กสทช.เร่งตีกรอบทีวีดาวเทียมต้องยื่นขอใบอนุญาตก่อนทีวีดิจิตอลจะเกิด

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday February 26, 2012 12:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท) กล่าวว่า กสทช.จะเข้ามาดูแลและวางกลไกกำกับเนื้อหา โฆษณา การใช้คลื่นความถี่ ใช้เครื่องอุปกรณ์ ซึ่งต้องสร้างกระบวนการกำกับดูแลที่เข้มแข็ง ส่งเสริมกระบวนการทางวิชาชีพที่ดูแลกันเอง ซึ่งปัจจุบันแค่ได้ยินชื่อทีวีดาวเทียมพันช่องก็ตกใจแล้ว ทั้งนี้ กสทช.เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมที่ 2554 แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างเดินหน้าแผนแม่บท ที่พูดถึงทรัพยากรทั้งหมดในประเทศ

สำหรับบอร์ดกระจายเสียงขณะนี้สามารถกำกับดูแลได้พอสมควร ที่ผ่านมากว่า 10 ปี การดำเนินงานเกิดสุญญากาศมานาน จึงทำให้ยังไม่มีใครกำกับ แต่อีกมุมก็อาจทำให้เกิดทีวีดาวเทียมพันช่อง ซึ่งวันนี้ก็ได้ ช่วงสุญญากาศ กสทช. มีวิทยุชุมชน 6,604 เคเบิล 995 ทีวีดาวเทียม 200 เถื่อน

พ.อ.นที กล่าวว่า สำหรับ กรอบแผนแม่บททั้งหลายมีข้อจำกัด การออกกติกาต่างๆ ต้องขอความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและรอบด้านมากที่สุด ซึ่งสื่อบ้านเราไม่มีทางจะลดลงโดยเฉพาะสื่อใหม่ แม้แต่วิทยุ ทีวี คนที่ดูอินเทอร์เน็ตก็จะดูวิทยุและโทรทัศน์บนอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่าทีวีเป็นสื่อที่ประชาชนให้ความสนใจเสมอ การมีทีวีหลายแพทฟอร์ม เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งการทำให้สังคมรับรู้ได้หลากหลายจะทำให้มีกระบวนการคิดและมีวิจารณญาณ ซึ่งการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์ที่สุดก็จะเกิดความคุ้มค่า

"เรื่องคลื่นความถี่จริงๆไม่ได้มีมากเหมือนหลายคนคิด จึงต้องมีหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความพอดี โดยการทำทีวีดาวเทียมต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการ แต่ไม่ต้องขอใบใช้คลื่นความถี่ก็เป็นอย่างนี้ไปก่อน จนกว่าจะมีการตีความ หรือฟ้องร้อง ซึ่งกระบวนการออกใบอนุญาตใบแรกให้ทีวีดาวเทียม อาจเป็นระยะสั้น 1 ปี และต่อใบอนุญาตครั้งที่2 อาจเป็น 5 หรือ10ปี ซึ่งหลังมีกสทช.ก็ต้องทำหน้าที่ดูแลและวางกลไกกำกับเนื้อหา โฆษณา การใช้คลื่นความถี่ และอุปกรณ์ทีวีดาวเทียม โดยต้องสร้างกระบวนการกำกับดูแลที่เข้มแข็ง ซึ่งทีวีดาวเทียมและทีวีดิจิตอลจะเป็นภาคเสริมกัน อนาคตทีวีดิจิตอลจะพัฒนาสู่ทีวีบนมือถือจาก 20 ล้านเครื่อง(บ้าน) ไปสู่มือถือ 70 ล้านเครื่อง" พ.อ.นที กล่าว‬

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ