รมว.พลังงาน เผยจะหนุนใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้าแทนนิวเคลียร์-ถ่านหิน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 30, 2011 14:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน สนับสนุนการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า เนื่องการพลังงานสำรองของโลกที่เหลืออยู่มีจำนวนจำกัด ส่วนแนวทางการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์และถ่านหินมีกระแสต่อต้านจากประชาชนอย่างมาก

"พลังงานสำรองของโลก ทั้งน้ำมันดิบจะมีเหลือใช้อีกแค่ 4-16 ปี ถ่านหิน 76-114 ปี ก๊าซธรรมชาติ 10-22 ปี และก๊าซธรรมชาติเหลว 9-24 ปี ขณะที่ทางเลือกที่ยังเหลืออยู่ คือ พลังงานหมุนเวียน นิวเคลียร์ ถ่านหิน แต่ทั้งนิวเคลียร์และถ่านหินยังคงมีปัญหาเรื่องการต่อต้าน มีเพียงพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น" นพ.วรรณรัตน์ กล่าวในงานสัมมนา "สมดุลพลังงานไฟฟ้า เพื่อเศรษฐกิจและสังคมยั่งยืน"

รมว.พลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 5,604 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565 ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(PDP) ประกอบด้วย แสงอาทิตย์ 500 เมกะวัตต์, ลม 800 เมกะวัตต์, น้ำ 324 เมกะวัตต์, ชีวมวล 3,700 เมกะวัตต์, ก๊าซชีวภาพ 120 เมกะวัตต์ และขยะ 160 เมกะวัตต์

ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน กระทรวงพลังงานมีเป้าหมายรับซื้อไม่เกินร้อยละ 25 เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกรณีเกิดปัญหาขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะกระทบต่อการจัดซื้อไฟฟ้า และถึงแม้ประเทศไทยจะมีทางเลือกในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะพลังงานนิวเคลียร์แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน

"รัฐบาลจะต้องเร่งทำความเข้าใจให้เห็นถึงความจำเป็นในการใช้เชื้อเพลิงในอนาคต มิเช่นนั้นประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในอนาคต" นพ.วรรณรัตน์ กล่าว

สำหรับกรณีที่ผู้ประกอบการร้องเรียนกับนายกรัฐมนตรีขอให้มีการปรับเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า(ADDER)จากพลังงานแสงอาทิตย์จาก 6.50 บาทต่อหน่วย เป็น 8 บาทต่อหน่วยนั้น นพ.วรรณรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานพิจารณาต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แล้วพบว่ามีต้นทุนการผลิตลดลง ดังนั้นจึงปรับลดค่าแอดเดอร์ลงเพื่อความเหมาะสม แต่จะไม่มีผลต่อผู้ประกอบการที่ได้ทำสัญญาไว้แล้ว ส่วนรายใหม่ที่เข้าร่วมโครงการอาจจะต้องปรับแอดเดอร์ลดลง ส่วนโครงการโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือ สมาร์ท กริดจ์ คาดว่า จะมีใช้ภายใน 15 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย แม้จะมีต้นทุนสูง แต่ต้องทำการศึกษาไว้ก่อน

ด้านนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย(THAI) กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนไทยมีความเห็นที่แตกต่างทำให้การกำหนดนโยบายนิวเคลียร์ในอนาคตเป็นไปได้ยาก สำหรับพลังงานนิวเคลียร์ถือเป็นพลังงานที่ช่วยลดภาวะเรือนกระจกที่ทั่วโลก ซึ่งมีการกำหนดเป้าหมายว่าในปี 2050 จะลดภาวะเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 50 หากไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป้าหมายนี้คงทำได้ยาก

"หากไทยยังไม่มีความชัดเจนและเตรียมความพร้อมภายใน 1-2 ปี เชื่อว่า ใน 200 ปีนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยก็คงยังไม่เกิด" นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า เหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะของญี่ปุ่นระเบิดมีลักษณะคล้ายกับเหตุการณ์โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลที่ยูเครน ซึ่งส่งผลให้โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกต้องหยุดชะงักเป็นเวลานับ 10 ปี นอกจากนี้ยังทำให้ทุกประเทศตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตัวอย่างเช่น สวีเดน ที่มีการประกาศให้ยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทันทีในปี 2000 จากนั้นกลับมีการแก้กฎหมายที่เคยประกาศไว้ว่าจะไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอกับความต้องการ เมื่อเทียบกับไทย หากยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเป็นปัญหาอย่างแน่นอน เพราะตามแผนพีดีพีบรรจุความต้องการไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ไว้แล้ว ดังนั้น กฟผ.จะต้องหาพลังงานอื่นมาทดแทน

ส่วนปัญหาความรุนแรงในตะวันออกกลางที่กำลังขยายวงกว้างในหลายประเทศจนเป็นเหตุให้ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น จนเกิดความกังวลและเกิดการเก็งกำไร ซึ่งน้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญในการคำนวณต้นทุนการทำธุรกิจการบิน และเดินเรือ ผู้ประกอบการจึงต้องบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมันล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในระยะยาวจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป และจะเห็นการปรับราคาลงเพียงแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า สำหรับนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรของรัฐบาลสามารถทำได้ แต่ควรใช้เครื่องมืออื่นๆ เข้ามาใช้ด้วย คือการทำประกันความเสี่ยงล่วงหน้าด้วยการนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้าไปซื้อน้ำมันเก็บไว้ล่วงหน้า เหมือนกับที่ผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่อย่างการบินไทย ที่ดำเนินการมาแล้วและยังไม่มีปัญหาการขาดทุน เนื่องจากราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม มองว่าในระยะยาวรัฐบาลควรปล่อยลอยตัวราคาน้ำมัน เพื่อให้ราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นไปตามกลไกตลาด รวมทั้งทำให้ประชาชนมีการปรับตัว และเกิดการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

สำหรับการส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอลล์ของภาครัฐนั้น เห็นว่า เป็นการส่งเสริมในทางที่ผิด สังเกตได้จากยอดใช้เอทานอลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ขยับขึ้นและยังคงอยู่ที่ 1.2-.1.3 ล้านลิตรต่อวัน เนื่องจากกระทรวงพลังงานหมกมุ่นอยู่กับการส่งเสริมน้ำมันแก๊สโซออล์ E85 ทั้งที่ปริมาณรถยนต์ไม่มีความพร้อม ดังนั้นควรจะยกเลิกการใช้น้ำมัน 91 ในประเทศก่อน ถึงจะทำให้แก๊สโซฮอล์มียอดการใช้เพิ่มขึ้นทดแทนได้

ขณะที่นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า การจัดการความสมดุลด้านไฟฟ้าของไทยนั้น ปัจจุบันไทยไม่อยู่ในฐานะที่จะใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าได้มากกว่านี้ เนื่องจากไทยใช้ก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 72 ถือว่ามีความเสี่ยงมาก ดังนั้นต้องหาพลังงานอื่นมาทดแทน เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยพลังงานทดแทนที่สามารถนำมาใช้ได้ คือการสร้างเขื่อนพลังน้ำ ซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน และสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และลดการใช้ไฟฟ้าลง โดยทุกส่วนจะต้องเสียสละความสะดวกส่วนตัว รวมทั้งลดการสร้างรถไฟฟ้า เพราะเป็นกลุ่มที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง และลดการเติบโตทางเศรษฐกิจลงด้วย จึงจะสามารถช่วยลดการใช้พลังงานของประเทศลง

ด้านนางบุญยืน ศิริธรรม เครือข่ายผู้บริโภค ภาคตะวันตก กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ดังนั้นอยากให้มีเวทีให้ข้อมูลที่เป็นจริง รับฟังความเห็นจากผู้ใช้พลังงานทุกด้าน ทั้งระดับจังหวัด-ภูมิภาค และให้มีตัวแทนผู้ใช้พลังงานร่วมกำหนดนโยบายการผลิต การคิดราคาพลังงานที่เป็นธรรม พร้อมเสนอให้รัฐบาลยกเลิกการจัดเก็บค่าไฟฟ้าผันแปร(Ft) ยกเลิกก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และหันมาสนับสนุนชุมชนผลิตพลังงานใช้เอง โดยเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งระบบภายใน 10 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ