บทวิจัย ธปท.ระบุศก.จีนถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ชวนร่วมสัมมนา"เศรษฐกิจไทยก้าวไกลไปกับเอเชีย"

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 20, 2011 16:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เผยแพร่บทความของงานสัมมนาวิชาการ"เมื่อเศรษฐกิจแดนมังกรพลิกโฉม: นัยต่อเศรษฐกิจไทย"โดยนายณชา อนันต์โชติกุล และนายพรพินันท์ ฉันทภักดีพงศ์ สายนโยบายการเงิน รวมทั้งนางโชติมา สิทธิชัยวิเศษ สายนโยบายสถาบันการเงินว่า จีนเป็นประเทศแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยให้อยู่ในระดับตัวเลขสองหลักเป็นเวลายาวนานกว่า 30 ปี การเติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้ทำให้จีนผงาดขึ้นอย่างรวดเร็วสู่ความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอีกขั้วหนึ่งของโลก

และกลายมาเป็น “ความหวัง" ที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกไว้ได้ในช่วงเวลาที่หัวจักรหลักในซีกโลกตะวันตกกำลังประสบปัญหาจากพิษวิกฤตการเงิน ขณะที่หัวจักรเดิมในเอเชียอย่างญี่ปุ่นเองก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะฟื้นขึ้นมาได้หลังตกอยู่ในภาวะเงินฝืดมานานกว่า 2 ทศวรรษ หากเศรษฐกิจจีนยังคงโตต่อไปได้เหมือนในช่วงที่ผ่านมา จีนจะกลายมาเป็นเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งแซงหน้าสหรัฐอเมริกาได้ในอีกไม่ช้า และศตวรรษนี้จะเรียกว่าเป็น “ศตวรรษแห่งจีน" ก็คงจะไม่ผิดนัก

คำถามที่สำคัญก็คือ มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจจีนจะยังคงโตอย่างรวดเร็วอย่างที่ผ่านมาได้หรือไม่ สิ่งที่เคยทำให้จีนโตได้อย่างรวดเร็วในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จะสามารถนำพาให้จีนไปต่อได้อีกนานเท่าไร จากการวิเคราะห์รูปแบบและแหล่งที่มาของการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเศรษฐกิจจีนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่จีนเริ่มเปิดประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจโลกและเริ่มมีการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจังภายใต้แนวคิด “ระบบเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม" (Socialist Market Economy) ของอดีตผู้นำ เติ้ง เสี่ยวผิง

บทความวิจัยได้ข้อสรุปว่า เศรษฐกิจจีนเองกำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้ง ที่รูปแบบการเติบโตของจีนจำเป็นต้องเปลี่ยน เนื่องจากประโยชน์ที่ได้รับจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมากำลังจะหมดไป ถึงแม้ในระยะสั้นถึงระยะปานกลางจีนจะยังสามารถโตต่อไปได้โดยการทุ่มทรัพยากรด้านการลงทุน (capital stock) ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว แต่ในระยะยาวปัญหาด้านโครงสร้างการจัดสรรทรัพยากรการผลิต และปัญหาด้านโครงสร้างประชากร จะกลายมาเป็นข้อจำกัดที่สำคัญมากยิ่งขึ้นในการที่จีนจะรักษาความยั่งยืนของการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้คงอยู่ในระดับสูงต่อไป

ดังนั้น หากจีนต้องการจะก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้เพื่อเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต จีนจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่อีกครั้งเพื่อการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิยิ่งขึ้น และใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการยกระดับผลิตภาพ รวมถึงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อไต่บันไดห่วงโซ่มูลค่า (value chain) ขึ้นไปให้ได้ เหมือนอย่างที่ประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ได้ทำสำเร็จมาแล้ว

ในด้านของผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ จากการโตต่อไปในทิศทางใหม่ของเศรษฐกิจจีนนี้ ผลกระทบที่จะมีมากที่สุด คือ ด้านการค้าระหว่างประเทศ ถึงแม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจจีนยังมีขนาดเล็กกว่าสหรัฐอยู่มาก แต่มีระดับการเปิดประเทศด้านการค้าสูงกว่าสหรัฐเกินกว่า 2 เท่า ทำให้ในปัจจุบันจีนได้กลายมาเป็นศูนย์กลางเครือข่ายการค้าที่สำคัญที่สุดของโลก ทั้งในด้านขนาดและความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจอื่นๆ และดูเหมือนจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต นั่นหมายถึง ทิศทางก้าวเดินต่อไปของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลกระทบต่อทุกประเทศในโลกไม่ทางตรงก็ทางอ้อม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับประเทศไทยนั้น การทะยานขึ้นสู่ความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน จะทำให้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ที่จะมีประเทศมหาอำนาจอยู่ใกล้กับประเทศเรามากขนาดนี้ การมีเพื่อนบ้านเป็นหนึ่งในผู้นำเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในด้านการค้า ทำให้หลายคนคงเกิดคำถามว่าไทยจะสามารถโตไปพร้อมกันกับเพื่อนบ้านคนนี้ หรือไทยจะถูกเบียดตกขอบเวทีการค้าโลกกันแน่ และหากไม่อยากถูกเบียดตกเวที เราจะต้องปรับตัวอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการโตต่อไปของเศรษฐกิจจีน

การวิเคราะห์ในส่วนนี้ จำเป็นต้องคำนึงถึงการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ที่ก็ไม่ได้อยู่นิ่งเฉย เพราะก็ต้องการจะโตไปพร้อมกับจีนด้วยเช่นกัน ทิศทางเศรษฐกิจจีนจะเปลี่ยนไปอย่างไร และการเปลี่ยนแปลงนี้จะนำมาซึ่งโอกาสและความเสี่ยงอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทย เป็นสองคำถามหลักที่คณะผู้วิจัยต้องการจะหาคำตอบในบทความเรื่อง “เมื่อเศรษฐกิจแดนมังกรพลิกโฉม: นัยต่อเศรษฐกิจไทย" ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2554 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจไทยก้าวไกลไปกับเอเชีย"

วัตถุประสงค์ของการสัมมนาครั้งนี้เพื่อประเมินพลังขับเคลื่อนของเศรษฐกิจเอเชีย ทั้งจากจีนและจาก AEC ที่จะสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจให้กับภูมิภาคเอเชียผ่านการรวมตลาดสินค้าและตลาดปัจจัยการผลิต รวมถึงประเมินความพร้อมของประเทศไทยในการแสวงหาประโยชน์สูงสุดภายใต้บริบทของเศรษฐกิจเอเชียที่กำลังจะเปลี่ยนไปนี้ และหาแนวทางปรับตัวให้ทันท่วงทีเพื่อไม่ให้ประเทศไทยถูกเบียดจนตกขบวนรถไฟด่วนสายเอเชีย

อนึ่ง บทวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความในการสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2554 ของธปท.โดยจัดขึ้นที่โรงแรม Centara Grand at Central World กรุงเทพฯ ในวันที่ 20-21 ตุลาคม 2554 ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของคณะผู้เขียนโดยเฉพาะ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับนโยบายของธปท.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ