(เพิ่มเติม) ADB ลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 57 เหลือโตราว 1% จาก 1.4-1.5%,ปี 58 โต 4%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 19, 2014 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทาเคฮิโกะ นากาโอะ ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย(ADB) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปี 57 เหลือโตราว 1% จากเดิม 1.4-1.5% เนื่องจากมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ และมองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 อาจจะมีความล่าช้าจากปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐซึ่งทำให้แรงส่งต่อเศรษฐกิจยังไม่เกิดผลเท่าที่ควร

ขณะที่ปี 58 คาดว่า GDP ของไทยจะเติบโต 4% จากเดิม 4.5% มองเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวและไม่เป็นไปตามคาด ประกอบกับรัสเซียมีปัญหาเศรษฐกิจ รวมทั้งเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปยังฟื้นตัวได้ไม่เข้มแข็ง ขณะที่ต้องจับตาสถานการณ์ของประเทศญี่ปุ่นหลังการเลือกตั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการส่งออกในปีหน้าที่ยังไม่สามารถเป็นพระเอกที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ จึงเป็นเหตุผลให้มีการปรับ GDP ปี 58 ลดลง

ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศจากการบริโภคภาคเอกชนก็ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งมีผลมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ดังนั้นพระเอกสำหรับในปีหน้าคือการลงทุนภาครัฐ โดย ADB ประเมินว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ไม่ถึง 1% ลดลงจากเดิมที่คาดไว้ว่าจะโตได้ 2% ส่วนปีหน้าคาดว่าการส่งออกจะโตได้ 3% ลดลงจากที่เคยคาดไว้ที่ 4-5%

ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในปี 58 ซึ่งที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีความผันผวนสูง หลังจากประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก, ภาวะน้ำท่วมใหญ่ รวมทั้งปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ แต่การที่ ADB มองแนวโน้ม GDP ไทยปีหน้าว่าจะโตได้ 4% นั้นมาจากความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้น การใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวที่ระดับ 4% อาจยังไม่ถือว่าเติบโตได้เต็มศักยภาพที่ไทยมีอยู่ เพราะโดยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งและมั่นคง ทั้งนี้หากประเทศไทยมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ตลอดจนด้านการศึกษา รวมทั้งการนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตไปด้วยกันแล้ว ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะมีโอกาสขยายตัวได้มากกว่า 5%

ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยตั้งอยู่บนพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และมีฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่กว้าง รวมทั้งมีทรัพยากรธรรมชาติมากมายสำหรับธุรกิจเกษตรและการท่องเที่ยว ประเทศไทยจึงมีโอกาสสูงที่จะได้ยกระดับฐานะให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง จากความพยายามในการปฏิรูป และมีนโยบายที่เหมาะสม นอกจากนี้าภาวะเศรษฐกิจไทยยังมีความสำคัญมากต่อประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงด้วย

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีความท้าทายที่สำคัญ คือ เรื่องความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นปัญหาที่ไทยต้องเผชิญ แต่หลายๆ ประเทศเองก็ต้องเผชิญด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปภาคการศึกษา เพื่อสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนา รองรับตลาดแรงงานที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันต้องสร้างธรรมาภิบาลที่ดี ปรับปรุงประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ การต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น รวมทั้งการปรับปรุงระบบบำนาญให้มีความเข้มแข็งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ขณะที่นางลักษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส ธนาคารพัฒนาเอเชีย(ADB) ประจำประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในรัสเซียขณะนี้จากที่เงินรูเบิลอ่อนค่า และธนาคารกลางรัสเซียได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปถึงระดับ 17% จาก 10.5% ว่า ADB มองว่าสถานการณ์ดังกล่าวของรัสเซียจะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศในภูมิภาคอาเซียนเท่าใดนัก เนื่องจากเศรษฐกิจของอาเซียนและรัสเซียไม่ได้มีความผูกพันกันโดยตรง แต่อาจจะเกิดความแตกตื่นของตลาดเพียงชั่วคราวเท่านั้น และคงไม่มีผลกระทบในเชิงลึก ขณะที่มองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อประเทศในแถบเอเชียกลางมากกว่า เนื่องจากมีการค้าขายระหว่างกันโดยตรง


แท็ก เอเชีย   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ