(เพิ่มเติม) กนง.ลดคาดการณ์ GDP ปี 54 เป็นโต 2.6% จาก 4.1% รับอุทกภัย,ปีหน้าคงเดิม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 28, 2011 11:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)เปิดเผยรายแนวโน้มเงิเนฟ้อฉบับเดือน ต.ค.54 จากการพิจารณาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ณ วันที่ 19 ต.ค.โดยเฉพาะปัญหาอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สร้างความเสียหายต่อ 6 นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในขณะนั้น ประกอบกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จึงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 54 จดขยายตัวลดลงเหลือ 2.6% จากประมาณการเดิมที่ 4.1% คาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 4/54 จะหดตัว 1.9% จากไตรมาส 3/54 แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังขยายตัวได้ 0.8%

ส่วนปี 55 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตรา 4.1% ลดลงเล็กน้อยจากประมาณการเดิม ภายหลังสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมคลี่คลายลง ตลอดจนผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยมาจากปัจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ได้แก่ 1. ผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมที่สร้างความเสียหายในกับภาคการผลิตในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์และอิเล็กทรอนิคส์ รวมถึงการท่องเที่ยวที่จะเห็นผลชัดเจนต่อเศรษฐกิจในไตรมาส 4/54 และอาจต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูมากกว่าที่ประเมินไว้

2.เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยอาจขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากปัญหาหนี้สาธารณะยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ 3. ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่เกิดจากความไม่สมดุลของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ที่อาจนำไปสู่ความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจและความผันผวนในตลาดการเงินโลก 4. ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงกว่าที่ประเมินไว้

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 3/54 ที่เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 4.1% จากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและราคาในหมวดพลังงานที่เร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากการลดการอุดหนุนค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสุงตามราคาในตลาดโลก แม้ราคาในครึ่งหลังของไตรมาสจะปรับลดลง จากนโยบายงดเว้นการเก็บเงินเข้ากองทุน้ำมันและราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง ขณะที่ราคาหมวดอาหารสด เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงจากไตรมาสก่อน ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยอยู่ที่ 2.8%

อย่างไรก็ตามดี กนง.ประเมินว่าแรงกดดันด้านต้นทุนและการคาดการณ์เงิน้ฟ้อในระยะข้างหน้ายังมีต่อเนื่อง ประกอบกับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมทำให้ราคาอาหารสดมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ทั้งจากผลผลิตที่เสียหายและต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น แม้แรงกดดันด้านอุปสงค์จะลดลงจากผลของการปรับลดเงินสมทบเข้ากองทุนน้ำมันที่มีผลตั้งแต่ 27 ส.ค.54 และการต่ออายุมาตรการช่วยค่าครองชีพ

ทั้งนี้ มองความเสี่ยงสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อมาจาก 1. ผลของนโยบายภาครัฐ ทั้งจากการปรับค่าแรงงานอย่างก้าวกระโดด การปรับขึ้นของราคาข้าวเปลือกในประเทศจากนโยบายรับจำนำข้าว รวมถึงการทยอยเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ที่ส่งผลต่อการรปับเพิ่มขึ้นของแรงกดดันด้านต้นทุน การใช้จ่ายในประเทศที่เร่งขึ้น การเพิ่มขึ้นของการคาดการณ์เงินเฟ้อ และ 2. ราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงในตลาดโลกอาจเร่งตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ หากอุปทานลดลงกว่าที่คาดจากปัญหาภัยธรรมชาติและอุปสงค์ที่เร่งตัวขึ้นกรณีเศรษฐกิจโลกขยายตัวสู่ระดับปกติ 3. การส่งผ่านต้นทุนการผลิตในประเทศที่สูงขึ้นไปยังราคาสินค้าที่อาจมีน้อยกว่าที่คาด หากเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้

จากการประเมินแรงกดดันและความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อ กนง.จึงประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 54 อยุ่ที่ 3.8% และปี 55 อยู่ที่ 3.5% ลดลงเล็กน้อยในปี 54 ขณะที่เร่งตัวขึ้นในปี 55 เทียบกับประมาณการเดิม ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานปี 54 อยู่ที่ 2.4 %เท่าประมาณการเดิม และปี 55 อยู่ที่ 2.5% สูงกว่าประมาณการเพิ่ม เนื่องจากแรงกดดันจากอุปสงค์ยังคงมีอยู่และนโยบายต่างๆของรัฐบาลที่เพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะถัดไป ทั้งการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ มาตรการรับจำนำข้าว การทยอยเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ