องโรคระบาดในพืชหรือสัตว์การตรวจพบสารตกค้าง หรือตรวจพบเชื้อโรคในผลิตภัณฑ์อาหาร ชาวเยอรมันจะให้ความสนใจต่อข่าวและจะหยุดซื้อสินค้าดังกล่าวทันที ซึ่งจะต้องใช้ช่วงระยะเวลานานสำหรับการเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาได้

ภาพรวมตลาดสินค้าเกษตรในประเทศเยอรมนี

ถึงแม้ประเทศเยอรมนีจะเป็นประเทศผู้นำทางด้านอุตสาหกรรม วิศวกรรม เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลที่มีชื่อเสียงที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกแต่อุตสาหกรรมทางด้านการเกษตร กสิกรรมและการผลิตอาหารแปรรูป ก็นับว่าเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศเยอรมนี ที่มีความสำคัญและบทบาทโดยตรงต่อประชากรชาวเยอรมัน เพราะประชาชนจำเป็นต้องใช้และบริโภคสินค้าทุกวัน ในปัจจุบัน ประเทศเยอรมนีได้ย้ายฐานการผลิตสินค้าอาหาร แปรรูปออกไปยังต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะตั้งในทวีปยุโรปตะวันออก อันเนื่องมาจากอัตราค่าจ้างแรงงานในเยอรมนีที่แพงกว่าประเทศเหล่านั้นรวมถึงสภาวะเศรษฐกิจยุโรปที่ถดถอยลงและการแข่งขันทางการตลาดที่รุนแรงเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีการนำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ สเปน และอิตาลี เป็นหลัก สำหรับจำนวนเกษตรกรภายในประเทศเยอรมนี ยังคงมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารมากกว่า 500,000 คน โดยแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและกสิกรรมที่สำคัญๆ ของเยอรมนีส่วนใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกและทางตอนใต้ของประเทศ สินค้าเกษตรที่สำคัญ อาทิเช่น มันฝรั่ง ข้าวสาลี ธัญพืช หน่อไม้ฝรั่ง ผลไม้สด เป็นต้น

ประชากรชาวเยอรมัน มีหลักเกณฑ์ในการเลือกซื้อสินค้าเกษตรและอาหารต่างๆ โดยพิจารณาเรื่องคุณภาพสินค้าเป็นหลัก รวมถึงการให้ความสำคัญ เรื่องคุณค่าทางโภชนาการและความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นสินค้าจะต้องไม่มีสารพิษตกค้าง ถูกสุขอนามัย นอกจากนี้ ประเทศเยอรมนีมีหน่วยงานที่จะคอยตรวจสอบ ควบคุมและรักษาคุณภาพสินค้าอย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับการที่ชาวเยอรมันให้ความใส่ใจเรื่องสุขภาพเพิ่มมากขึ้นทำให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ ได้รับความนิยมในตลาดเยอรมนีเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

ในปี 2554 ประเทศเยอรมนีนำเข้าสินค้าเกษตรเป็นมูลค่าถึง 18,862.54 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่นำเข้าเรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ผลไม้ (9,027.72 ล้านเหรียญสหรัฐ) ผัก (6,513.82 ล้านเหรียญสหรัฐ) เนื้อสัตว์ (2,957.25 ล้านเหรียญสหรัฐ) ข้าว (364.29 ล้านเหรียญสหรัฐ)

สำหรับการนำเข้าจากไทยในปี 2554 ประเทศเยอรมนีนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 228.71 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 42.13 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.58 โดยมีการนำเข้าสินค้าประเภทเนื้อไก่ (62.33 ล้านเหรียญสหรัฐ) ข้าว (22.34 ล้านเหรียญสหรัฐ) ผักสดแช่เย็น แช่แข็ง (5.20 ล้านเหรียญสหรัฐ) ผลไม้แช่เย็น แช่แข็ง ( 3.46 ล้านเหรียญสหรัฐ) มากเรียงตามลำดับ

พฤติกรรมผู้บริโภค

ผู้บริโภคชาวเยอรมัน ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการบริโภคอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเน้นเรื่องคุณค่าทางโภชนาการและความปลอดภัยเป็นหลัก โดยจะต้องไม่มีสารพิษตกค้าง สารปรุงแต่งในอาหาร นอกจากนี้ ยังนิยมการทำอาหารง่ายๆ ไม่ซับซ้อน พร้อมกับการซื้อวัตถุดิบ เครื่องปรุงที่หาได้ในท้องตลาดโดยทั่วไปโดยมีจำนวนประชากรที่บริโภคอาหารสดที่ปรุงเองเพิ่มมากขึ้น

ชาวเยอรมันพิจารณาเรื่องคุณภาพสินค้ามากกว่าเรื่องของราคาสินค้าและยังคงนิยมบริโภคอาหารจากภูมิภาคเอเชียเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ อาหารไทย ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อาหารไทยคืออาหารจากทวีปเอเชียที่ชาวเยอรมันนิยมสูงสุด เพราะชื่นชอบและติดใจในรสชาติอาหารตลอดจนคุณค่าทางโภชนาการ และสมุนไพรอาหารไทยจัดเตรียมง่าย ไม่ซับซ้อน โดยในปัจจุบันมีเครื่องปรุงสำเร็จรูปเพิ่มมากขึ้นทำให้ตลาดสินค้าอาหาร ผัก ผลไม้สดและข้าวไทย มีแนวโน้มการขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนอกจากนี้ประชากรชาวเยอรมันยังมีความต้องการสินค้าอาหารสำเร็จรูปจากไทยเพิ่มมากขึ้นด้วย

สำหรับสินค้าอาหารสำเร็จรูปแช่เย็นแช่แข็งนั้น จะได้รับความนิยมจากกลุ่มคนโสด ครอบครัวขนาดเล็ก กลุ่มผู้หญิงทำงานและกลุ่มคนสูงอายุ เพราะสามารถจัดเตรียมได้ง่าย สะดวกและประหยัดเวลา

กฎระเบียบการนำเข้าและการตรวจสอบสินค้าเกษตรในตลาดเยอรมนีและสหภาพยุโรป

ในขบวนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอาหารนั้น จะต้องมีขั้นตอนการผลิตที่ทันสมัย สะอาด ถูกสุขอนามัยและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีหน่วยงาน Lebenmittelberwachungsbeh๖rde ที่จะคอยตรวจสอบ ควบคุมและรักษาคุณภาพสินค้า โดยสุ่มตรวจที่ด่านศุลกากรและสุ่มตรวจที่ชั้นวางของจำหน่ายสินค้าต่างๆ การตรวจสอบสินค้าอาหารแบ่งออกเป็น

1. การตรวจสอบโดยภาพรวม (Food Safety) โดยแบ่งแยกลักษณะการตรวจสอบสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในเรื่องความปลอดภัยสำคัญต่างๆดังนี้

  • ปราศจากเชื้อ Salmonella
  • การใช้สารเคมีธรรมชาติ ในการดูแลรักษาและทำความสะอาดเครื่องจักรต่างๆและไม่มีเชื้อโรคต่างๆ ปนเปื้อนโดยเฉพาะเครื่องจักรที่ผลิตสินค้าประเภทDairy Products
  • การตรวจวัดค่า PH และ Oxygen และจะต้องไม่มีส่วนผสมของสารเคมี
  • ตรวจสอบคุณภาพและอายุการใช้งานของเครื่องจักรเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยในขบวนการผลิต
  • การตรวจวัดโดยวิธี Rapid Microbial ในเนื้อสัตว์และสัตว์ปีก ซึ่งผลการตรวจสอบจะต้องไม่มีpathogenic organisms or chemical contamination ในเนื้อสัตว์ดังกล่าว

2. การตรวจสอบเรื่องภาชนะบรรจุภัณฑ์การติดฉลากบนสินค้าอาหาร ความสะอาด สุขอนามัย(Food Hygiene)

  • ตรวจสอบสินค้าตามกฎระเบียบด้านมาตรฐานการบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าจะต้องมีภาชนะบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย สะอาด ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค
  • การตรวจสอบฉลากสินค้า ให้เป็นไปตามกฎระเบียบเรื่องการบังคับการติดฉลากซึ่งจะต้องแจ้งเป็นภาษาเยอรมัน สรุปรายละเอียดที่ต้องแจ้งบนฉลากสินค้าอาหารต่างๆ ได้ดังนี้
  • List of ingredients การแจ้งส่วนผสมของอาหาร Quantity of ingredients or categories of ingredients การแจ้งปริมาณส่วนผสม และสารอาหารต่าง โดยสามารถแจ้งเป็นอัตราส่วนร้อยละ
  • Net quantity การแจ้งปริมาตรสุทธิของผลิตภัณฑ์ Date of minimum durability วันที่สินค้าจะหมดอายุ Special storage conditions or conditions of use การแจ้งวิธีเก็บรักษาสินค้าหรือวิธีการบริโภคสินค้าและผลิตภัณฑ์เหล่านั้น
  • name or business name and address of the manufacturer or packager, or of a seller การแจ้งรายละเอียดบริษัทผู้ผลิตสินค้า บริษัทบรรจุภัณฑ์ หรือตัวแทนจำหน่ายสินค้า
  • Place of origin การแจ้งแหล่งที่มาหรือแหล่งผลิตสินค้า * การบรรจุ หีบห่อด้วยพลาสติกจะต้องไม่ทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภคและมีความสะอาด ถูกสุขอนามัย เป็นไปตามกฎระเบียบ เรื่องการบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สัมผัสกับอาหาร

การติดตรารับรองคุณภาพสินค้าต่างๆ เช่น ตรารับรองคุณภาพของสินค้าเกษตรอินทรีย์ Bio ตราสัญลักษณ์ Fairtrade สัญลักษณ์การค้าเพื่อความเป็นธรรมตราสัญลักษณ์ Sustainable product ก็จะช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายมากขึ้น

3.การตรวจสอบคุณภาพและส่วนผสมอาหารจากเนื้อสัตว์

การตรวจสอบตามระเบียบจุลชีววิทยาของสินค้าอาหาร

  • การตรวจวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในอาหาร โดยเฉพาะสาร Dioxins และ PCBs ต้องมีค่าไม่เกิน 0.2 - 3 ppm
  • การป้องกันการใช้สารเพิ่มเติมในสินค้าอาหารสำหรับการบริโภคของมนุษย์ เช่น การใส่สีผสมอาหาร รสชาติเพิ่มในสินค้าอาหาร เป็นต้น
  • การตรวจวัดโดยวิธี Rapid Microbial ในเนื้อสัตว์และสัตว์ปีก ซึ่งผลการตรวจสอบจะต้องไม่มีpathogenic organisms or chemical contamination ในเนื้อสัตว์ดังกล่าว
  • การจำหน่ายสินค้าเนื้อสัตว์ปีกสด จะต้องขายในตู้เย็น ตู้แช่แข็ง อุณหภูมิระหว่าง -2 ถึง 4 องศาเซลเซียสและมีฉลากแจ้งบอกวันหมดอายุของสินค้า
  • การตรวจสอบและต่อต้านการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย การใช้เนื้อสัตว์น้ำต้องห้ามมาเป็นส่วนผสม ตามกฎระเบียบ IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Finishing) โดยสินค้าประมงที่จะส่งออกมายังตลาดสหภาพยุโรปจะต้องมีใบรับรองการจับสัตว์น้ำที่ออกโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในแต่ละประเทศตามสัญชาติของเรือประมงนั้น เพื่อรับรองว่าการจับสัตว์น้ำดังกล่าวได้กระทำถูกต้องตามระเบียบการอนุรักษ์และการบริหารระดับนานาชาติ ซึ่งครอบคลุมทั้งสินค้าประมงแปรรูปและไม่แปรรูป
  • การตรวจสอบไม่ให้มีแมลง พยาธิ จุลินทรีย์จากนอกทวีป เข้ามาแพร่พันธ์ในภูมิภาคยุโรป โดยจะสุ่มตรวจที่ด่านศุลกากรของเยอรมนี หากตรวจพบ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการกำจัดและทำลายสินค้า โดยนำสินค้าไปเผาทิ้ง นอกจากนี้ผู้นำเข้า/ตัวแทนจำหน่ายสินค้าอาจจะต้องเสียเงินค่าปรับ ค่าใช้จ่ายเรื่องการทำลายสินค้าในกรณีที่ไม่พบผู้นำเข้า/ตัวแทนผู้รับผิดชอบ เจ้าหน้าที่ฯ จะส่งใบเตือน ใบเรียกเงินค่าปรับไปยังผู้ส่งออก รวมถึงอาจยึดใบอนุญาตการนำเข้าสินค้าต่อไป

4. การตรวจสอบเรื่องลักษณะการดำรงชีวิตของสัตว์

  • สหภาพยุโรปให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องระบบการทำฟาร์มปศุสัตว์โดยจะต้องมีพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ไม่แน่นหนามากเกินไป มีแสงแดดส่องอย่างทั่วถึง มีระบบการรักษาความสะอาดที่ดี ทันสมัย และมีระบบการป้องกันและรักษาโรคติดต่อ พยาธิ เป็นต้น โดยเฉพาะไก่เลี้ยง ที่มีกฎระเบียบการป้องกันสวัสดิภาพไก่เลี้ยงเป็นพิเศษ ซึ่งหน่วยงานสามารถส่งเจ้าหน้าที่/ผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบฟาร์มปศุสัตว์ได้
  • การห้ามบริโภคสัตว์ปีกที่มีอายุน้อยกว่า 3 วัน (72 hours) ซึ่งเจ้าหน้าที่ สามารถขอสุ่มและเข้าตรวจสอบตามฟาร์มปศุสัตว์ได้

5. การตรวจสอบโรคติดต่อในสินค้าอาหาร

  • สหภาพยุโรปเน้นการตรวจสอบและควบคุมเรื่องโรคติดต่อต่างๆโดยเฉพาะ โรควัวบ้า (BSE) ไข้หวัดนก (Avian Influenza or Newcastle disease) ไข้หวัดหมู (Swine fevers) โรคเท้าและปาก (Foot and mouth disease) ซึ่งหากตรวจพบโรคระบาดดังกล่าว เจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการทำลายสินค้าและกำจัดเชื้อโรคดังกล่าวโดยด่วนที่สุดต่อไป นอกจากนี้อาจจะประกาศแจ้งเตือนผู้บริโภคเรื่องการบริโภคสินค้าเหล่านั้นอีกด้วย

6.การตรวจสอบสินค้าจากพืช (ผักและผลไม้ต่างๆ)

  • การป้องกันไม่ให้พืช จากนอกทวีปยุโรป เข้ามาแพร่พันธุ์พืชชนิดต่างๆในภูมิภาคนี้ เพื่อป้องกันการกลายพันธุ์ของพืชในเขตทวีปนี้ ซึ่งอาจทำให้ประโยชน์ คุณค่าทางโภชนการลดลง
  • การป้องกันและกำจัดพืชและวัชพืชที่เป็นอันตราย
  • ตรวจสอบเรื่องการเน่าเสียว่าสินค้าผักและผลไม้นั้น ยังคงสภาพดีพอ สามารถรับประทานได้หรือไม่
  • การตรวจสอบเรื่อง Pesticides กฎระเบียบข้อห้ามเรื่องเพลี้ยแมลง โรคพืชผักต่างๆ และกำหนดห้ามใช้ย่าฆ่าศัตรูพืช โดยเฉพาะ Aerial sparying of pesticides อย่างเด็ดขาด และสินค้าจะต้องไม่มีเชื้อจุลินทรีย์กลุ่ม Organophosphates, Azinpjos ethyl, Escherichia coli, Salmonella spp., Aflatoxin B1 อยู่ในผักและผลไม้เหล่านั้นอย่างเด็ดขาด

7. การตรวจสอบเรื่องอื่นๆ

  • การตรวจสอบเรื่องสารเคมีต่างๆต้องไม่มีสารเคมี ยาฆ่าแมลงตกค้างในสินค้าอาหาร ประเทศเยอรมนีมีกฎระเบียบข้อจำกัดต่างๆที่รัดกุม เข้มงวดมาก และมักจะเป็นประเทศแรกที่ค้นพบว่าสารเคมีที่เดิมอนุญาตให้ใช้กันได้ทั่วไป มีส่วนทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ส่งผลให้มีการสั่งห้ามใช้ในการผลิตในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม จากการที่เยอรมนีเป็นประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป การใช้กฏเกณฑ์ใดๆ จะต้องผ่านการยอมรับของคณะกรรมการสหภาพยุโรปก่อนจึงจะมีผลใช้บังคับได้
  • การตรวจสอบเรื่องการตัดต่อพันธุกรรมGMOs สหภาพยุโรปห้ามเรื่องการใช้GMOs ในอุตสาหกรรมสินค้าอาหารโดยเด็ดขาด เพราะในปัจจุบันยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะไม่เกิดอันตรายจากการบริโภคสินค้า GMOs ซึ่งการนำเข้าผลิตภัณฑ์ GMOs ถือเป็นความผิดร้ายแรงในสหภาพยุโรป
  • การตรวจสอบเรื่องสารกัมมันตภาพรังสีในอาหาร(Radioactive) สหภาพยุโรปออกข้อห้ามไม่ให้สินค้าเกษตรและอาหารต่างๆ มีสารกัมมันตภาพรังสีใดๆ ปนเปื้อนอยู่ในสินค้าทุกชนิด
  • การตรวจสอบสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตามกฎระเบียบมาตรฐานสากล เลขที่ 834/2007 (EEC No.834/2007) ว่าด้วยสินค้าเกษตรและอาหารเกษตรอินทรีย์และระเบียบวิธีในการเกษตรกรรมและกสิกรรมสำหรับสินค้าที่เป็น "BIO" ซึ่งหมายถึงสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศเยอรมนีทุกชนิดจะต้องผ่านการควบคุมและตรวจสอบให้ได้มาตรฐานตามกฎหมายของสหภาพยุโรปและตามระเบียบข้อบังคับขององค์กร IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movement) สินค้าที่ผ่านมาตรฐานดังกล่าวเท่านั้นจึงจะมีสิทธิขอใช้เครื่องหมายรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้โดยมีหน่วยงานตรวจสอบหลายแห่งและแตกต่างกันไป
ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

1. ประเทศเยอรมนีจะให้ความใส่ใจในเรื่องการตรวจอย่างเข้มข้นกับประเทศที่เคยได้รับคำเตือนหรือประเทศที่เคยถูกตรวจพบสารตกค้าง สารต้องห้าม และ GMOs ซึ่งจะจัดประเทศเหล่านั้นให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องถูกจับตามองหรือต้องถูกตรวจสอบเป็นพิเศษ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเยอรมันได้เข้มงวดต่อการนำเข้าผักสดจากไทย 16 รายการเนื่องจากตรวจพบศัตรูพืชPesticides ต่างๆ เช่น เชื้อจุลินทรีย์กลุ่ม Organophophates ในพริก ถั่วฝักยาว เชื้อจุลินทรีย์กลุ่ม Escherichia Coli, Salmonella spp. ในผักชี กระเพรา โหระพา ตะไคร้ พริกขี้หนูสด สะระแหน่ เป็นต้น ในขณะที่ผู้นำเข้าชาวเยอรมันส่วนใหญ่ยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทย แต่ผลจากการตรวจเข้มข้นจะทำให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง ซึ่งผู้นำเข้าเยอรมันให้ความเห็นว่า ในอนาคตอาจจะต้องนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆมาทดแทน อาทิเช่น ประเทศเวียดนาม เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้นำเข้า/ตัวแทนจำหน่ายสินค้าอาจจะนำเข้าสินค้าจากผู้ผลิตทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี ที่เริ่มทำการปลูกผักประเภทเดียวกันได้แล้ว โดยปลูกในกระถาง เรือนกระจกหรือเรือนทดลอง แม้ว่ารสชาติจะไม่เหมือนผักไทย แต่หากผู้บริโภคเกิดความเคยชินกับกลิ่น รสของผักเหล่านั้น อาจส่งผลทำให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าผักสดจากประเทศไทยในตลาดเยอรมนีลดลงหรือหมดลงไปได้ในอนาคต

2. ควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรในตลาดประเทศเยอรมนีและสหภาพยุโรปเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ เรื่องสารเคมีตกค้าง เชื้อโรคและเชื้อจุลินทรีย์ที่ติดมากับพืชและสัตว์ รวมถึงเรื่องการตัดต่อพันธุกรรม GMOs เป็นต้น เพราะข้อจำกัดเหล่านี้จัดเป็นอุปสรรคในการส่งออกสินค้าของผู้ประกอบการไทย ซึ่งผู้ส่งออกไทยจะต้องให้ใส่ใจและให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก นอกจากนี้ ในปี 2015 กลุ่มประเทศเอเซียนจะเปิดเขตการค้าเสรีอย่างสมบูรณ์สำหรับประเทศสมาชิก ดังนั้นอาจมีขบวนการผลิต หรือส่งสินค้าเกษตรข้ามแดน ที่อาจเพิ่มโอกาสและความเป็นไปได้ในการปนเปื้อนสารเคมี สารพิษ รวมถึงเรื่องของGMOs ซึ่งหากหน่วยงาน/ภาครัฐควบคุม ดูแลไม่ทั่วถึง รวมทั้งผู้ประกอบการไม่เห็นความสำคัญ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงในอนาคตได้

**********************************************************************************

จัดทำโดย นายอาทิตย์ กองเกตุ ผู้ช่วยดำเนินการฯ คนที่ 1

สคต.แฟรงก์เฟิร์ต

เมษายน 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ