รายงานสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยไปอิตาลีประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 29, 2012 13:46 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รายงานสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยไปอิตาลีประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕

๑. สถานการณ์เศรษฐกิจอิตาลีในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕

๑) ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงชะลอตัว ทั้งนี้ ธนาคารแห่งชาติของอิตาลีเปิดเผยว่า ขณะนี้ยอดหนี้สาธารณะพุ่งถึง ๑,๙๔๖.๐๘๓ พันล้านยูโร ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา อิตาลีเป็นหนึ่งในประเทศที่มีหนี้สาธารณะรายใหญ่ของโลก ประมาณ ๑๒๐% ของ GDP ซึ่งเป็นข่าวร้ายสำหรับนาย Mario Monti นายกรัฐมนตรีอิตาลีกับรัฐบาลฉุกเฉินที่จะต้องปรับความสมดุลงบประมาณของปีหน้าพร้อมกับลดค่าใช้จ่ายและปรับภาษีอย่างเข้มงวดในเดือนธันวาคม

๒) หน่วยงานวิจัยตลาด Cerved ของอิตาลี ระบุว่า ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยนี้ ผู้ประกอบการในอิตาลีประสบภาวะอยู่ในระหว่างยื่นฟ้องล้มละลายมากกว่า ๓,๐๐๐ บริษัท ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้น ๔.๒% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทางหน่วยงานยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา จำนวนกลุ่มบริษัทและกิจการที่ล้มละลายสูงขึ้น ตัวเลขของบริษัทที่ถูกยื่นฟ้องล้มละลายในไตรมาสแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับสามเดือนสุดท้ายของปีก่อนลดลง ๑.๑ % ในขณะที่ตัวเลขของธุรกิจที่ปิดตัวลงไปนั้นยังคงสูง ทั้งนี้จากรายงานพบว่า บริษัททางภาคเหนือของอิตาลีปิดตัวลงไปกว่า ๑๗,๐๐๐ บริษัท ตั้งแต่เกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ โดยแคว้นที่โดยผลกระทบอย่างหนักคือ ลอมบาเดีย เปียมอน และลิกูเลีย สำหรับธุรกิจล้มละลายพบว่า ๑ ใน ๔ อยู่ภาคใต้ของอิตาลี และ ๒๒% อยู่ในภาคกลาง

สมาคมงานฝีมือและผู้ประกอบการขนาดย่อย Mestre (CGIA), รายงานว่า ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๕๕ มีจำนวนคนฆ่าตัวตายกว่า ๓๒ ราย โดยสาเหตุหลักมาจากภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ โดยเหยื่อรายล่าสุดเป็นชายวัย ๕๒ ปี จากเมือง Treviso ในแคว้น Veneto แขวนคอตัวเองในรถตู้ แคว้น Veneto เป็นแคว้นที่มีจำนวนผู้ประกอบการรายย่อยฆ่าตัวตายสูงที่สุด และ CGIA ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจาการขาดความคล่องตัวของเงินทุนและการค้างชำระของลูกค้า เป็นสาเหตุทำให้ผู้ประกอบการประสบภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจนำมาสู่การล้มละลายและฆ่าตัวตาย ทั้งนี้นาง Elsa Fornero รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อิตาลียอมรับว่าเป็นความผิดของรัฐบาลเองที่ไม่ให้ความสนใจกับส่วนที่อ่อนแอของสังคมเท่าที่ควร จึงทำให้อัตราการฆ่าตัวตายของชาวอิตาเลียนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากภาวะตึงเครียดของวิกฤติเศรษฐกิจ นาง Elsa Fornero ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลอิตาลีควรจะหันมาให้ความสำคัญและแก้ปัญหากับเรื่องนี้อย่างจริงจัง หรือบางทีมันอาจจะสายเกินไปแล้ว อย่างไรก็ตาม นาง Elsa กำลังเผชิญหน้ากับสหภาพแรงงานเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อช่วยคนตกงานต่อราชกฤษฎีกา เนื่องกฎหมายใหม่ของผู้เกษียณอายุถูกทิ้งให้ตกงานและไม่มีเงินบำนาญ

๓) จากรายงานของ EUROSTAT รายงานว่า อิตาลีมีอัตราภาระภาษีแรงงานสูงที่สุดในสหภาพยุโรป โดยในปี ๒๕๕๔ ภาษีธุรกิจส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นจาก ๔๒.๓% เป็น ๔๒.๖% โดยรวมค่าภาษีแรงงานและเงินประกันสังคมไปด้วย อัตราเฉลี่ยภาษีในประเทษกลุ่มยูโรโซน ๑๗ เท่ากับ ๑๗ % ทั้งนี้ภาษีสาธารณะในอิตาลีคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก ๔๕.๖% เป็น ๔๗.๓% ในปี ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลในด้านการเพิ่มภาษีตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๕๔

๔) สมาคม Coldiretti รายงานว่า ในช่วงวันหยุดวันแรงงาน คนอิตาเลี่ยน ๕๐% ออกไปปิคนิคนอกบ้านและ ๑๕% อยู่บ้านไม่ออกไปไหน ภาวะเศรษฐกิจถดถอยส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการใช้จ่ายเงินของคนอิตาเลี่ยนในการซื้ออาหารในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ในปีนี้ โดยพบว่า คนอิตาเลี่ยนอยู่บ้านในช่วงวันหยุดอีสเตอร์ ๘ ใน ๑๐ คน และใช้จ่ายเงินประมาณ ๑.๒ พันล้านยูโรเป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งลดลง ๗% จากปี ๒๕๕๔ รายงานยังกล่าวอีกว่า มีการซื้อไข่อีสเตอร์และขนมเค็กสำหรับเทศกาลอีสเตอร์ลดลง ๑๐%

สมาคมการท่องเที่ยวอิตาลีรายงานว่า นักท่องเที่ยวอิตาเลี่ยนออกไปท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดเทศกาลอีสเตอร์น้อยลง ๓๐% เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๔ และใช้จำนวนวันหยุดน้อยลงกว่าเดิมเนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่ดี ประกอบกับผลของวิกฤตเศรษฐกิจ และจังหวะวันหยุดช่วงเทศกาลอีสเตอร์ในปีนี้เป็นช่วงที่เร็วเกินไปที่จะไปเที่ยวทะเล และช้าเกินไปที่จะไปเที่ยวภูเขา ทำให้คนอิตาเลี่ยนท่องเที่ยวใกล้ๆ บ้านแทน ขณะเดียวกันอุบัติเหตุทางรถยนต์เพิ่มขึ้น ๕๔% กว่าปรกติในช่วงวันหยุดยาว ส่วนสมาคมผู้ค้าปลีก Confcommercio รายงานว่า คนอิตาเลี่ยน ๔ ล้านคนจะไปกินอาหารกลางวันที่ร้านอาหารทั่วประเทศอิตาลี และจะใช้เงินเฉลี่ย ๔๐ ยูโรต่อหัว

๕) ENI บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของอิตาลีได้ลงนามในข้อกตลงร่วมกับบริษัทผู้ผลิตน้ำมันอันดับสองของรัสเซีย Rosneft ในการร่วมกันขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในทะเลอาร์ติค ในทะเลบาร์เรนและทะเลดำ โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือนพฤษภาคมนี้ ทั้งนี้ในช่วงเดือนมีนาคม บริษัท Exxonmobil ของสหรัฐอเมริกาได้ลงนามในข้อตกลงเช่นเดียวกันกับบริษัท Rosneft ในการขุดเจาะน้ำมันนอกรัสเซียเหมือนกัน Kremlin มีเป้าหมายในการขยายอุตสาหกรรมน้ำมันของรัสเซียไปยังต่างประเทศในขณะเดียวกันต้องการการถ่ายทอดทางด้านเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ในโครงการภายในประเทศต่อไป

๖) นายกรัฐมนตรีอิตาลี นาย Mario Monti กล่าวในการพบกับนายกรัฐมนตรีของประเทศอัลบาเนีย นาย Sali Berisha ว่า อิตาลีเป็นคู่ค้าอันดับต้นๆ ของอัลบาเนีย ทื้งนี้อิตาลีส่งออกไปอัลบาเนียมูลค่า ๑.๑๔๕ พันล้านยูโร (ในปี ๒๕๕๔) เพิ่มขึ้น ๑๘% เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๓ และนำเข้ามูลค่า ๖๕๗ ล้านยูโร เพิ่มขึ้น ๑๔% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นายกมอนติกล่าวอีกว่า นอกจากนโยบายการจำกัดการใช้จ่ายภาคสาธราณะแล้ว อิตาลียังคงต้องมีการพัฒนาการค้ากับประเทศในแถบทะเลบอลข่านอย่างจริงจังด้วย ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อิตาลีให้ความช่วยเหลือและให้เครดิตเงินกู้แก่อัลบาเนียราว ๒๔๗ ล้านยุโร และในปี ๒๕๕๓ อิตาลียังเพิ่มเงินช่วยเหลือเข้าไปอีก ๕๑ ล้านยูโร อย่างหรก็ดี นายยกมอนติมีแผนที่จะเดินทางไปเยี่ยมนายก Berisha ที่อัลบาเนียในเดือนพฤษภาคมนี้เพื่อหารือข้อเสนอเรื่อง Tran Adriatic Pipeline (TAP) ซึ่งเป็นโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากทะเล Caspian ผ่านกรีซ อัลบาเนีย และทะเล Adriatic ไปทางด้านใต้ของอิตาลีเพื่อส่งเข้ายุโรปตะวันตก โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ EU' Southern Gas Corridor เพื่อนำส่งกาฃ๊าซธรรมชาติขนาด ๖๐-๑๒๐ พันล้านคูบิคเมตรเข้าสู่ยุโรป

๗) รัฐมนตรีต่างประเทศ Mr. Giulio Terzi กล่าวหลังการเข้าพบกับประธานาธิบดีพม่า Thein Sein ในประเทศพม่าเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า จากการที่สหภาพยุโรปยกเลิกการคว่ำบาตรพม่าส่งผลให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจแก่อิตาลี ประเทศพม่าเป็นประเทศคู่ค้าพื้นฐานของอิตาลีในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้การยกเลิกการคว่ำบาตรส่งผลให้เกิดความน่าสนใจในแง่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่ด้านการค้าแต่ยังส่งผลถึงการเป็นหุ้นส่วนใหม่ของผู้ประกอบการอีกด้วย นอกจากนี้ยังช่วยปลดล๊อคด้านการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศพม่าแต่ไม่ได้ยกเลิกการคว่ำบาตรการใช้อาวุธ การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปทำให้เกิดข้อจำกัดแก่บริษัทเป็นร้อยในการทำธุรกิจในพม่าและนักท่องเที่ยวด้วย

๘) บริษัทเฟี๊ยตของอิตาลีได้ลงนามในการร่วมทุนกับบริษัท Tata ในอินเดียตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ เพื่อดำเนินการขายและสร้างเครือข่ายการบริการในอินเดีย และปัจจุบันได้มีการทบทวนข้อตกลงดังกล่าว เพื่อให้บริษัทร่วมทุนอิตาลี-อินเดียเน้นการผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก เครื่องยนต์และเครื่อง transmission สำหรับตลาดอินเดียและประเทศรอบๆ เฟี๊ยตและ Tata ยังคงร่วมกันบริหารโรงงานใน Ranjangaon ในแคว้น Maharashra ซึ่งมีกำลังผลิตรถยนต์ ๑๐๐,๐๐๐ คันต่อปี และเครื่องยนต์/Transmission อีก ๑๕๐,๐๐๐ เครื่องต่อปี ในช่วง ๕ ปีแรก เฟี๊ยตอินเดียผลิตรถยนต์ ๑๙๐,๐๐๐ คัน และเครื่องยนต์ ๓๓๗,๐๐๐ เครื่องสำหรับรถเฟี๊ยตและรถ Tata บริษัทใหม่ในอินเดียจะค่อยๆ เข้าบริหารกิจกรรมด้านการค้า การขายและบริการของเฟี๊ยตจากตัวแทนดิลเลอร์ของ Tata จำนวน ๑๗๘ แห่งใน ๑๒๙ เมือง และจะค่อยๆ ขยายเครือข่ายออกไป เมื่อปีที่แล้วเฟี๊ยตกับ Tata ได้ประกาศออกมาว่า จะพัฒนารถยนต์ขนาดเล็กแบบใหม่สำหรับตลาดอินเดียซึ่งมีตลาดขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สามในเอเชีย ซึ่งรถดังกล่าวเป็นรถยนต์รุ่นเล็กของรถ Fiat Palio ขนาดกลาง และมีกำหนดเปิดตัวในปีนี้ รถใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของเฟี๊ยตในการขยายตลาดอินเดียให้ได้ ๑๐ เท่าในปี ๒๕๕๘ และจะส่งออกไปยังตลาดอื่นในภูมิภาคด้วย และบริษัทเฟี๊ยต-อินเดียยังประกาศอีกว่า ขณะนี้บริษัทชนะการประมูลเพื่อผลิตเครื่องยนต์ดีเซลให้แก่ Maruti Suzuki ภายในประเทศอีกด้วย

ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกา บริษัท Fiat-Chrysler มีสถิติการขายยอดเยี่ยมในสหรัฐฯตลอด ๔ ปี ทั้งนี้บริษัทรถอิตาเลี่ยน-สหรัฐฯ ครองส่วนแบ่งตลาดอเมริกัน ๒๐% ซึ่งแบรนด์อของรถกลุ่มนี้ได้แก่ Chrysler, Jeep, Dodge, Ram Truck และ Fiat ซึ่งมียอดขายสูงขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๕๔ โดยเฉพาะเฟี๊ยตยอดขายเพิ่มสูงขึ้นถึง ๓๓๖%

๙) สมาคมผู้พิมพ์หนังสือพิมพ์อิตาเลี่ยน (FIEG) รายงานว่า คนอิตาเลี่ยนอ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์เพิ่มขึ้น ๕๐% ในช่วงปี ๒๕๕๒-๒๕๕๔ ในปี ๒๕๕๔ ผู้อ่านจำนวน ๖ ล้านคนอ่านข่าวจากเวปเมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๒ ซึ่งมีจำนวน ๔ ล้านคน หนังสือพิมพ์รายวันยังคงมีผู้อ่านอยู่ ๒๒ ล้านคน ในขณะที่นิตยสารรายสัปดาห์มีผู้อ่าน ๓๓ ล้านคน แต่พบว่าหนังสือพิมพ์รายวันมีรายได้จากการขายลดต่ำลง ๒.๒% และการขายโฆษณาลดลง ๕.๗%

๑๐) Mr. Roberto Formigoni ผู้ว่าการแคว้นลอมบาเดีย รายงานจากการประชุม G 8 ว่าสหรัฐอเมริกาจะเข้าร่วมงาน Milan Expo 2015 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าระดับโลก โดยงานดังกล่าวจะเป็นเวทีให้ประเทศต่างๆ ได้แสดงถึงศักยภาพด้านสินค้า วัฒนธรรมและนวัตกรรม ทั้งนี้จะมีการจัดงานเป็นเวลา ๖ เดือนและคาดว่าจะมีผู้เข้าเยี่ยมชมงานกว่า ๒๐ ล้านคน โดยงานในปี ๒๐๑๕ มีหัวข้อว่า ให้อาหารแก่โลก พลังงานเพื่อชีวิต (Feed the Planet, Energy for Life) และใช้ชื่อธีมว่าการอุทิศเพื่อต่อสู้กับความหิวโหยของโลก

๑๑) นายก Mario Monti นายกรัฐมนตรีอิตาลียังคงพยายามที่จะให้สหภาพยุโรปเข้ามาช่วยเหลือส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยได้เสนอแนะมาตรการการยกเว้นภาษีในการลงทุนด้านเทคโนโลยีบางส่วนออกจากงบประมาณที่ขาดดุล อิตาลีก็เหมือนกับประเทศอื่นๆในยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติหนี้ยูโรโซนส่งผลให้อิตาลีประสบปัญธุรกิจล้มละลายและรัฐบาลฉุกเฉินของนาย Monti ได้ตัดงบประมาณและลดค่าใช้จ่ายตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา

๑๒) ในการประชุมหารือของคณะรัฐมนตรีอิตาลีเกี่ยวกับงบประมาณ ๒.๓ พันล้านยูโรสำหรับแผนการป้องกันความยากจนได้จัดสรรงบสำหรับคนชรา เด็กและเยาวชน และการพัฒนาเศรษฐกิจและการวิจัยทางภาคใต้ของอิตาลี โดยเป็นจำนวนเงินกว่า ๗๐๐ ล้านยูโรไปช่วยเหลือผู้สูงอายุและปรับปรุงสถานรับเลี้ยงเด็กในภาคใต้และเพิ่มพื้นที่สำหรับเด็กทารกอีกประมาณ ๑๘,๐๐๐คน เพิ่มเติมอีก ๘๕๐ ล้านยูโร เพื่อการลงทุนเศรษฐกิจที่เสี่ยงตามแคว้นทางภาคใต้ ได้แก่ ซิชิลี คาลาเบรีย อะพูเลีย และ คามปาเนีย ส่วนอีก ๗๔๐ ล้านยูโรไปพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศ และในวันเดียวกันนั้น นาย Olli Rehn รองประธานกรรมาธิการสหภาพยุโรปเพื่อเศรษฐกิจและการเงินกล่าวว่า อิตาลีกำลังอยู่ในช่วงปรับสมดุลงบประมาณในปี ๒๕๕๖ และไม่จำเป็นต้องมีมาตรการเข้มงวดงบประมาณเพิ่มเติม และคาดว่าเศรษฐกิจของอิตาลีควรจะพยุงตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

๑๓) สมาคมท่องเที่ยวอิตาลีรายงานว่า สำหรับในช่วงฤดูร้อนนักท่องเที่ยวอิตาลีจะใช้เวลาวันหยุดท่องเที่ยวใกล้ๆ บ้าน และมีจำนวนลดลง ๗-๑๐% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยประมาณจะมีนักท่องเที่ยว ๓๖ ล้านคนที่ใช้จำนวนวันหยุดน้อยลงและน้อยกว่ากึ่งหนึ่งจะออกไปเที่ยวต่างประเทศ ส่วนกลุ่มผู้บริโภค Federconsumatori รายงานว่า ครอบครัวชาวอิตาเลี่ยนใช้วันหยุดพักผ่อนที่ชายทะเลในช่วงฤดูร้อนมากขึ้น ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายในการไปพักผ่อนที่ชายทะเลต่อ ๑ ครอบครัว (ผู้ใหญ่สองคนและเด็กสองคน) จะอยู่ที่ประมาณ ๗๙ ยูโร เพิ่มขึ้น ๔% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้การเดินทางไปท่องเที่ยวทะเลเป็นผลสะท้อนจากวิกฤติเศรษฐกิจ และค่าน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ๑๙% นับตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ อย่างไรก็ดีกลุ่มผู้ติดตามพฤติกรรมผู้บริโภครายงานว่า คนอิตาเลี่ยน ๖๖% จะยกเลิกประเพณีการพักผ่อนในช่วงฤดูร้อนที่ออกไปท่องเที่ยวไกลจากบ้าน แต่จะเลือกทำกิจกรรมในเมืองในช่วงวันระหว่างอาทิตย์ และออกไปเที่ยวชายทะเลในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์แทน

๒. ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจของอิตาลี สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี ( ISTAT ) รายงานไว้ดังนี้
  • อัตราการว่างงาน ในช่วงเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ ประเมินว่ามีการจ้างงาน ๒๒.๙ ล้านคนลดลง -๐.๒% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งมีอัตราการจ้างงานเท่ากับ ๕๖.๙% โดยอัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นถึง ๒.๕ ล้านคน หรือ ๙.๘% ซึ่งเพิ่มขึ้น +๒.๗% เมือเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น +๒๓.๔% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกับปีก่อนหน้า สำหรับอัตราการว่างงานในกลุ่มวัยรุ่นพบว่า เพิ่มขึ้นถึง ๓๕.๙% ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ หรือ เพิ่มขึ้น ๒% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งทำให้เห็นว่า หนึ่งในสามของกลุ่มวัยรุ่นอายุ ๑๕-๒๔ ปี ไม่มีงานทำและถือเป็นตัวเลขสูงสุดตั้งปี ๒๕๓๕ นายก Monti กล่าวว่า การช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจย่ำแย่ของอิตาลีในตลาดแรงงานด้วยการทำให้ผู้หญิงและคนอายุน้อยสามารถหางานทำได้ง่ายขึ้น

จากรายงานของกระทรวงแรงงานรายงานว่า จำนวนคนอิตาเลี่ยนที่มีงานทำมีจำนวนลดลง ๑ ล้านคนในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา ในขณะที่จำนวนคนต่างชาติที่มาทำงานในอิตาลีเพิ่มขึ้น ๗๕๐,๐๐๐ คน และจากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลีพบว่า จำนวนงานหายไป ๒๕๐,๐๐๐ ตำแหน่ง ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ - ๒๕๕๔ โดยในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ มีคนว่างงาน ๒.๕ ล้านคนในช่วงที่มีวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๔๗ ทั้งนี้มีคนไม่มีงานทำเพิ่มขึ้น ๒๓.๔% ในช่วง ๑๒ เดือนที่ผ่านมา

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของอิตาลี ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ เพิ่มขึ้น +๐.๕ % เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่กลับหดตัวลง ๕.๘% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมของปีก่อนหน้า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้หดตัวลง ๒.๑% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และหดตัว ๕.๘ % เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี ๒๕๕๔ ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ หดตัวลง ๓๒.๑ % เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ และลดลง ๒๖.๑% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีเดียวกัน

ราคาผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้น ๐.๓ % เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น ๒.๗% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

เงินเฟ้อ ในเดือนเมษายน ๒๕๕๕ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น +๐.๕ % เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น ๓.๓ % เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยในเดือนเมษายนนี้พบว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้วถึง ๒๐.๙% ซึ่งป็นราคาที่พุ่งสูงขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๖

GDP ในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๕๕๕ GDP ของอิตาลีลดลง ๐.๘ % เมื่อเทียบกับสามเดือนก่อนหน้านี้ในช่วงปี ๒๕๕๔ และลดลง ๑.๓% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี ๒๕๕๔ ทั้งปี GDP ของอิตาลีตกลงอย่างต่อเนื่องโดยลดลง ๐.๒% ในช่วงไตรมาสที่ ๓ ของปี ๒๕๕๔ และ ๐.๗% ในช่วงไตรมาสที่ ๔ ของปี ๒๕๕๔

จากการนำเสนอการคาดการณ์เศรษฐกิจสหภาพยุโรปของนาย Olli Rehn รองประธานกรรมาธิการสหภาพยุโรปเพื่อเศรษฐกิจและการเงินล่าสุด เห็นได้ว่า GDP ของอิตาลีในปีนี้ลดลง ๑.๔% เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ ๑.๓% ในขณะที่เศรษฐกิจควรจะขยายตัว ๐.๔% ในปี ๕๖ อิตาลีกำลังอยู่ในช่วงปรับสมดุลงบประมาณในปี ๕๖ และไม่จำป็นต้องมีมาตรการเข้มงวดงบประมาณเพิ่มเติม และคาดว่าเศรษฐกิจของอิตาลีควรจะพยุงตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ นาย Olli Rehn กล่าวอีกว่า ยินดีอย่างยิ่งที่ได้ช่วยสนับสนุนเงินทุนให้กับอิตาลีเพราะว่าไม่เพียงแต่จะช่วยให้เศรษฐกิจของอิตาลีฟื้นตัวแต่ยังช่วยประเทศในยูโรโซนอีกด้วย จากรายงานของสหภาพยุโรปกล่าวว่า อิตาลีจะขาดดุลงบประมาณเท่ากับ ๒% ของ GDP และ ๑.๑% ในปี ๕๖ และอัตราการว่างงานในอิตาลีในขณะนี้ทรงตัวที่ ๙.๘% และคาดว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นในปีนี้ ทางด้าน ๑๗ ประเทศในยูโรโซน ต่างก็คาดว่าการขาดดุลงบประมาณจะเท่ากับ ๓.๒% ของ GDP ในปีนี้ และ ๒.๙% ในปี ๕๖ ตามที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้กล่าวมา อัตราการว่างงานจะยังคงสูงขึ้นและกดดันการใช้จ่ายในสหภาพยุโรป ในขณะที่ธนาคารต่างๆจะยังคงเข้มงวดในการให้สินเชื่อต่อไปเพื่อที่จะปรับปรุงงบดุลของตัวเอง

การค้าระหว่างประเทศ ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ อิตาลีส่งออกไปทั่วโลกเพิ่มขึ้น +๑.๗ % เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้เป็นผลจากการส่งออกไปตลาดนอกสหภาพยุโรปที่เพิ่มขึ้น +๔.๑% การนำเข้าลดลง -๑.๙% เนื่องจากลดการนำเข้าลงจากทั้งตลาดในสหภาพยุโรป (-๒.๒ %) และนอกสหภาพยุโรป (-๑.๖ %) ในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๕๕๕ การส่งออกเพิ่มขึ้น ๐.๘% เนื่องจากมีการส่งออกไปตลาดนอกสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น (+๒.๔%) ส่วนการนำเข้าลดลง -๑.๖% โดยลดการนำเข้าจากตลาดยุโรป -๓.๗%

อิตาลีส่งออกไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น +๔.๙ % เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ เนื่องจากมีการส่งออกไปตลาดนอกสหภาพยุโรป (+๑๒.๔ %) และลดการนำเข้าลง -๑๐.๙ % เนื่อจากลดการซื้อจากตลาดในสหภาพยุโรป (-๑๑.๔%) และตลาดนอกสหภาพยุโรป (-๑๐.๓%) ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ อิตาลีได้ดุลการค้ามูลค่า ๒.๑ พันล้านยูโร (มีมูลค่าสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๒) โดยแบ่งเป็น ๑.๖ พันล้านยูโร ในตลาดสหภาพยุโรป และ ๐.๕ พันล้านยูโร ในตลาดนอกสหภาพยุโรป ซึ่งได้ดุลการค้าสินค้าหลังงานมูลค่า ๗.๖ พันล้านยูโร

การส่งออกอาวุธ สำนักนายกรัฐมนตรีรายงานว่า อิตาลีส่งออกอาวุธเพิ่มขึ้น ๕.๒๘ % หรือมีมูลค่า ๓.๐๕๙ พันล้านยูโร ในปี ๒๕๕๔ ในขณะที่นำเข้ามากขึ้นเป็น ๒ เท่า หรือมีมูลค่า ๗๖๐ ล้านยูโร โดยประเทศผู้ซื้ออันดับต้นๆ ได้แก่ อัลจีเรีย (๔๗๗ ล้านยูโร) สิงคโปร์ (๓๙๕ ล้านยูโร) ตุรกี (๑๗๐ ล้านยูโร) ซาอุดิอาราเบีย (๑๖๖ ล้านยูโร) ฝรั่งเศส (๑๖๐ ล้านยูโร) สหรัฐอเมริกา (๑๓๔ ล้ายูโร) และเยอรมัน (๑๓๓ ล้านยูโร) ส่วนประเทศที่ส่งสินค้าอาวุธมายังอิตาลี ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอณาจักร และเยอรมัน

คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมลดลง ๑๔.๓% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นสถิติที่ต่ำที่สุด นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๕๒ แต่เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ เพิ่มขึ้น ๓.๕% ทั้งนี้สำนักงานสถิติฯ กล่าวว่า เนื่องจากความต้องการภายในประเทศลดต่ำลงซึ่งเป็นปัจจัยหลัก จึงส่งผลต่อคำสั่งซื้อและอัตราหมุนเวียนภาคอุตสาหกรรมลดลง

๓. สถานการณ์ส่งออก

ในช่วง ๔ เดือนแรก (ม.ค. - เม.ย.) ของปี ๒๕๕๕ ไทยส่งออกสินค้ามายังอิตาลีทั้งสิ้น ๕๐๒.๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๖๘๕.๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น -๒๖.๗๑% โดยมีสินค้าส่งออก ๕ อันดับแรก ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ๕๙.๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๑๐.๖๗%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ๕๕.๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๒๓.๒๖%) ยางพารา ๓๖.๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๕๐.๒๒%) ปลาหมึกสดแช่เย็น แช่แข็ง ๓๔.๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๑๖.๔๙%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ๒๗.๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (๗๖.๗๔%)

ข้อมูลการนำเข้าล่าสุด (มค. - ก.พ. ๒๕๕๕) ของ WTA ปรากฏว่าอิตาลีนำเข้าจากทั่วโลกมีมูลค่า ๘๔,๓๕๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -๔.๐๘% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนซึ่งมีมูลค่า ๘๗,๙๔๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศที่อิตาลีนำเข้ามาก ๕ อันดับแรก ได้แก่ เยอรมัน (มูลค่านำเข้า ๑๒,๐๖๒ ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน ๑๔.๓๐%) ฝรั่งเศส (มูลค่า ๖,๙๐๙ ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน ๘.๑๙%) จีน (มูลค่า ๕,๘๙๓ ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน ๖.๙๙%) เนเธอร์แลนด์ (มูลค่า ๔,๓๗๔ ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน ๕.๑๙%) รัสเซีย (มูลค่า ๔,๒๑๘ ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน ๕.๐๐%)

ประเทศอิตาลีนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ แซมเบีย (+๓๖๔.๒๑%) กานา (+๓๑๗.๑๘%) สาธารณรัฐโดมินิกัน (+๒๗๔.๑๓%) แองโกลา (+๒๐๓.๒๑%) คาซักสถาน (+๑๓๖.๗๐%) ซึ่งส่วนใหญ่กว่าร้อยละ๙๐ เป็นการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และสินแร่

ประเทศคู่แข่งอื่นๆ ที่สำคัญได้แก่ อินเดีย (มูลค่า ๙๒๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๑.๑๐%) ญี่ปุ่น (มูลค่า ๘๕๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๑.๐๒%) เกาหลีใต้ (มูลค่า ๖๖๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๗๘%) อินโดนีเซีย (มูลค่า ๔๕๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๕๔%) ไต้หวัน (มูลค่า ๓๖๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๔๔%) และเวียดนาม (มูลค่า ๓๘๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๔๖%) โดยไทยเป็นอันดับที่ ๕๓ มูลค่า ๒๔๘ ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน ๐.๓๐%

๔. วิเคราะห์แยกรายสินค้าที่มีการส่งออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ได้ดังนี้

๔.๑ อัญมณีและเครื่องประดับ

การส่งออกในช่วง ๔ เดือนแรก (ม.ค. - เม.ย.) ของปี ๒๕๕๕ มีมูลค่า ๕๙.๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๖๖.๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น -๑๐.๖๗% แต่หากพิจารณาเป็นรายเดือนพบว่ามีมูลค่า ๖.๙๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -๔๓.๗๖ % เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าซึ่งมีมูลค่า ๑๒.๔๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจาก

(๑)เป็นสินค้าที่มีราคาแพงและถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งผู้บริโภคอิตาลี นิยมซื้อในโอกาสพิเศษและเทศกาล เช่น คริสต์มาส วันวาเลนไทน์ และการฉลองทางศาสนาในช่วงฤดูใบไม้ผลิ โดยเห็นได้จากการส่งออกของไทยในเดือนมกราคม และเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ ที่สูงขึ้นถึง ๔๘๒.๔๒ % และ ๑๑๕.๓๕% ตามลำดับ ในขณะที่เดือนกุมภาพันธ์ลดลง -๘๒.๙๙%

(๒)ราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาทองคำต่อกรัม ส่งผลให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อลง (๓)ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของอิตาลี จำเป็นต้องพยายามลดมาร์จินกำไร โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าสำหรับลูกค้าระดับกลาง และไม่สามารถตั้งราคาสินค้าให้สูงขึ้นเนื่องจากจะเสี่ยงต่อยอดขายที่ตกลงไปเป็นศูนย์เลยก็ได้

(๔)การนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับของอิตาลีประมาณร้อยละ ๗๕ เป็นการนำเข้าประเภทกึ่งสำเร็จรูปและกระจุกอยู่เมืองหลัก ๔ เมืองได้แก่ มิลาน (๓๐%) อะเล็ซซานเดรีย (๓๐ %) โรม (๘ %) และวิเชนซ่า (๘ %) ประเทศที่อิตาลีนำเข้าสำคัญคือ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป โดยเฉพาะสวิสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา

(๕)ข้อมูลการนำเข้าล่าสุดจาก WTA ในเดือน ม.ค. - ก.พ. ปี ๒๕๕๕ ไทยครองตลาดอันดับที่ ๒๒ (สัดส่วน ๐.๖๐ %) โดยประเทศที่อิตาลีนำเข้า ๕ อันดับแรกได้แก่ สวิสเซอร์แลนด์ (สัดส่วนนำเข้า ๒๒.๑๘ %) ฝรั่งเศส (๑๕.๐๓%) สหรัฐอเมริกา (๙.๐๙%) เบลเยี่ยม (๙.๐๐%) และแอฟริกาใต้ (๘.๒๓%)

ประเทศคู่แข่งที่สำคัญได้แก่ จีน (อันดับที่ ๑๑ สัดส่วนนำเข้า ๑.๙๗ %) อินเดีย (อันดับที่ ๑๔ สัดส่วนนำเข้า ๑.๒๐%)

ประเทศอิตาลีนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ โปรตุเกส (+๔,๑๓๒.๘๐%) โปแลนด์ (๒,๐๐๐.๒๗ %) เม็กซิโก (+๕๔๓.๖๓%) แคนาดา (+๑๕๐.๙๕%) เบลเยี่ยม (+๕๔๓.๖๓%) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบทองและเงิน

๔.๒ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ

การส่งออกในช่วง ๔ เดือนแรก (ม.ค. - เม.ย.) ของปี ๒๕๕๕ มีมูลค่า ๕๕.๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๗๑.๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น -๒๓.๒๖% เนื่องจาก

(๑)เครื่องปรับอากาศถือเป็นสินค้าที่ได้รับอิทธิพลจากสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในอิตาลีเริ่มไม่มีความแน่นอนมากขึ้น สินค้าเครื่องปรับอากาศและพัดลมเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคจะหาซื้อในช่วงหน้าร้อนที่มีอากาศร้อนมากๆ

(๒)สินค้าเครื่องปรับอากาศเป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสภาวะเศรษฐกิจและระดับเงินเดือน เนื่องจากผู้บริโภคยังมองว่าเป็นสินค้าที่ไม่จำเป็น

(๓)ปัจจุบันบริษัทผลิตเครื่องปรับอากาศในอิตาลี จึงย้ายฐานการผลิตไปยังจีนมากขึ้น ทำให้จีนครองตลาดเป็นอันดับที่หนึ่ง

(๔)ข้อมูลการนำเข้าล่าสุดจาก WTA ในเดือน ม.ค. - ก.พ. ปี ๒๕๕๕ ไทยครองตลาดอันดับที่ ๕ (สัดส่วน ๘.๒๖%) โดยประเทศที่อิตาลีนำเข้า ๕ อันดับได้แก่ จีน (สัดส่วน ๒๓.๒๗%) สาธารณรัฐเชค (๑๗.๒๕ %) ญี่ปุ่น (๙.๔๘%) เยอรมัน (๙.๔๐%) และไทย (๘.๒๖%)

ประเทศคู่แข่งสำคัญได้แก่ จีน (สัดส่วน ๒๓.๒๗ %) ญี่ปุ่น (๙.๔๘ %) ฮังการี (๒.๕๓ %) และมาเลเซีย (๓.๑๐%)

ประเทศอิตาลีนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ สวีเดน (+๓๐๑.๘๙%) อียิปต์ (+๒๑๗.๓๘%) อาร์เจนตินา (+๑๘๖.๔๗%) เยอรมัน (+๑๕๓.๗๕%) และเม็กซิโก (+๑๐๒.๙๔%)

๔.๓ ปลาหมึกสดแช่เย็น แช่แข็ง

การส่งออกในช่วง ๔ เดือนแรก (ม.ค. - เม.ย.) ของปี ๒๕๕๕ มีมูลค่า ๓๔.๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๔๑.๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ -๑๖.๔๙% เนื่องจาก

(๑)ผลจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรปส่งผลต่อรูปแบบการซื้อสินค้าของคนอิตาเลี่ยนในช่วงปีที่ผ่านมา และผลักดันให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารกระป๋องและสินค้าอาหารที่มีราคาถูกลง แต่อย่างไรก็ดี ความสะดวกในแง่ของความง่ายต่อการรับประทานและประหยัดเวลายังคงเป็นปัจจัยหลังในการตัดสินใจซื้อที่มีความสำคัญอยู่

(๒)ความต้องการภายในประเทศค่อนข้างคงที่ โดยผู้บริโภคอิตาลีได้ลดความถี่และค่าฉลี่ยในการซื้ออาหารต่อครั้งลง ทั้งนี้สมาคมเกษตรกร Coldiretti ได้รายงานว่า คนอิตาเลียนหันกลับมาทานพาสต้ามากขึ้นเนื่องจาก ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จึงต้องกินอาหารดั้งเดิมและราคาถูกบ่อยขึ้นแทน ทำให้มูลค่าการค้าพาสต้าเพิ่มขึ้น ๔.๗% ในช่วง ๓ เดือนแรกของปี ๒๕๕๕ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

(๓)จากสถิติการนำเข้าของ WTA ล่าสุดในเดือน ม.ค. - ก.พ. ของปี ๒๕๕๕ ไทยครองตลาดอันดับที่ ๑๓ (มูลค่า ๑๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๒.๗๓%) อิตาลีนำเข้าจากประเทศ ๕ อันดับแรกได้แก่ สเปน (มูลค่า ๑๑๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๑๙.๕๔%) เนเธอร์แลนด์ (มูลค่า ๕๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๙.๖๐ %) ฝรั่งเศส (มูลค่า ๕๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๙.๖๐%) เดนมาร์ค (มูลค่า ๔๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๖.๖๗%) กรีซ (มูลค่า ๓๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๖.๓๔%)

ประเทศคู่แข่งสำคัญได้แก่ เวียดนาม (สัดส่วน ๓.๑๑ %) เอกวาดอร์ (สัดส่วน ๒.๙๓ %) อินเดีย (สัดส่วน ๒.๘๓%) และอินโดนีเซีย (สัดส่วน ๒.๔๖%)

ประเทศอิตาลีนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ โปแลนด์ (+๙๙.๑๕%) มัลดีฟส์ (+๖๑.๓๔%) เบลเยี่ยม (+๕๐.๕๐%) โครเอเชีย (+๔๙.๖๔%) และซีนีกัล (+๔๑.๕๙%)

๕. ข้อคิดเห็น

สินค้าที่คาดว่ายังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ได้แก่

  • อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ปลา/ปลาหมึก/กุ้ง สด แช่เย็น แช่แข็งเนื่องจากคนอิตาเลี่ยนนิยมรับประทานอาหารเบาๆ ในช่วงฤดูร้อน เช่นสลัดทูน่า เป็นต้น โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจถดถอยคนอิตาเลี่ยนต้องประหยัดค่าใช้จ่าย จึงหันมาซื้อปลากระป๋องมากขึ้นด้วย
  • รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เนื่องจากเข้าฤดูใบไม้ผลิและอากาศที่อบอุ่นขึ้น ทำให้คน อิตาเลี่ยนหันมาใช้รถจักรยานยนต์มากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรติดขัด
  • รถจักรยาน นายกรัฐมนตรีนายมอนติให้การสนับสนุนอย่างยิ่งที่ปรับปรุงการขี่จักรยานในอิตาลี และกล่าวว่าอิตาลีต้องให้ความสำคัญต่อการคมนาคมด้วยการใช้จักรยาน เนื่องจากประเทศอื่นๆ ในยุโรปก็ระดมกองทุนเพื่อโครงการต่างๆที่เชื่อมโยงกับเส้นทางการเดินทางโดยรถจักรยานเช่นกัน และทางรัฐบาลเองก็มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมนโยบายการคมนาคมด้วยรถจักรยาน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาวะเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุแล้วยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและในแง่ทางด้านเศรษฐกิจด้วย

สำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโรม

๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ