"บัณฑูร"แนะไทยพัฒนาการศึกษา-คมนาคม-กม.เพื่อรากฐานการเติบโตที่ดีของศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 15, 2013 18:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) กล่าวในงานสัมมนา "มองโลก มองไทย สู่ปี 2015" ของสภาธุรกิจไทย-จีนว่า สำหรับประเทศไทยจะต้องปรับปรุงใน 3 ด้านหลัก เพื่อให้ประเทศไทยมีอนาคตที่ดีสำหรับการเติบโตต่อไป โดยจะต้องพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ทั้งด้านการศึกษาการพัฒนาระบบโทรคมนาคม และการคมนาคม รวมทั้งการปรับปรุงข้อกฎหมายต่างๆ ให้เหมาะสมและชัดเจนกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน

พร้อมกันนี้ จะต้องระมัดระวังสถานะการคลังของประเทศ เพราะมีการใช้จ่ายเกินรับได้ โดยในช่วงแรกอาจจะไม่รู้สึกว่าเป็นอันตราย แต่เมื่อหนี้เพิ่มมากขึ้นจนถึงจุดหนึ่งที่ภาระการคลังเกินตัวก็จะสร้างปัญหาให้กับประเทศได้ ซึ่งไม่ต้องการให้ปัญหาหนี้สาธารณะของไทยเกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนกับยุโรป และสุดท้ายคือต้องดูแลให้การลงทุนในโครงการต่างๆ ไร้การทุจริตคอร์รัปชั่น

นายบัณฑูร กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นยุคของอาเซียนจากเดิมที่เป็นยุคที่ชาติตะวันตกเป็นผู้นำ โดยขณะนี้อยู่ในโลกที่จีน ญี่ปุ่น และอาเซียนเป็นคู่ค้าของทั่วโลก โดยเศรษฐกิจของจีน ญี่ปุ่น และอาเซียนคิดเป็นสัดส่วน 23% ของโลก ยังมีโอกาสในการขยายและสร้างธุรกิจ พร้อมมองว่าอีก 10 ปีข้างหน้าอาเซียนจะเป็นตลาด 1 ใน 3 ของการค้าของไทย และแนวโน้มดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องคำนึงและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก

ทั้งนี้ ไทยยังเป็นประเทศที่ต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนโดยตรง โดยเฉพาะญี่ปุ่น ขณะที่ปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างการสร้างเศรษฐกิจที่เป็นส่วนหนึ่งในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะจีนที่อยู่ในช่วงขยายธุรกิจไปทั่วภูมิภาค และรัฐบาลใหม่ยังมีนโยบายผลักดันให้จีนไปลงทุนในต่างประเทศ

โดยมองว่าภาคธุรกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทายที่เป็นกรอบใหญ่ระดับประเทศ จากการที่ประชากรวัยทำงานลดลง ซึ่งจะทำให้ไทยขาดแคลนแรงงานในอนาคต จากปัจจุบันประชากรวัยเยาว์ที่จะเข้าสู่วัยแรงงานในอนาคตอยู่ที่ 15% และในปี 2025 จะเหลืออยู่ที่ 12% ขณะที่ประเทศอื่นในอาเซียนมีประชากรวัยเยาว์ที่จะเข้าสู่วัยแรงงานที่ 18-20% และในปี 2025 จะอยู่ที่ 15-16% โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรของไทยมีเพียง 0.4% ขณะที่ประเทศอื่นในอาเซียนมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรอยู่ที่ 0.8-0.9%

นอกจานี้ภาคธุรกิจไทยควรขยายกรอบวิสัยทัศน์โดยมองไปนอกประเทศ เนื่องจากตลาดที่กว้างขึ้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตยังสูงเกินไป จึงต้องหาแนวทางลดต้นทุนการผลิตรีเอ็นจิเนี่ยริ่ง, การย้ายฐานผลิต รวมทั้งการสร้างมูลค่าให้สินค้าโดยการสร้างแบรนด์ และเพิ่มความสามารในการเจรจากับคู่ค้า โดยเพิ่มความรู้ทางภาษาให้มีความหลากหลายขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ