นักบริหารเงิน กล่าวว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 32.12/13 บาท/ดอลลาร์ ใกล้เคียงจากช่วงเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 32.11/12 บาท/ดอลลาร์
ล่าสุดเงินบาทอ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 32.18 บาท/ดอลลาร์ ทิศทางเงินบาทวันนี้มีแนวโน้มอ่อนค่าตามสกุลเงินในภูมิภาค เนื่องจากดอลลาร์มีโอกาสกลับมาแข็งค่าจากที่คาดกันว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) อาจจะปรับลดมาตรการ QE ลงบางส่วนภายในปีนี้
"ดอลลาร์เริ่มกลับมาแข็ง จากผลเรื่อง QE ที่มองกันว่าอาจจะ cut ส่วนหนึ่งก่อน แต่ไม่ทั้งหมด เป็นการทำ position ไว้รอพรุ่งนี้ เพราะตลาดยังไม่ค่อยคึกคักเท่าไร ตลาดค่อนข้างบางๆ ส่วนหนึ่งคงเพราะใกล้สิ้นปีด้วย" นักบริหารเงิน ระบุนักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.07-32.20
- ปัจจัยสำคัญ
- เปิดตลาดเช้านี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 102.89/91 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 102.93 เยน/ดอลลาร์
- ส่วนเงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.3766/3769 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.3770 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของ ธปท.อยู่ที่ระดับ 32.0500 บาท/ดอลลาร์
- นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในขณะนี้ ธปท.กำลังติดตามสถานการณ์การประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FOMC ที่จะประชุมในวันที่ 17-18 ธ.ค. (ตามเวลาสหรัฐฯ) ซึ่งในขณะนี้สถานการณ์ในตลาดการเงินยังคงเป็นปกติ ยังไม่มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนในลักษณะที่ผิดปกติ หรือเก็งกำไร ตามการคาดการณ์การตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แต่อย่างใด
- นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ชี้แจงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า หากในวันที่ 2 ก.พ. 2557 ไม่มีการเลือกตั้ง และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดมาตรการอัดฉีดปริมาณเงิน จะทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกอย่างหนัก และค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างมาก เพราะนักลงทุนไม่มั่นใจต่อประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตย
- สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยนและยูโร ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้(17 ธ.ค.) ขณะที่นักลงทุนกำลังจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ในสัปดาห์นี้อย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าเฟดจะปรับลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมครั้งนี้ตามที่มีกระแสคาดการณ์หรือไม่
- กระทรวงแรงงานสหรัฐ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) ไม่เปลี่ยนแปลงในเดือนพ.ย. หลังจากลดลง 0.1% ในเดือนก่อนหน้า
- ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยโดยสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติของสหรัฐ (NAHB) และเวลส์ ฟาร์โก แสดงให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นของผู้สร้างบ้านสหรัฐในตลาดบ้านเดี่ยวที่สร้างขึ้นใหม่นั้นปรับตัวขึ้น 4 จุด มาอยู่ที่ 58 ในเดือนธ.ค.
- ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป(ZEW) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักวิเคราะห์ในเยอรมนีที่มีต่อสภาพเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 62.0 จากระดับ 54.6 ในเดือนพ.ย. ขณะที่ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีในเดือนธ.ค.2556 ที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2549 ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจเยอรมนีอาจขยายตัวแข็งแกร่งขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีส่งผลให้สกุลเงินยูโรแข็งค่าขึ้น
- ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเช้าวันนี้ โดยดัชนี MSCI Asia Pacific เพิ่มขึ้น 0.4% สู่ระดับ 138.12 จุด เมื่อเวลา 09.31 น.ตามเวลาโตเกียว ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้ ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเฟดจะพิจารณาเรื่องการชะลอมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรก่อนที่จะทราบผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค.ลดลง 26 เซนต์ ปิดที่ 97.22 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ที่ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนม.ค.ลดลง 97 เซนต์ ปิดที่ 108.44 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐ (EIA) เปิดเผยรายงานคาดการณ์แนวโน้มพลังงาน (Annual Energy Outlook) สำหรับปี 2557 ว่า การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐจะปรับตัวขึ้นใกล้ระดับสูงสุดในประวัติการณ์ภายในปี 2559 ขณะที่ความเฟื่องฟูด้านพลังงานจะยังคงมีบทบาทในการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจสหรัฐอย่างต่อเนื่อง โดยการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐในแต่ละปีจะเพิ่มขึ้นประมาณ 800,000 บาร์เรล/วัน (bdp) แตะที่ 9.5 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2559 ซึ่งใกล้เคียงกับระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 9.6 ล้านบาร์เรล/วันที่ทำไว้เมื่อปี 2513