สนพ.คาดแผน PDP 2015 เสร็จกลาง ธ.ค.,ลดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 8, 2014 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เผยความคืบหน้าการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579(PDP 2015) ว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยหลังจากรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนครบ 4 ครั้งแล้วจะรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำร่างแผน PDP2015 และรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งภายในปลายเดือน พ.ย.นี้ และคาดว่าจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) พิจารณาได้ราวช่วงต้นเดือนหรือกลางเดือน ธ.ค.

สำหรับสาระในแผน PDP 2015 จะลดการใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนการใช้สูงถึง 65-70% แล้วหันมาเพิ่มโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินสะอาดมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้ถ่านหินสะอาดมากขึ้นซึ่งมีต้นทุนผลิต 3 บาท/ยูนิต ขณะที่ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วราว 6 ปี ซึ่งมีราคา 240 บาท/ล้านบีทียู และนำเข้าก๊าซจากพม่าในราคา 300 บาท/ล้านบีทียู อีกทั้งแนวโน้มจะนำเข้าก๊าซ LNG ที่มีต้นทุน 400 บาท/ล้านบีทียู ซึ่งทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้น

ทั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งปรถเทศไทย(กฟผ.)กำลังพิจารณาพื้นที่เหมาะสมในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน หากจัดหาได้ก็จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็น 3 ครั้ง นอกเหนือจากการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรายงานผลกระทบด้านสุขภาพของชุมชนที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้าด้วย

ขณะที่แผน PDP 2015 จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะเกิดในปลายแผน ซึ่งจะต้องติดตามศึกษาเทคโนโลยี โดยมีคณะทำงานติดตามอยู่แล้ว นอกจากนี้จะมีการกำหนดปริมาณสำรองไฟฟ้า 15% เพื่อป้องกันเกิดกรณีไฟฟ้าดับ

สำหรับการประชุม กพช.ในวันที่ 22 ต.ค.นี้ จะมีการพิจารณาอัตราส่งเสริมพลังงานทดแทน นอกเหนือจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานแผน PDP 2015 ด้วย

ด้านนายสุชาลี สมามาลย์ รองผู้อำนวยการ สนพ. กล่าวว่า แผน PDP 2015 จะให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนที่เชื้อเพลิงราคาต่ำ ได้แก่ พลังงานชีวมวล พลังงานชีวภาพ พลังงานจากขยะ ทั้งนี้แผน PDP เดิมกำหนดสัดส่วนไว้ที่ 25%

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนดังกล่าวจะดูศักยภาพทำได้มากน้อยอย่างไร โดยในส่วนพลังงานจากขยะร่วมมือหับกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นผู้รวบรวมขยะในแต่ละท้องถิ่นและกระทรวงพลังงานทำหน้าที่ส่งเสริม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ