(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ธ.ค.เพิ่มขึ้น 3.63% จากตลาดคาด 3.2%,ทั้งปี 3.02%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 2, 2013 12:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) เดือน ธ.ค.55 อยู่ที่ 116.86 เพิ่มขึ้น 3.63% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 3.2% และเมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.55 เพิ่มขึ้น 0.39% ส่งผลให้ CPI เฉลี่ยทั้งปี 55 เพิ่มขึ้น 3.02% จากปีก่อน

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้เงินเฟ้อในเดือน ธ.ค.55 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 3.63% มาจากการปรับตัวสูงขึ้นของดัชนีราคาที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 4% เช่น ปลาและสัตว์น้ำ สูงขึ้น 3.93%, ผักและผลไม้ สูงขึ้น 16.79%, เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้น 2.40%, อาหารสำเร็จรูป สูงขึ้น 3.32% เป็นต้น และการปรับตัวสูงขึ้นของดัชนีราคาที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่มอีก 3.39% เช่น เคหสถาน สูงขึ้น 3.3%, พาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร สูงขึ้น 4.41%, ยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอออล์ สูงขึ้น 7.59% เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ(Core CPI) เดือน ธ.ค.55 อยู่ที่ 108.88 เพิ่มขึ้น 1.78% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.04% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.55 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ยทั้งปี 55 เพิ่มขึ้น 2.09% จากปีก่อน

โดยดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือน ธ.ค.55 อยู่ที่ 141.20 เพิ่มขึ้น 4.00% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.81% จากเดือน พ.ย.55

ส่วนดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือน ธ.ค.55 อยู่ที่ 102.92 เพิ่มขึ้น 3.39% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.11% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.55

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 55 จะต่ำกว่าเป้าหมายที่ 3.0-3.4% เนื่องจากราคาน้ำมันไม่สูงตามคาด ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอ ประกอบกับรัฐบาลตรึงราคาค่าครองชีพ และสินค้ากลุ่มอาหารสดไม่ให้ราคาปรับขึ้นสูงมากนัก

ขณะที่ในปี 56 กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์ CPI ขยายตัวในกรอบ 2.8-3.4% ภายใต้สมมุติฐาน ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 100-120 ดอลลาร์/บาร์เรล, อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 25.50-32.50 บาท/ดอลลาร์, รัฐบาลยังคงมีมาตรการลดค่าครองชีพเพื่อช่วยเหลือประชาชน

ส่วนกรณีที่มีการบังคับใช้ค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาท/วันนั้น ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า คงส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในปีนี้เพียง 0.1% เท่านั้น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นนัยยะสำคัญต่อการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ และเชื่อว่าจะสามารถดูแลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้ได้ เพราะราคาสินค้าในขณะนี้ไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น และก่อนหน้านี้ได้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ใน 7 จังหวัดที่มีการประกอบอุตสาหกรรมหลักที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อไปแล้ว อีกทั้งตลาดยังมีการแข่งขันสูง

ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ สภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะสินค้าในหมวดเนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ผักและผลไม้ ส่วนภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำไม่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้ามากนัก

ทั้งนี้ กรมการค้าภายในจะดำเนินการปรับปีฐานของน้ำหนักดัชนีราคาผู้บริโภคจากเดิมที่ใช้ปีฐาน 50 มาเป็นปี 54 ตามการสำรวจค่าใช้จ่ายของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยจะเริ่มใช้คำนวณอัตราเงินเฟ้อของเดือน ม.ค.56


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ