(เพิ่มเติม) ธปท.คาดปี 58 สินเชื่อโต 7% ดีขึ้นกว่าปีก่อนที่โตชะลอลงเหลือ 5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 12, 2015 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คาดว่าสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 58 จะเติบโตได้ 7% ถือว่าดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้เป็นการเร่งตัวขึ้นมากนัก โดยในปี 57 สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์เติบโตราว 5% ชะลอตัวลงจากในปี 56 ที่เติบโต 11% เนื่องจากปัญหาการเมืองภายในประเทศช่วงครึ่งปีแรก ประกอบกับสถานการณ์การส่งออกชะลอตัวลง รวมทั้งหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ทรงตัวที่ 21.5% โดยทั้งปีที่ผ่านมาระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 2.14 แสนล้านบาท เติบโต 5% จากปี 56

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท.เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ปี 57 ว่าระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงมีเสถียรภาพ โดยสินเชื่อขยายตัวชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานชะลอลง คุณภาพสินเชื่อโดยรวมทรงตัวแต่ด้อยลงบ้างในสินเชื่ออุปโภคบริโภค อย่างไรก็ดี ระบบธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองและมีเงินกองทุนในระดับสูง สามารถรองรับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจได้

"ภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงครึ่งปีแรกและการส่งออกที่หดตัว กอปรกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้สินเชื่อขยายตัวะ 5.0 ในปี 57 (เทียบกับร้อยละ 11.0 ในปี 56) ชะลอตัวต่อเนื่องทั้งจากสินเชื่อธุรกิจโดยเฉพาะสินเชื่อ SME และสินเชื่ออุปโภคบริโภค"นายจาตุรงค์ กล่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบรายไตรมาส สินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบปีที่ 2.9% ในไตรมาส 4/57 ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง สินเชื่อธุรกิจ(68.9% ของสินเชื่อรวม)ขยายตัว 4.0% ในปี 57 ชะลอลงต่อเนื่องในทุกภาคธุรกิจ และหดตัวในภาคธุรกิจการเงินและภาคบริการ ขณะที่สินเชื่อภาคสาธารณูปโภคยังขยายตัวได้ดี สำหรับสินเชื่อ SME ขยายตัวชะลอลงมากจาก 14.7% ในปี 556 มาอยู่ที่ 2.2% ในปี 57 ส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังขยายตัวได้ที่ 6.2% สินเชื่ออุปโภคบริโภค(31.1% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 7.4% ชะลอตัวต่อเนื่อง จากการหดตัวของสินเชื่อรถยนต์และการชะลอตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวได้ดีใกล้เคียงกับปีก่อน

คุณภาพสินเชื่อโดยรวมทรงตัว โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)มียอดคงค้าง 277.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.5 พันล้านบาทจากปีก่อน สัดส่วน Gross NPL ทรงตัวที่ 2.15% ขณะที่สัดส่วน Net NPL เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.08% อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคมีแนวโน้มด้อยลงบ้าง โดยสัดส่วน NPL เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.4% จากสินเชื่อรถยนต์สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan:SM) เพิ่มขึ้นเป็น 336.4 พันล้านบาท จากสินเชื่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตเป็นสำคัญ ส่งผลให้สัดส่วน SM ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 2.4% เป็น 2.6%

อย่างไรก็ดี ธนาคารพาณิชย์มีการกันเงินสำรองในระดับสูงต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้สัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นเป็น 169.4%

ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรต่อเนื่องแต่ชะลอลง โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นและ Net Interest Margin (NIM) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2.55% เป็น 2.60% อย่างไรก็ตาม รายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลง กอปรกับค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเพียง 7.7 พันล้านบาท หรือขยายตัว 2.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลงเนื่องจากได้กันไว้มากแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 10.2 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5% เทียบกับ 17.3% ในปีก่อน โดย ROA ทรงตัวอยู่ที่ 1.32%

เงินกองทุนอยู่ในระดับสูง โดยเพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไรเป็นสำคัญ ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier-1 ratio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 16.8% และ 13.7% ตามลำดับ เทียบกับ 15.7% และ 12.6% ในปี 56


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ