นักวิชาการแนะชะลอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหลังเผชิญน้ำท่วม แนะปรับแบบขั้นบันได

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 21, 2011 15:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงเดือนเมษายนปีหน้าอาจไม่ไช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมนัก แต่หากเลื่อนออกไปจนถึงต้นปี 2556 ก็อาจช้าเกินไป ฉะนั้นในช่วงเวลานี้ควรปรับขึ้นแบบขั้นบันไดเฉลี่ยครั้งละ 20% ขณะเดียวกันควรมีมาตรการเพิ่มศักยภาพฝีมือแรงงานไปพร้อมๆ กัน

"การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรต้องพิจารณาตามความเหมาะสมและกลไกตลาด และต้องสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานได้" นายสมชัย กล่าว

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงที่ผ่านมาสร้างความเสียหายและทำให้สูญเสียโอกาส ซึ่งมองว่าในปีหน้าไทยคงไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปีนี้อีก แต่อาจจะเกิดขึ้นอีกในระยะ 5 ปีข้างหน้า ดังนั้นอยากเสนอแนะให้จัดเวทีระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยนำโมเดลแก้น้ำท่วมด้านวิศวกรรมจากวิศวกรต่างๆ มาพิจารณาร่วมกับโมเดลทางเศรษฐกิจสำคัญเพื่อเดินหน้าทิศทางป้องกันน้ำท่วม ซึ่งอาจต้องมีผู้ถูกกระทบบ้าง แต่ภาครัฐต้องมีการเจรจา มีการจัดการและเยียวยา

"รัฐบาลต้องโชว์ให้เห็นแผนชัดเจน เชื่อถือได้ มี commitment ซึ่ง commitment ของ ดร.โกร่ง เชื่อถือได้เป็นเรื่องดี แต่หลังจากนั้นต้องมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมเพื่อไม่ให้ความเชื่อมั่นลดลง" นายสมชัย กล่าวในงานสัมมนา Reinvent Thailand:ซ่อม สร้าง วาระบูรณะประเทศไทย หลังมหาอุทกภัย 54

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพศิษฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 55 จะเติบโตได้ในอัตรา 4.5-5.5% เนื่องมาจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วมจากเม็ดเงินใช้จ่ายภาครัฐ ที่ล่าสุด ครม.อนุมัติงบประมาณเพื่อเยียวยาประชาชนครัวเรือนละ 5,000 บาท นอกจากนี้รัฐบาลยังมีแผนลงทุนป้องกันและบริหารจัดการน้ำในระยะยาว นอกจากนี้การแนวโยบายการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ การปรับเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท รวมถึงนโยบายรับจำนำข้าว ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ของประชาชน ขณะที่ความสามารถด้านการส่งออกในปีหน้ายังขยายตัวได้ ซึ่งหากมีการฟื้นฟูระบบ logistics แลัว supply chain กลับมาได้เร็วจะทำให้ส่งออกกลับมาขยายตัว 20% รวมถึงการใช้โอกาสจาก AEC เพื่อให้สินค้าไทยได้ประโยชน์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเกษตร

สำหรับการป้องกันน้ำท่วมขณะนี้ทุกคนรอความชัดเจนในการป้องกันปัญหา โดยส่วนหนึ่งจะต้องมรการแก้ระบบการบริหารจัดการที่ดิน โดยเฉพาะผังเมืองซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมานาน ทั้งการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้นจึงต้องเข้าไปดูตั้งแต่ผังเมืองประเทศ ผังการใช้ที่ดิน ผังน้ำ ซึ่งเป็นการดูในเรื่องโครงสร้าง ส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้างพื้นที่จะต้องไปดูระบบบริหารจัดการน้ำ การมีระบบข้อมูลและการพยากรณ์ที่แม่นยำเพื่อมีข้อมูลการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่น้ำเหนือเขื่อน และดู 2 มิติ คือ น้ำแล้งและน้ำท่วม ซึ่งในระยะต่อไป กยอ.จะจัดตั้ง single commart managment

"ความท้าทายในปีหน้าคือเชื่อมั่นอย่างไรว่าน้ำจะไม่ท่วม โดยพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ อยุธยา ปทุม นนทบุรี ต้องวางระบบป้องกันน้ำท่วมในนิคมและนอกนิคม เพื่อไม่ให้กระทบทั้งธุรกิจและประชาชน" นายอาคม กล่าว

สำหรับนโยบายของรัฐบาลมองว่ายังต้องเดินหน้าต่อไป ทั้งการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ การขึ้นราคาพลังงาน แม้จะเกิดปัญหาน้ำท่วม รวมถึงการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ที่ต้องทำควบคู่การขยายฐานภาษี

นอกจากนี้เห็นว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วมควรดำเนินนโยบายการคลังควบคู่ไปกับนโยบายการเงิน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถวางนโยบายเพื่อช่วยในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น การจัดหา soft loan รวมถึงการร่วมมือกับภาคเอกชน

ขณะที่นางปัทมาวดี ซูซูกิ นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรปรับขึ้นค่าแรงในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลในช่วงนี้ เพราะพื้นที่เหล่านี้ยังต้องได้รับการฟื้นฟูอีกมาก ฉะนั้นรัฐบาลจะต้องพิจารณาให้เหมาะสม ขณะเดียวกันรัฐบาลแบ่งกลุ่มในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ชัดเจน รวมทั้งต้องจัดลำดับความสำคัญในการฟื้นฟูของแต่ละภาคส่วนด้วย เพราะมีความเป็นห่วงกลุ่มเอสเอ็มอีที่จะไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเพียงพอ

พร้อมกันนี้ยอมรับไม่มีความเชื่อมั่นในมาตรการป้องกันปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลมากนัก เพราะยังไม่เห็นความชัดเจน จึงวอนให้รัฐบาลจริงจังกับการหามาตรการป้องกันให้มากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นอาจมีผลต่อการลงทุนในอนาคตได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ