Graphic of the Americas งานแสดงสินค้าสำหรับการขยายตลาดสิ่งพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 10, 2009 14:40 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี ได้ศึกษากิจกรรมส่งเสริมการตลาดอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาที่เหมาะสมสำหรับการเปิดตลาดใหม่ และการเจาะตลาดประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอเมริกากลาง-ใต้และแคริบเบียนแล้วเห็นว่างาน Graphics of the Americas เป็นงานที่ผู้ประกอบการธุรกิจสิ่งพิมพ์น่าจะให้ความสนใจ จึงขอนำข้อมูลมาเสนอให้ทราบ ประกอบกับข้อพิจารณาของสำนักงานฯ ดังต่อไปนี้

1. ลักษณะของงาน :

Graphic of the Americas หรือ GAO เป็นงานแสดงสินค้าผนวกกับการนำเสนอทางวิชาการเกี่ยวกับธุรกิจการพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา เปิดสำหรับนักธุรกิจโดยเฉพาะไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม จัดขึ้นปีละครั้งโดยปกติจะอยู่ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี การจัดงานในปี 2553 จะเป็นโอกาสพิเศษเพื่อฉลองครบรอบ 35 ปีของการจัดงาน

2. ผู้จัด :

Printing Association of Florida 3. ขนาดของงาน :

พื้นที่จัดแสดงสินค้าและบริการรวม 250,000 ตารางฟุต (ระหว่างปี 2551-53)

4. สถานที่จัดงาน :

Miami Beach Convention Center มลรัฐฟลอริดา ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานแสดงสินค้าและการประชุมที่สำคัญของฟลอริด้าภาคใต้ งาน Graphics of the Americas ได้จัดขึ้น ณ ที่แห่งนี้มานานกว่า 10 ปี ต่อเนื่องกัน

5. ผลการจัดงานปี 2552

5.1 ในปี 2552 งาน GOA ได้รับการจัดลำดับให้เป็นงานแสดงสินค้าที่สำคัญอันดับที่ 98 ของสหรัฐฯ จากการจัดทำเนียบรายชื่องานแสดงสินค้าของบริษัท The Trade Show 200

          - ผู้เข้าร่วมงาน                     367 ราย
          - ผู้เข้าชมงาน                    9,500 ราย
          - ผู้เข้าสัมนา                     1,200 ราย

5.2 ผู้เข้าร่วมงาน

ผู้แสดงสินค้าประกอบด้วย ผู้ผลิตและผู้ให้บริการในประเทศสหรัฐอเมริกาและจากต่างประเทศจำนวน 367 บริษัท ในธุรกิจสาขาต่อไปนี้

  • ผู้ให้บริการงานพิมพ์เชิงพาณิชย์
  • ผู้ให้บริการด้านการออกแบบ
  • ผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ เครื่องมือและวัสดุที่ใช้ในอุตสาหกรรมการพิมพ์และการออกแบบ
  • ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์
  • ผู้ให้บริการงานหลังการพิมพ์ Mailing & Fulfillment Companies
  • สถาบันการศึกษา

5.3 ผู้เข้าชมงาน

จากรายงานของปี 2552 มีผู้เข้าชมงานทั้งสิ้นจำนวนประมาณ 9,500 คนจาก 78 ประเทศ โดยเป็นผู้เข้าชมงานจากในสหรัฐฯ ร้อยละ 66 และผู้เข้าชมงานจากต่างประเทศร้อยละ 34 เช่นเม็กซิโก แคนาดา โคลัมเบีย เวเนซูเอล่า และประเทศในหมู่เกาะแคริบเบียน

ข้อมูลผู้เข้าชมงานจำแนกตามการประกอบธุรกิจ ครอบคลุมบุคคลในสาขาอาชีพต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. จำแนกตามกลุ่มธุรกิจของผู้เข้าชมงาน

2. จำแนกตามสถานะและตำแหน่งหน้าที่ของผู้เข้าชมงาน

3. จำแนกตามที่ตั้งของธุรกิจทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศใกล้เคียง

5.4 กิจกรรมพิเศษ

มีการจัดสัมนาจำนวน 53 เรื่องในระหว่างการจัดงาน โดยเชิญผู้บรรยายที่มีประสบการณ์และมีชื่อเสียง ผู้ที่ได้รับรางวัลจากสถาบันต่างๆ โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจเช่น

  • Marketing to Latin Market
  • Direct Marketing Magic in a Multi-Channel Communication World
  • Using Print Design Skill on the Web
  • Web-to-Print Solutions
  • Stop Losing Job to Lower Prices
  • Increasing Productivity without Spending (Much) Money
  • Calculating Budgeted Hourly Rates
  • Trend Vision: The Future of Print
  • Future Issues & Opportunities in Inkjet Printing
  • Green Ink — It’s the Little Things that count
  • การสัมนาบางหัวข้อมีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาสเปน
6. การจัดงานในปี 2553

ระยะเวลา : 25-27 กุมภาพันธ์ 2553

สถานที่ : Miami Beach Convention Center มลรัฐฟลอริดา

กิจกรรมพิเศษ

  • International Buyers Program สนับสนุนโดยกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ เพื่อประชาสัมพันธ์และจับคู่นัดหมายผู้ซื้อจากต่างประเทศกับผู้แสดงสินค้าและบริการในงาน GOA ล่วงหน้าก่อนเดินทางมาชมงาน โดยดำเนินงานผ่านทางสำนักงานการค้าของสหรัฐฯ ในกลุ่มประเทศอเมริกากลาง/ใต้และแคริบเบียน รวมทั้งในรัฐอื่นๆ ของสหรัฐฯ เองด้วย
  • การจัดสัมนาเกี่ยวกับเทคโนโลยีล่าสุด และแนวโน้มการทำธุรกิจในวงการการผลิตสิ่งพิมพ์และสื่อการตลาดซึ่งในปี 2553 จะให้ความสำคัญกับเรื่องของเทคโนโลยีการพิมพ์และการออกแบบที่ใช้ในการพิทักษ์และป้องกันการลอกเลียนแบบหรือปลอมแปลงสินค้า (Brand Protection) และการพัฒนาในอุตสาหกรรม Security Printing ซึ่งจะเป็นข้อกำหนดใหม่ที่ผู้ผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้กับสินค้าที่ส่งมายังสหรัฐฯ จะต้องรับไปปฏิบัติให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า
7. ความเห็นและข้อพิจารณา

7.1 งาน Graphics of the Americas (GOA) เป็นงานที่มีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมธุรกิจการพิมพ์รวมทั้งธุรกิจบริการออกแบบและกระบวนการผลิตงานพิมพ์ทั้งก่อนและหลังขั้นตอนของการพิมพ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของบุคคลในวงการ ที่ถือว่าธุรกิจบริการการออกแบบเป็นปัจจัยต้นน้ำของธุรกิจบริการการพิมพ์ นอกจากนั้นค่านิยมในสังคมธุรกิจการพิมพ์ของอเมริกา ให้ความสำคัญต่อความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินและนักออกแบบมาก เพราะผลงานที่ดีจะมีผลต่อการโน้มน้าวความคิดของผู้ที่ได้รับรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อโฆษณาหรือสื่อประชาสัมพันธ์ที่สร้างขึ้นเพื่อการตอบรับทางบวกจากกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้นการผลิตงานที่สามารถถ่ายทอดความคิดของนักออกแบบได้ตามที่คาดหวัง จึงเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการที่ต้องการอยู่ในระดับแนวหน้า จึงมีความจำเป็นต้องติดตามนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในการผลิตและการให้บริการแก่ลูกค้า

7.2 วิวัฒนาการของธุรกิจการพิมพ์ มิได้ครอบคลุมอยู่เพียงเฉพาะการทำให้เกิดผลงานในเชิงวัตถุแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังขยายขอบเขตไปถึงการให้บริการหลังงานพิมพ์อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการบริการลูกค้าและจัดการด้านโลจิสติกส์อย่างกว้างขวาง ผู้ทำธุรกิจบริการการพิมพ์จึงต้องแข่งขันกันในเรื่องของการให้บริการด้านโลจิสติกส์และ Supply Chain แก่ลูกค้าด้วย

7.3 สหรัฐอเมริกานำเข้าสิ่งพิมพ์ (พิกัดศุลกากร 49) ในปี 2008 มีมูลค่ารวม 5,070.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการนำเข้าจากไทย 22.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (มูลค่าเป็น CIF) คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 0.44 ของยอดรวมมูลค่านำเข้า ในขณะที่เมื่อตรวจสอบมูลค่าส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ในปี 2551 (2008) มีมูลค่ารวม 14.570 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (มูลค่าเป็น FOB และมีความเหลื่อมของระยะเวลาขนส่ง) คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดส่งออกร้อยละ 1.00 ของยอดรวมการส่งออกของไทย ทั้งนี้มูลค่าการผลิตสิ่งพิมพ์ในประเทศสหรัฐอเมริกามีมากกว่าปีละ 100 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

7.4 อุตสาหกรรมการพิมพ์ของไทย มีศักยภาพสูงเมื่อพิจารณาจากการลงทุนในเทคโนโลยีที่ทันสมัยและการมีช่างฝีมือที่มีความพิถีพิถันซึ่งเป็นอุปนิสัยพื้นฐานของคนไทย ประกอบกับความต้องการของตลาดที่จะลดต้นทุนการผลิตสิ่งพิมพ์ ทำให้มีโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายตลาดมายังสหรัฐอเมริกาอยู่และจะทำธุรกิจกับผู้ซื้อสหรัฐฯ โดยตรงได้มากขึ้นหากมีการปรับกลยุทธ์การตลาด

การศึกษาตลาดจากสถิตินำเข้าสิ่งพิมพ์ของสหรัฐฯ เปรียบเทียบกับสถิติการส่งออกของสิ่งพิมพ์ของไทยไปยังสหรัฐฯ ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า สิ่งพิมพ์ที่ส่งมายังสหรัฐฯ เป็นงานที่ได้รับคำสั่งซื้อหรือจ้างพิมพ์จากลูกค้าทั้งหมด เพราะตัวเลขมูลค่าในหมวดพิกัดศุลกากร 4901 และ 4902 ได้รวมหนังสือวารสารของไทยหรือสิ่งพิมพ์ของไทยไว้ด้วย อย่างไรก็ตามอาจคาดการณ์ได้ว่า หมวด 4903 ซึ่งเป็นหนังสือสำหรับเด็กเป็นกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพสำหรับการขยายตลาดในสหรัฐฯ และยังเป็นกลุ่มสินค้าที่ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจจะทำให้การขยายตัวมีอัตราลดลงเมื่อเทียบกับช่วงปีที่ผ่านมาการผลิตหนังสือสำหรับเด็กมักจะต้องมีการใช้เทคนิคพิเศษเพื่อทำให้สวยงามและเพิ่มความตื่นเต้นน่าสนใจสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งกระบวนการที่จะต้องทำเพิ่มขึ้นจากการพิมพ์ ต้องใช้แรงงานที่มีฝีมือจึงทำให้ไทยยังส่งออกได้ดี การเพิ่มเทคนิคพิเศษในงานพิมพ์จึงเป็นจุดแข็งที่สมควรนำมาพิจารณาพัฒนาผลิตภัณฑ์งานพิมพ์อื่นๆ ให้มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นเป็นการหลีกหนีจากตลาดงานพิมพ์พื้นฐานทั่วไป

นอกจากนั้นการผลิตงานในขั้นก่อนการพิมพ์ในสหรัฐฯ มีต้นทุนสูงมาก ผู้ประกอบการไทยในสาขานี้ ควรให้ความสนใจและเร่งปรับแผนการทำธุรกิจเพื่อการส่งออกบริการดังกล่าวในรูปแบบของการทำ Production Sharing ก่อนที่ประเทศเพื่อบ้านในเอเชีย จะรุกเข้าครอบครองตลาดจนลูกค้ามาไม่ถึงไทย

7.5 ผู้ประกอบการของไทยที่ประสงค์จะขยายตลาดสหรัฐฯ อาจจะพิจารณา ใช้งาน Graphics of the Americas เป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์กับนักธุรกิจในสหรัฐฯ ด้วยการเข้าชมงานและเข้าร่วมสัมนาในงานที่จะจัดขึ้นครั้งต่อไป ระหว่างวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ 2553 ในโอกาสดังกล่าวจะได้พบกับบุคคลในสาขาอาชีพออกแบบและผลิตงานพิมพ์ทุกขั้นตอนที่เป็นผู้แสดงสินค้าและผู้เข้าชมงานจากทั้งภายในประเทศสหรัฐฯ และจากประเทศกลุ่มอเมริกากลาง-ใต้และแคริบเบียน ที่ให้ความสนใจการซื้อบริการงานพิมพ์จากสหรัฐฯ ตลอดจนโอกาสที่จะได้ติดตามแนวโน้มและฐานคติใหม่ๆ ของการทำธุรกิจกับตลาดสหรัฐฯ อีกด้วย รายละเอียดของงานจะศึกษาเพิ่มเติมได้จาก www.graphicsoftheamericas.com

Thai Trade Center — Miami

Email: ttcmiami@earthlink.net

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ