กพช.มีมติรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตฯ 50 MW,รับซื้อจาก SPP ที่จะครบกำหนด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 16, 2015 16:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีมติให้รับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะอุตสาหกรรมจำนวน 50 เมกะวัตต์ และกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าพิเศษในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) พร้อมทั้งเห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก(SPP) ที่มีโรงไฟฟ้าจะครบอายุตามสัญญา โดยกำหนดให้เสนอขายไฟฟ้าเข้าระบบในปริมาณไม่เกิน 20% ของกำลังการผลิตติดตั้ง ขณะที่คาดว่าอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 3.79 บาท/หน่วย ลดลงจากปีที่แล้ว

การประชุมกพช.วันนี้ ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะอุตสาหกรรมเพื่อให้การจัดการขยะเป็นไปอย่างครบวงจรและครอบคลุมขยะทุกประเภท เพราะก่อนหน้านี้ขยะชุมชนได้มีการส่งเสริมไปแล้ว โดยมีมติเห็นชอบให้รับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในปริมาณ 50 เมกะวัตต์ ซึ่งนับเป็นส่วนเพิ่มจากเป้าหมายตามกรอบแผนแม่บทแห่งชาติในการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) โดยกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 58-62 ซึ่งแนวทางส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมนั้นมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) รับไปพิจารณาให้ความเห็นชอบในรายละเอียด และตั้งอนุกรรมการเพื่อออกหลักเกณฑ์และคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ พร้อมรายงานความคืบหน้าต่อ กพช. เป็นระยะต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบตามหลักการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาของกลุ่ม SPP ที่ผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผลิตพลังงานร่วม (Cogeneration) ประเภทสัญญา Firm ในกลุ่มที่รับซื้อไฟฟ้ารอบก่อนปี 50 ซึ่งกำลังจะทยอยสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 60-68 จำนวน 25 โครงการ โดยที่ประชุมกำหนดให้เสนอขายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในปริมาณที่จำเป็นโดยไม่เกิน 20% ของกำลังการผลิตติดตั้งเดิมและในราคาไม่เกินอัตราค่าไฟฟ้าในรูปแบบผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่(IPP)

สำหรับการที่กพช.ต้องพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะเห็นว่าผู้ผลิตไฟฟ้า SPP ยังมีความจำเป็นสำหรับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำอย่างต่อเนื่อง และเพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพรวมการลงทุนของประเทศ เป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในภาคอุตสาหกรรม แต่ทั้งนี้เพื่อให้เป็นภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ระบบโคเจนเนอเรชันตั้งแต่ปี 35 จนถึงปัจจุบันจำนวน 82 โครงการ คิดเป็นปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญารวม 6,901 เมกะวัตต์

ขณะเดียวกันกพช. ยังมีมติขยายกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร จากเดิมภายในปี 58 เป็นภายในวันที่ 30 มิ.ย.59 เนื่องจากมีข้อจำกัดเกี่ยวกับระเบียบของหน่วยราชการ เช่น การขอใช้ที่ราชพัสดุ และขั้นตอนการดำเนินการตามพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 รวมทั้งให้ขยายระยะเวลาในการออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT- Bidding ไม่รวมพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับปี 58 จากเดิมให้แล้วเสร็จในวันที่ 30 ม.ค.58 เป็นวันที่ 27 ก.พ.58

นอกจากนี้ กพช. ยังเห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 ทั้งนี้เพื่อเป็นการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศให้สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับการพัฒนาด้านพลังงานในระยะต่อไปได้อย่างยั่งยืน และจะช่วยยกระดับความสามารถของระบบไฟฟ้า เสริมระบบไฟฟ้าของให้มีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพ ช่วยยกระดับคุณภาพบริการต่อผู้ใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานจะรับไปดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด และจะมานำเสนอกบง. พิจารณาอนุมัติต่อไป

กพช.ยังเห็นชอบให้กระทรวงพลังงานประกาศเพิ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงอีก 3 รายการ คือ เตาอบไฟฟ้า กระทะไฟฟ้าก้นตื้น และตู้น้ำเย็น ตู้น้ำร้อน-น้ำเย็นสำหรับบริโภค โดยออกเป็นกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป นอกจากนั้น ยังได้อนุมัติกลไกการส่งเสริมโดยมอบให้กระทรวงการคลังพิจารณาออกพระราชกฤษฎีกาลดหย่อนภาษีสำหรับเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรืออุปกรณ์เบอร์ 5 นั่นเอง

          ที่ประชุมกพช. ยังได้มีการรายงานแนวโน้มสถานการณ์พลังงานในปี 58 ซึ่งมีอัตราการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 53 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ลดลงจากปี 57 ซึ่งอยู่ในระดับเฉลี่ย 97 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หรือลดลงถึง 45% และอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 3.79 บาท/หน่วย ลดลงจากเฉลี่ยปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 3.93 บาท/หน่วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน
          พร้อมกันนั้น กระทรวงพลังงานได้รายงานแผนการหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติ ปี 58 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของไทย โดยในช่วงครึ่งปีแรก ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในสหภาพเมียนมาร์จะหยุดซ่อมบำรุง 2 ช่วงเวลาคือ 11-19 เม.ย. และวันที่ 20-27 เม.ย. ส่วนครึ่งปีหลัง แหล่งผลิตก๊าซฯ JDA พื้นที่พัฒนาร่วมไทย – มาเลเซีย ก็จะหยุดซ่อมบำรุงช่วงเดือนมิ.ย. และ ก.ย.
          ทางกระทรวงพลังงานขอยืนยันว่า ได้เตรียมแผนรองรับสถานการณ์ดังกล่าวไว้พร้อมแล้ว โดยได้มีการจัดซักซ้อมแผนรองรับสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานในวันที่ 18 มี.ค. การกำกับดูแลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมดำเนินการตามแผน โดยได้มีการขอความร่วมมือกับประเทศมาเลเซียให้มีการจัดส่งก๊าซฯเพิ่ม และใช้น้ำมันเตามาผลิตไฟฟ้าแทน ซึ่งเป็นช่วงจังหวะที่ดีเพราะราคาน้ำมันเตาราคาถูกลง ขณะเดียวกันจะรณรงค์กับทุกภาคส่วนร่วมกันประหยัดพลังงานในช่วงเวลาดังกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ