รายงานภาวะตลาดสินค้าน้ำตาลในภูมิภาคอเมริกากลาง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 9, 2010 15:27 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1) การพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลในกลุ่มประเทศอเมริกากลาง

ประเทศนิคารากัวเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอเมริกากลางที่เริ่มการผลิตน้ำตาลในภูมิภาคอเมริกากลาง เป็นเวลามาร้อยปีตั้งแต่ปี 2423 (คศ. 1880) และการเพาะปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลในภูมิภาคอเมริการกลางได้ขยายตัวไปยังประเทศกัวเตมาลา คอสตาริกา เอลซาวาดอร์ และฮอนดูรัส อย่างรวดเร็วในระยะเวลา 10 ปีต่อมา ในช่วงระยะปี 2523-2533 การผลิตน้ำตาลในภูมิภาคอเมริกากลางได้ขยายตัวมากขึ้น โดยในปี 2538 กลุ่มประเทศอเมริกากลางมีผลผลิตน้ำตาลรวมประมาณ 3 ล้านตัน โดยมีสัดส่วนการบริโภคภายในประเทศประมาณร้อยละ 46 และส่งออกส่วนที่เหลือ

ตลาดน้ำตาลในกลุ่มประเทศอเมริกากลางเป็นตลาดที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาล โดยรัฐบาลเป็นผู้กำหนดโควต้าการผลิตรายปีให้กับโรงผลิตน้ำตาลแต่ละราย แต่การกระจายสินค้าเป็นความรับผิดชอบของโรงงานผู้ผลิตน้ำตาล ซึ่งเป็นรับทำการขายส่งไปยังตลาดย่อย ๆ ในปี 2537 โรงงานผู้ผลิตน้ำตาลได้เริ่มใช้ระบบการจ่ายเงินค่าปลูกอ้อยให้แก่ผู้ปลูก โดยจ่ายค่าการปลูกอ้อยตามคูณภาพของผลผลิตน้ำตาลที่ได้จากผลผลิตอ้อย ได้มีผลในการเพิ่มคุณภาพผลผลิตอ้อย และเพิ่มการผลิตน้ำตาลได้มากขึ้น

กลุ่มประเทศอเมริกากลางพึ่ง การส่งออกน้ำตาลภายใต้ระบบโควต้าสิทธิพิเศษ (TQR)ของสหรัฐฯ เป็นกลไกสำคัญสำหรับตลาดการส่งออกน้ำตาล

2) ประเทศกัวเตมาลา

ประเทศกัวเตมาลาผลิตน้ำตาลในปี 2552 ได้ 2.25 ล้านตัน เป็นผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 4 ในกลุ่มละตินอเมริกาทั้งหมด และส่งออกได้ประมาณ 1.5 ล้านตัน เป็นผู้ส่งออกอันดับ 4 ของโลก โดยมีการส่งออกน้ำตาลขาวมากขึ้น

ตลาดน้ำตาลขาวสำคัญของกัวเตมาลา ได้แก่ ประเทศชิลี จาไมกา ไฮติ และไต้หวันประเทศที่เป็นตลาดนำเข้าน้ำตาลดิบจากกัวเตมาลาได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา และเกาหลีใต้

มีพื้นที่การเพาะปลูกทั้งหมดประมาณ 220,000 เฮกเตอร์ เกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ ๆ ได้รับการส่งน้ำโดยระบบชลประทาน ใน 3 ปีที่ผ่านมาได้มีการขยายพื้นที่การผลิตอ้อยปีละประมาณ 4000 เฮกเตอร์ แต่ผลผลิตปี 2552 ได้ลดลงเนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย

การขนถ่ายน้ำตาลขึ้นเรือของกัวเตมาลามีความทันสมัยมาก มีความสามารถบรรทุกน้ำตาลได้ 200,000 ตันต่อชั่วโมง และมีโกดังเก็บน้ำตาลที่มีความจุมากที่สุดในกลุ่มประเทศอเมริกากลาง บรรจุได้ 365,000 ตัน ในปีที่ผ่านมาได้มีการเปิดท่าเรือใหม่ ที่เมือง Puerto Quetzal ซื่งมีความสามารถขนถ่ายน้ำตาลในรูปแบบกระสอบละ 50 กิโล เพื่อขนถ่ายลงเรือคอนเทเนอร์ ความสามารถในการขนถ่ายรวมของท่าเคตซัลเท่ากับ 66,000 ตัน

กัวเตมาลามีโรงน้ำตาล 14 แห่ง ร้อยละ 82 ตั้งอยู่ในพื้นที่ ๆ ใกล้กับท่าเรืองเคตซัล โดยมีระยะเส้นทางเดินรถเฉลี่ยไม่เกิน 65 กิโลเมตร มีความสามารถในการผลิตรวมประมาณ 130,000 ตันต่อวัน ในจำนวนนี้ มีอยู่ 5 โรงงานที่มีการผลิตเอลกอฮอล ความสามารถในการผลิตรวม 650,000 ลิตรต่อวัน เพื่อการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ประเทศอื่น ๆ ในอเมริกากลาง และเม็กซิโก โรงงานผลิตน้ำตาลอื่น ๆ กำลังพิจารณาการขยายการผลิตไปสู่การผลิตแอลกอฮอลและเอธานอล

อุตสาหกรรมน้ำตาลในกัวเตมาลาจ้างแรงงานโดยตรง 62,000 ตำแหน่ง โดยแจ้งแรงงานทางออ้มอีก 350,000 คน ซึ่งรวมชาวนาอ้อยประมาณ 33,000 คน ในปี 2551 ได้ให้ผลผลิตพลังงานเทียบเท่ากับ 298 เม็กาวัตต์ หรือร้อยละ 21 ของระบบพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศ

รัฐบาลกัวเตมาลาเป็นผู้ควบคุมการขายส่งน้ำตาล โดยมีองค์กรการค้าน้ำตาล COMETRO ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมปริมาณสต็อกน้ำตาลสำรองภายในประเทศด้วย หน่วยงานสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ สภาน้ำตาล ASAZGUA และหน่วยงานวิจัยเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล CENGICAAซึ่งให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่ผู้เพาะปลูกและทำการผลิตน้ำตาล

การนำเข้าน้ำตาลเข้าประเทศกัวเตมาลาต้องเสียภาษีนำเข้า ร้อยละ 20 และปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสุขภาพและอาหาร นั่นคือ ต้องมีการเติมใส่วิตามินเอในตัวน้ำตาลสำเร็จรูปและในปีการผลิต 2553 กระทรวงเศรษฐกิจกัวเตมาลาได้คาดว่าจะมีการขาดแคลนน้ำตาลประมาณ 50,000 ถึง 100,000 ตัน เนื่องจากผลผลิตไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย และจะมีปริมาณไม่เพียงพอกับการบริโภคภายใน

3) ประเทศฮอนดูรัส

ประเทศฮอนดูรัสมีพื้นที่การเพาะปลูกอ้อยประมาณ 51,000 เฮกเตอร์ และมีผลิผลิตน้ำตาลประมาณ 401,000 ตันในปี 2552 ในปีเดียวกันนั้น ได้มีการส่งออกน้ำตาลได้ 93,000 ตัน อุตสาหกรรมน้ำตาลในฮอนดูรัสจ้างแรงงานโดยตรง 25,000 ตำแหน่ง และช่วยเหลือแรงงานโดยทางอ้อมอีก 100,000 คน

โรงงานน้ำตาลในฮอนดูรัสมี 7 แห่ง รวมตัวเป็นสมาคมผู้ผลิตน้ำตาล (APAH) โรงงานผลิตน้ำตาลเป็นเจ้าของพื้นที่การเพาะปลูกอ้อยในสัดส่วนร้อยละ 50 โดยอีกร้อยละ 50 กระจายการถือครองไปตามผู้ผลิตอิสระ โรงน้ำตาลเหล่านี้ผลิตพลังงานใช้เอง และจำหน่ายพลังงานส่วนเกินให้แก่องค์กรไฟฟ้าของฮอนดูรัส รัฐบาลฮอนดูรัสไม่มีนโยบายที่ควบคุมหรือส่งเสริมการผลิตน้ำตาล คาดว่าผู้ผลิตได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินจากสหรัฐฯในการหาเงินทุนหมุนเวียน ชดเชยช่วงการผลิตไม่พอเพียงโดยสภาพอากาศ

4) ประเทศเอลซาวาดอร์ คอสตาริกา และเบลิซ

เอลซาวาดอร์เป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในกลุ่มประเทศอเมริกากลาง มีโรงผลิตน้ำตาล 10 แห่ง โดยมีโรงงานของรัฐ 4 แห่งและอีก 6 แห่งเป็นของเอกชน ทั้งนี้ รัฐบาลเอลซาวาดอร์กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการขายโรงน้ำตาลของรัฐที่มีอยู่ เอลซาวาดร์สามารถส่งออกน้ำตาลได้ประมาณ 300,000 ตันในสามปีที่ผ่านมา

ประเทศคอสตาริกาผลิตน้ำตาลได้ประมาณ 300,000 ตัน โดยการผลิตน้ำตาลได้รับการควบคุมการผลิตโดยองค์กร LAICA ได้เริ่มการส่งออกในปี 2552 เป็นการส่งออกผลผลิตเกือบทั้งหมด

เบลิซเป็นผู้ผลิตรายเล็กที่สุด ผลิตน้ำตาลได้ประมาณ 100,000 ตัน เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกในรูปแบบของ molasses ไปยังตลาดไฮติ เป็นสำคัญ นอกจากนั้น พึ่งการใช้โควต้าพิเศษจึงมีการส่งออกบ้างไปยังตลาดสหรัฐฯ แคนาดา เม็กซิโก และยุโรป มีโรงงานน้ำตาล 2 แห่ง คือ Belize Sugar Industry และ Tower Hill ต้นทุนในการผลิตค่อนข้างสูง

5) รัฐบาลกัวเตมาลาประกาศให้ผู้ขาดแคลนในปริมาณ 50,000 ถึง 100,000 ตัน

ข้อคิดเห็นของสคร.

การมองภาวะตลาดของกลุ่มประเทศอเมริกากลาง ต้องพิจารณาในลักษณะตลาดรวมกลุ่มทั้ง 6 ประเทศ ในภาคการผลิตและการส่งออกน้ำตาลนั้น กลุ่มประเทศอเมริกากลางมีศักยภาพพัฒนาเป็นผู้ผลิตน้ำตาลที่สำคัญ และมีศักยภาพเป็นผู้ผลิตเอธานอลในภูมิภาคที่สำคัญรองจากสหรัฐฯ และบราซิล เพราะสัดส่วนการส่งออกน้ำตาลมีมากกว่าความต้องการภายใน ไม่ได้เป็นการผลิตเพื่อป้อนตลาดภายในประเทศหรือกลุ่มเป็นสำคัญในลักษณะของตลาดน้ำตาลในเม็กซิโก การแสวงหาโอกาสร่วมทุนกับผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศกลุ่มอเมริกากลางจึงน่าจะมีศักยภาพมากกว่าการร่วมลงทุนในตลาดเม็กซิโกหากเป็นการลงทุนเพื่อการส่งออกน้ำตาลหรือเอธานอลไปยังประเทศอื่น ๆ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ