(เพิ่มเติม) HSBC คาดน้ำท่วมกดศก.ไทยปีนี้โตได้แค่ 1.7% แต่ปีหน้าพลิกฟื้นสูงถึง 4.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 28, 2011 17:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเฟรเดอริก มิว มานน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชีย ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้(HSBC)คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้เพียง 1.7% รับผลกระทบน้ำท่วมที่ทำให้ช่วงไตรมาส 4/54 เศรษฐกิจอาจจะหดตัวถึง 5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/54 และคงเริ่มฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 1/55 ซึ่งจะทำให้ปี 55 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ถึง 4.5%

พร้อมกันนั้น HSBC ยังคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่จะมีการประชุมในวันที่ 30 พ.ย.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยครั้งรุนแรงที่มีผลอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่ HSBC เชื่อว่าจะมีผลในระยะสั้น ๆ เท่านั้น

นายเฟรเดอริก กล่าวว่า ผลกระทบจากน้ำท่วมส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/54 หดตัว 5% เทียบกับไตรมาส 3/54 แต่หากเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนหดตัว 2.4% เนื่องจากมูลค่าการส่งออกลดลง 16% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการลดกำลังการผลิตจากการที่โรงงานได้รับความเสียหายน้ำท่วม ขณะที่การมูลค่าการนำเข้าหดตัว 8% ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 0.4%ของจีดีพี

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะกลับเริ่มกลับมาฟื้นตัวจากปัญหาน้ำท่วมตั้งแต่ไตรมาส 1/55 คาดว่าจะเติบโตลักษณะตัววีที่5% และฟื้นตัวต่อเนื่องในไตรมาส 2/54 ที่ระดับ 3% และทั้งปี 55 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายในอัตรา 4.5% โดยมูลค่าการส่งออกจะขยายตัว 9.5% ใกล้เคียงมูลค่านำเข้าที่ขยายตัว 9.8% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1.4%ของจีดีพี

นอกจากนี้ คาดว่า ธปท.จะใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในการประชุมวันที่ 30 พ.ย.นี้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของเอกชนในการฟื้นฟูธุรกิจ แต่จะเป็นนโยบายระยะสั้นเท่านั้น ก่อนที่จะพลิกกลับมาใช้นโยบายการเงินขาขึ้นหรือปรับดอกเบี้ยขึ้นสู่ระดับ 3.50% ซึ่งจะเห็นชัดเจนในไตรมาส 3/55 เป็นต้นไป เพื่อดูแลภาวะเงินเฟ้อซึ่งเร่งตัวจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนนโยบายระยะยาวรัฐบาลต้องเร่งสร้างความมั่นใจนักลงทุนเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ

"น้ำท่วมสร้างผลกระทบระยะสั้น เศรษฐกิจในครึ่งแรกปี 55 จะดูดีมาก แต่มีเรื่องระยะยาวที่รัฐต้องใช้ความสำคัญคือการเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมา โดยขณะนี้เศรษฐกิจยุโรปเริ่มถดถอย และสหรัฐเศรษฐกิจไม่ดี แต่มีหลายประเทศในภูมิภาคที่น่าสนใจ ดังนั้น หากไทยต้องการแข่งขันกับประเทศเหล่านี้ก็ต้องเร่งปรับตัว"นายเฟรเดอริก กล่าว

นายเฟรเดอริก มองว่าแนวโน้มค่าเงินบาทเทียบเหรียญสหรัฐในปี 55 จะแข็งค่าขึ้นเฉลี่ยที่ระดับ 30.70 บาท/เหรียญสหรัฐ จากการไหลเข้าเงินทุนต่างประเทศจากการท่องเที่ยว และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ทั้งนี้ เงินบาทที่แข็งค่ายังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาคทำให้ยังคงรักษาระดับการแข่งขันได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ