ก.เกษตรฯ คาดราคากุ้งเพิ่มสูงขึ้นปลายก.ค.นี้/ปลื้มโครงการรักษาเสถียรภาพราคาเดือนแรกเข้าเป้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 18, 2012 15:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ คาดว่า ในช่วงปลายเดือนก.ค. เป็นต้นไปราคากุ้งจะสูงขึ้น เนื่องจากคำสั่งซื้อจะเริ่มมากขึ้น โดยห้องเย็นจะรับซื้อกุ้งจากเกษตรกรเพื่อส่งขายในตลาดต่างประเทศซึ่งมีความต้องการบริโภคกุ้งมากขึ้นในช่วงคริสมาสต์

สำหรับผลการดำเนินงานโครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้ง ในวงเงินจ่ายขาด จำนวน 562 ล้านบาท เพื่อรักษาเสถียรภาพราคากุ้งเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยให้กรมประมงเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรกับห้องเย็นโดยตรง ผ่านกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ เพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง รวมกันเป็นกลุ่มทำเป็นเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งที่เข้มแข็ง หรือคลัสเตอร์ และเปิดให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้ามามีส่วนร่วมซื้อขายกับห้องเย็นได้โดยตรงด้วย และเป็นการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งนั้น รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ว่า จากผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าวที่เริ่มมาแล้ว 1 เดือน ค่อนข้างประสบความสำเร็จเป็นที่พอใจของเกษตรกร โดยได้มีการตกลงซื้อขายกันแล้วกว่า 8,813 ตัน จากโควตาในเดือนแรก 10,000 ตัน ใน 18 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคใต้จำนวนประมาณ 6,000 ตันเศษ และภาคตะวันออกจำนวนประมาณ 2,000 ตันเศษ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 886 ราย ห้องเย็น 23 แห่ง อีกทั้งขณะนี้ราคากุ้งได้ขยับตัวขึ้นบ้างแล้ว โดยราคากุ้งขนาด 60 ตัว/กก. ราคาอยู่ที่ 120 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 5 บาท/กก. และ

ทั้งนี้ ที่ประชุม คชก.ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ยังได้เห็นชอบให้ขยายโครงการไปอีก 1 เดือน เริ่มนับแต่วันที่ 19 ก.ค. 2555 ซึ่งการพิจารณาขยายโครงการนั้น จะใช้ผลการปฏิบัติงานเป็นรายเดือนมาประเมิน จนกว่าราคากุ้งจะฟื้นตัวได้ราคาดี

สำหรับสถานการณ์การผลิตกุ้งของไทยขณะนี้ถือว่า ยังมีจุดแข็งเนื่องจากมีการพัฒนาระบบการผลิตเป็นไปตามมาตรฐาน GAP มาตั้งแต่ปี 2548 มีระบบการเลี้ยงในระบบปิดและการเฝ้าระวังโรคกุ้งที่มีประสิทธิภาพ ปลอดจากโรคไวรัสตัวแดงดวงขาว และไวรัสหัวเหลือง และโรคไวรัสไอเอ็มเอ็น ขณะที่ประเทศผู้นำการผลิตกุ้งหลายประเทศต้องประสบปัญหาดังกล่าวช่วงในช่วง 3 -5 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับประเทศไทยได้มีการสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรเกษตรกรไปในเวลาเดียวกัน จึงทำให้ราคาผลผลิตกุ้งของไทยมีราคาดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะในปี 2554 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกกุ้งทะลุมากกว่า 1 แสนล้านบาท จึงนับว่าประสบผลสำเร็จอย่างชัดเจนตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์กุ้งไทย ฉบับที่ 1 คือ มีการส่งออกสินค้ากุ้งแปรรูปที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มมากถึงร้อยละ 54 ที่จากเดิมเคยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 40-44

ดังนั้น การที่จะทำให้อุตสาหกรรมกุ้งของประเทศไทยมีการขยายตัวอย่างยั่งยืนและมีความมั่นคงทางการตลาดได้นั้น ประเทศไทยต้องเร่งเจรจากับสหภาพยุโรปเพื่อให้คืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในปี 2556 ให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งออกสินค้ากุ้งไปยังสหภาพยุโรป รวมถึงต้องดำเนินนโยบายการตลาดต่างประเทศในรูปแบบของสินค้ามูลค่าเพิ่มให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มสัดส่วนการส่งออกกุ้งแปรรูปไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60

ขณะเดียวกัน ในด้านการผลิตเกษตรกรผู้ผลิตก็ต้องควบคุมผลผลิตในช่วงไตรมาสที่ 2 ให้เหลือเพียง 15-17% โดยการลงกุ้งให้น้อยลงด้วย เพื่อช่วยให้ไม่เกิดปัญหากุ้งล้นตลาดในไตรมาสที่ 2 และไม่ทำให้เกิดปัญหาราคากุ้งตกต่ำยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาสที่ 3 ที่จะมีกุ้งออกมามากกว่า 30% ของผลผลิตทั้งปี สำหรับอีกหนึ่งโครงการสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมนั้น อ.ต.ก.ได้รายงานความคืบหน้าโครงการรับซื้อกระเทียมเพื่อแก้ไขปัญหาราคาปีการผลิต 2554/55 โดยรับซื้อกระเทียมในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ (ณ วันที่ 12 ก.ค.55) พบว่า ได้ดำเนินการรับซื้อผลผลิตกระเทียมแล้วทั้งสิ้นจำนวน 20,491 ตัน เกษตรกรจำนวน 6,769 ราย วงเงินจำนวน 714 ล้านบาท แบ่งเป็น จ.เชียงใหม่ 14,832 ตัน จ.ลำพูน 2,395 ตัน จ.พะเยา 585 ตัน และแม่ฮ่องสอน 2,679 ตัน โดยเมื่อวันที่ 17 ก.ค.55 ที่ผ่านมาคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) จ.เชียงใหม่ ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางและหลักเกณฑ์เงื่อนไขการจำหน่ายกระเทียมที่รับซื้อไว้ โดยเน้นมาตรการที่ไม่ให้กระทบราคากระเทียมที่ซื้อขายอยู่ในท้องตลาดและไม่ให้เป็นภาระของรัฐในการดูแลรักษา ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มมีการระบายผลผลิตที่รับซื้อออกสู่ตลาดได้ในเดือนสิงหาคมนี้ เป็นต้นไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ