กรมการค้าต่างประเทศลั่นปีงบ 57 เร่งระบายข้าวสต๊อกรัฐ-ดูแลสิทธิประโยชน์การค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 11, 2013 17:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้แถลงนโยบายสำหรับปีงบประมาณ 57 ว่า กรมการค้าต่างประเทศมีงานเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ คือ การบริหารจัดการสินค้าเกษตรตามนโยบายรัฐบาลให้เกิดผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุดจากนโยบายนี้

นอกจากงานเร่งด่วน ยังมีงานด้านการส่งเสริมการค้า ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่เป็นกลจักรสำคัญในการสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าต่าง ๆ ที่ประเทศไทยมีอยู่ อาทิ GSP และ FTA เพราะระบบสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ดังกล่าว จะสามารถช่วยลดต้นทุนในการส่งออกให้กับผู้ประกอบการของไทย และสร้างความได้เปรียบต่อสินค้าคู่แข่งจากต่างประเทศ

และ ยังมีสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ การส่งเสริมการค้าชายแดนให้ขยายตัวและมีความเข้มแข็ง เพราะการค้าชายแดนเป็นช่องทางการค้าที่สำคัญของไทย ในการที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ และการค้าชายแดนยังเป็นเครื่องยืนยันถึงความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของไทย ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58 โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ให้ได้ถึง 1 ล้านล้านบาทภายในปี 56

นโยบายสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การเป็นศูนย์กลางในการติดตาม ดูแล แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วนและรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคที่เกิดจากมาตรการ ที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs) หรือ อุปสรรคการค้าในลักษณะอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทย โดยเน้นการติดตามมาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้า เช่น Export Control, WEEE, REACH, RoHS เป็นต้น และทำหน้าที่เป็นศูนย์แจ้งเตือนภัย (Early Warning Center) ให้กับผู้ส่งออกและผู้ประกอบการของไทย ให้ปรับตัวได้ทัน สามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง ไม่เป็นอุปสรรคในการส่งออกและนำเข้าของไทย

ในด้านการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ มีเครื่องมือในการดำเนินการเพื่อคุ้มครองภาคการผลิตและผู้ประกอบการภายในประเทศ คือ การใช้มาตรการ AD / VCD / SG เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นและการทุ่มตลาดของสินค้าจากต่างประเทศ และเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า มีกองทุน FTA ที่สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า โดยจะให้ความช่วยเหลือในทุกแง่มุมทั้งในด้านการศึกษาวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ สามารถแข่งขันกับสินค้าที่มาจากต่างประเทศได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ