ศักยภาพด้านพลังงานทดแทนของสเปน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 30, 2012 14:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ศักยภาพด้านพลังงานทดแทนของสเปน

จากการศึกษาของสมาคมผู้ผลิตพลังงานทดแทนแห่งสเปน( Association of Renewable Energy Producers หรือ APPA) ประเด็นศักยภาพอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนในสเปนเมื่อปี ๒๕๕๔ ระบุว่า สเปนมีความก้าวหน้าในสาขานี้ในระดับนำของโลกและยังส่งผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของสเปนอย่างเป็นรูปธรรมในรอบ ๕ ปีที่ผ่านมา โดยการเจริญเติบโตที่ผ่านมาส่งผลให้บริษัทและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญของสเปนที่ประกอบกิจการด้านนี้ได้ผันตัวเองเข้าสู่การเป็นผู้นำในระดับนานาชาติ

ตลอดระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมา (พ.ศ. ๒๕๕๐ - ๒๕๕๔) อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนของสเปนได้มีสัดส่วนในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสเปน ร้อยละ ๐.๙๔ ของ GDP คิดเป็นมูลค่า ๑๐,๐๐๐ ล้านยูโร หรือ ๔๐๐,๐๐๐ ล้านบาท การพัฒนาของอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนของสเปนเป็นไปในทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการผลิต จนถึงการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ และในอุตสาหกรรมนี้มีการจ้างงานจำนวนมากกว่า ๑๐๗,๐๐๐ ตำแหน่ง

สเปนสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้ถึงร้อยละ ๒๑.๘ จากปริมาณการบริโภคไฟฟ้าทั้งประเทศ คิดเป็นปริมาณการผลิตถึง ๖๐,๐๑๒ GWh ในปี ๒๕๕๔

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมนี้ยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศสเปนในด้านการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ส่งผลให้สเปนสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยสามารถประหยัดเชื้อเพลิงมูลค่าสูงถึง ๒,๔๘๔ ล้านยูโรในปี ๒๕๕๐ และสูงถึง ๑๑,๑๖๘ ล้านยูโร ในปี ๒๕๕๔ นอกจากนี้การศึกษาครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นมาจากพลังงานทดแทนนั้นน้อยกว่าค่าเฉลี่ยการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของต้นทุนทั้งหมดจากผู้ผลิตไฟฟ้าและจากราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น

ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของสเปนต่ออุตสาหกรรมพลังงานทดแทน

ถึงแม้ว่าการมีอัตราส่วนของการใช้พลังงานทดแทนต่อ GDP จะเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของสเปนและยุโรปได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมนี้ไม่น้อย ในส่วนของภาคการผลิตได้เผชิญกับปัญหาการลดปริมาณของธุรกิจ ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม ทั้งในด้านรายได้ซึ่งลดลงอย่างมาก อีกทั้งยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติของบริษัทสเปน นอกจากนี้ในส่วนของการจ้างงาน อุตสาหกรรมนี้ยังได้ปลดพนักงานออกไปมากกว่าห้าพันตำแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจผลิตอุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมไปถึงการให้บริการต่างๆ

สถานการณ์ปัจจุบันของสาขาพลังงานทดแทน

สาขาพลังงานทดแทนของสเปนยังคงมีอัตราการเจริญเติบโตในสภาวะวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบัน จากผลการสำรวจข้อมูลของสถาบันสถิติแห่งชาติสเปนเกี่ยวกับผลผลิตในด้านพลังงาน แสดงให้เห็นว่าผลผลิตพลังงานที่ได้มาจาก คาร์บอน ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ พลังน้ำ และ พลังงานนิวเคลียร์ได้มีปริมาณลง ขณะที่ปริมาณการผลิตของพลังงานลมและแสงอาทิตย์ได้มีการพัฒนาในเชิงบวกและเจริญเติบโตถึงร้อยละ ๗ ในปี ๒๕๕๔

พลังงานลมมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศสเปน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนแหล่งผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในด้านนี้ ทำให้ประเทศสเปนสามารถเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านการผลิตพลังงานลม โดยในปี ๒๕๕๔ พลังงานลมสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อสนองการบริโภคไฟฟ้าภายในประเทศได้ถึงร้อยละ ๑๖ โดยมีโรงงานที่สามารถผลิตพลังงานได้มากว่า ๒๑,๖๐๐ MW นอกจากนี้ ได้มีการติดตั้งแหล่งพลังงานลมใหม่เพิ่มขึ้นถึง ๑,๐๕๐ MW ซึ่งเป็นการขยายตัวร้อยละ ๕.๑ จากปี ๒๕๕๔ถึงแม้ว่าตัวเลขการขยายตัวครั้งนี้จะเป็นตัวเลขที่ค่อยข้างน้อยเมื่อเทียบกับหลายๆปีที่ผ่าน แต่ก็ยังแสดงให้ว่ามีพัฒนาการในทางบวกในสาขาพลังงานนี้ นอกจากนี้สเปนยังครองอันดับสองในกลุ่มสหภาพยุโรป (๒๗) สำหรับประเทศผู้ผลิตพลังงานลม และครองอับดับสี่ในระดับโลก ตามหลังประเทศ จีน สหรัฐอเมริกาและเยอรมัน ตามลำดับ

ในสาขาพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ (Photovoltaic Energy) ได้มีการพัฒนาค่อนข้างสูง ทำให้อุตสาหกรรมเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สเปนกลายเป็นประเทศที่มีแหล่งผลิตพลังงานชนิดนี้มากที่สุดในโลก แต่อย่างไรก็ตาม สืบเนื่องมาจาก กฎหมายพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ ๑๕๗๘/๒๐๐๘ เกี่ยวกับเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีผลกระทบต่อการจัดสรรโควต้าการผลิตประจำปีของผู้ประกอบการในสเปนที่น้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดเจริญเติบโตที่หดตัวลงในอุตสาหกรรมนี้และทำให้เกิดความเสี่ยงที่สเปนจะสูญเสียความเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีนี้

สำหรับด้านพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ (Solar Thermal Energy) ในปัจจุบันได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากนักธุรกิจที่มีโครงการสร้างแหล่งผลิตมากกว่าพันเมกะวัตต์ในอนาคต ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมในสาขานี้ของประเทศสเปนจะไม่ได้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างที่มีการคาดการณ์ไว้ เนื่องจากว่าเป็นเทคโนโลยีที่ต้องการการลงทุนในการผลิตที่ค่อนข้างสูงเพราะต้องมีการรับรองจากกฎหมายที่แน่ชัดและยั่งยืนสำหรับสาขานี้ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการก่อตั้งแหล่งผลิตที่มีกำลังขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ปัญหาอุปสรรค
  • มาตรการปรับลดการสนับสนุนด้านการเงินจากภาครัฐต่อการวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ เป็นต้นไปส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาการโครงการ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับอนาคตของสาขานี้
  • อุปสรรคเรื่องการดำเนินงานเกี่ยวกับเรื่องการขอใบอนุญาตประกอบการ , หนังสือรับรอง,หรือ ใบอนุญาตต่างๆ อย่างเข้มงวด เป็นส่วนหนึ่งที่กีดขวางการเจริญเติบโต
  • กรณีของไบโอดีเซล ที่ถูกกำหนดโควตาการนำเข้าจากประเทศนำเข้าหลักหลายประเทศ ส่งผลให้โรงงานภายในประเทศไม่สามารถแข่งขันได้
  • การเข้าถึงตลาดต่างประเทศยังคงมีน้อย โดยเฉพาะประเทศในเอเชียซึ่งสเปนยังคงมีความร่วมมือค่อนข้างน้อย
ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม
  • สเปนมีศักยภาพในด้านสูงในด้านพลังงานทดแทนโดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งสเปนมีเทคโนโลยีและความสามารถในการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จึงนับเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำในสาขานี้ในระดับนานาชาติ
  • สำนักงานฯได้ร่วมกับสถานเอกอัคคราชทูตไทย ณ กรุงมาดริดจัดคณะผู้แทนบริษัทเอกชนของสเปนใน อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจำนวน ๔ บริษัทเดินทางสร้างเครือข่ายธุรกิจในประเทศไทยระหว่างวันที่ ๑๑-๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๕

แหล่งข้อมูล: สมาคมผู้ผลิตพลังงานทดแทนแห่งสเปน ( Association of Renewable Energy Producers หรือ APPA)

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ