กฟผ.เตรียมลงทุน 3 แสนลบ.ในช่วง 5 ปี พัฒนาโรงไฟฟ้า-ระบบสายส่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 3, 2013 18:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า(56-60) กฟผ.มีแผนจะลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้า งบประมาณรวมกว่า 3 แสนล้านบาท โดยร้อยละ 60 เป็นการลงทุนโรงไฟฟ้า ส่วนอีกร้อยละ 40 เป็นการลงทุนระบบส่ง โดยการลงทุนโรงไฟฟ้า ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าวังน้อย หน่วยที่ 4 /โรงไฟฟ้าจะนะ หน่วยที่ 2 /โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ หน่วยที่ 2 /โรงไฟฟ้าถ่านหินทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 4-7 ซึ่งจะสร้างเป็นโรงไฟฟ้าเพียงหน่วยเดียว แต่มีกำลังผลิตเท่ากับโรงไฟฟ้าที่หมดอายุที่ 600 เมกะวัตต์ แต่ใช้ถ่านหินลดลงจาก 4 ล้านตันต่อปี เหลือ 2.6 ล้านตันต่อปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2 ล้านตันต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีโครงการขยายโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ลำตะคอง หน่วยที่ 3 และ 4 กำลังผลิต 500 เมกะวัตต์ จากเดิมมีอยู่ 2 หน่วย ทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 เมกะวัตต์ และโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดแห่งใหม่ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ในจังหวัดกระบี่ เบื้องต้นอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม(EHIA) และคาดว่า จะเริ่มก่อสร้างในอีก 2 ปีข้างหน้า จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2562

ผู้ว่า กฟผ.กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยส่วนใหญ่ตอบรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว แม้มีบางส่วนที่ยังมีความกังวลปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่ง กฟผ.ได้เชิญผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขมาให้ข้อเท็จจริงแก่ประชาชน โดยมั่นใจ เทคโนโลยีที่ กฟผ.เลือกใช้เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถดักจับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้เกือบทั้งหมด และปล่อยฝุ่นละอองต่ำกว่ามาตรฐานกำหนด แต่ยอมรับว่า ภาครัฐจะต้องใช้ความเข้มแข็งในการผลักดันโครงการ เพราะจะต้องมีผู้ไม่เห็นด้วยไม่มากก็น้อย

"การผลักดันการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์ของ กฟผ. ที่ต้องการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้เทียบเท่าระดับสากล และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ เพราะไทยพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเกือบร้อยละ 70 ขณะที่แหล่งเชื้อเพลิงในประเทศกำลังหมดไป โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ทำให้ในอนาคต ไทยจำเป็นต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี ซึ่งมีราคาแพง มาใช้ในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น" ผู้ว่า กฟผ. ระบุ

สำหรับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ผู้ว่า กฟผ. ยอมรับว่า จะทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าต่ำลง สะท้อนผ่านค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. ที่ลดลง 5.12 สตางค์ต่อหน่วย รวมทั้งจะส่งผลดีต่อการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่ง กฟผ. ได้สนับสนุนให้บริษัทในเครือ เช่น บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง (RATCH )และ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งทั้ง กฟผ. และบริษัทลูกทั้งสองแห่ง มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนในระดับต่ำเพียง 0.5 เท่า จึงมีศักยภาพในการลงทุนอีกมาก และการออกไปลงทุนต่างประเทศ จะช่วยชะลอไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเกินไป โดยจะเลือกลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าและสายส่งกับอาเซียน และไทยได้รับประโยชน์จากการซื้อไฟฟ้าในราคาถูก

ขณะที่ผลกระทบด้านการเงินจากการแข็งค่าของเงินบาทไม่มีผลกระทบต่อ กฟผ. เนื่องจากหนี้สินที่มีอยู่ขณะนี้ประมาณ 1.6 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่ร้อยละ 98 เป็นเงินบาท โดยมีสินทรัพย์มากกว่า 4.3 แสนล้านบาท ขณะที่กำไรอยู่ที่ประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ