สศก.หวั่นอนาคตปริมาณน้ำมันปาล์มล้นตลาด แนะปล่อยราคาตามกลไก ไม่ควรบิดเบือน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 27, 2015 14:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หากมองถึงอนาคตน้ำมันปาล์มของไทย ต้นทุนการผลิตผลปาล์มสดของเกษตรกรไทย อยู่ที่ 3.38 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยการให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มรับซื้อผลผลิตปาล์มผลสด 4.20 บาทต่อกิโลกรัม และให้โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม โรงงานผลิตไบโอดีเซล และผู้รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบทั่วไปรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) จากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ในราคาไม่ต่ำกว่า กิโลกรัมละ 26.20 บาท

อีกด้านหนึ่งก็ถือว่าเป็นการช่วยผู้บริโภคด้วย เพราะราคาน้ำมันปาล์มดิบดังกล่าวสามารถผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์บรรจุขวด ได้ไม่เกินราคาควบคุมที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ 42 บาท/ขวด(ลิตร) ซึ่งนโยบายดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่การดำเนินนโยบายดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการบิดเบือนกลไกตลาดและส่งผลให้ราคาปาล์มในประเทศสูงกว่าราคาในตลาดโลก โดยเฉพาะมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้นำตลาด และเมื่อพิจารณาราคาน้ำมันปาล์มดิบ พบว่า เดือนมิถุนายน ราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยอยู่ที่ 27.43 บาทต่อกิโลกรัม

ในขณะที่มาเลเซียประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปาล์ม อยู่ที่ 20.86 บาทต่อกิโลกรัม จะเห็นได้ว่าราคาของไทยสูงกว่าถึง 6.57 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลทำให้ในปีนี้ ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันส่งออกไปยังตลาดโลก ไม่สามารถส่งออกได้ รวมถึงมีผลทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มภายประเทศมีแนวโน้มลดลงด้วย เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่ใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นวัตถุดิบเริ่มหันไปนำเข้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปมาจากต่างประเทศทดแทน และมีภาคอุตสาหกรรมบางส่วนเริ่มส่งสัญญาณที่จะย้ายฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาในตลาดโลกค่อนข้างมาก

ประกอบกับปี 2558 ผลผลิตถั่วเหลืองในตลาดโลกเพิ่มขึ้นมากส่งผลทำให้ราคาถั่วเหลืองในตลาดโลกลดลง ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันถั่วเหลืองลดลงและกระแสไขมันทรานส์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคอาจหันไปบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองทดแทนน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นได้ ส่วนการผลิตไบโอดีเซลนั้น ขณะนี้ได้ใช้สัดส่วนผสมในน้ำมันดีเซลในอัตราที่สูงสุดแล้ว (B7) จึงคาดว่าปริมาณความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก

ทั้งนี้ จากปัจจัยทั้งทางด้านการผลิต ต้นทุน ราคา ที่สูงขึ้น สวนทางกับปริมาณการบริโภค การส่งออก จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ปริมาณน้ำมันปาล์มจะล้นตลาดในอนาคต จะเห็นว่าโดยรวมแล้ว อุปสงค์หรือความต้องการบริโภคทั้งในและนอกประเทศมีแนวโน้มลดต่ำลง แต่อุปทานหรือปริมาณการผลิตนั้นยังมีอยู่มาก หากยังมีการดำเนินการแทรกแซงราคา ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งในมุมมองทางด้านเศรษฐศาสตร์ การแทรกแซงราคาตลาด ทำให้เกิดการบิดเบือนราคา และไม่เกิดจุดดุลยภาพที่แท้จริง หากยังเป็นอย่างนี้ต่อไป ในอนาคตอาจทำลายอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยได้ ซึ่งอย่างน้อยที่สุด การกำหนดราคารับซื้อผลปาล์มคุณภาพตามเปอร์เซ็นน้ำมันที่กำหนดขึ้นจะต้องเป็นราคาที่สะท้อนถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกด้วย เช่น ถ้าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ราคาผลปาล์มคุณภาพ (17%) ก็ต้องปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในทางตรงข้าม ถ้าหากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง ราคาผลปาล์มคุณภาพ (17%) ก็ต้องปรับลดลงตามไปด้วย

ดังนั้น กล่าวได้ว่าปัจจุบันปาล์มน้ำมันไทย เปรียบเสมือนคนที่เดินอยู่บนสายเส้นลวด หากทรงตัวไม่ดีพอ อาจร่วงหล่นลงมาได้ และเพื่อให้อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยตลอดจนเกษตรกร สามารถเดินต่อไปได้ การปล่อยให้กลไกราคาดำเนินไปตามธรรมชาติอาจเป็นทางออกที่ดีกว่า เมื่อถึงช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ราคาย่อมถูกลงตามกลไกตลาด จนกระทั่งเมื่อผลผลิตเริ่มน้อยลง ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น โดยเกษตรกรเองนั้น หากต้องการราคาขายที่ดีก็ต้องพยายามผลิตปาล์มให้ได้คุณภาพที่ดี ซึ่งภาครัฐจะเข้าไปช่วยเหลือในการปลูกปาล์มให้ได้คุณภาพที่ดีควบคู่ไปด้วย ตั้งแต่การปลูก การสกัด การแปรรูป การวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และสำหรับผู้ประกอบการโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และผลิตน้ำมันปาล์ม ก็จำเป็นต้องมีการคาดการณ์ว่าช่วงเวลาใดที่ผลผลิตปาล์มจะขาดแคลน เพื่อปรับตัววางแผนการซื้อวัตถุดิบไว้เพื่อป้องกันการขาดแคลนวัตถุดิบป้อนโรงงาน และที่สำคัญคือการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อใช้ปัจจัยการผลิตร่วมกัน ซึ่งช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลงได้ ทั้งนี้ ความสำเร็จอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอยู่ที่ฝ่ายโรงงานและเกษตรกรจะหาจุดสมดุลเพื่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรม อย่าหวังให้รัฐสนับสนุนเพียงฝ่ายเดียว เพราะนั่นคือการเดินเข้าไปสู่ความเสี่ยงของอุตสาหกรรมดังกล่าว

สำหรับสถานการณ์พื้นที่ให้ผลผลิตปาล์มของประเทศไทยขณะนี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด โดยในปี 2558 มีพื้นที่ให้ผลผลิตปาล์มน้ำมัน 4,400,589 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่จำนวน 4,148,168 ไร่ (ร้อยละ 6.09) เช่นเดียวกับปริมาณผลผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอด

ในปี 2558 ผลผลิตมีจำนวน 12,205,776 ตัน ลดลงจากปี 2557 ที่จำนวน 12,503,447 ตัน หรือลดลง ร้อยละ 2.38 (เนื่องจากอิทธิพลภัยแล้งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2556/2557 และ 2558) เมื่อคำนวณอยู่ในรูปน้ำมันปาล์มดิบ ปี 2558 ไทยจะมีน้ำมันปาล์มดิบออกสู่ตลาดประมาณ 2,074,982 ตัน (อัตราน้ำมันร้อยละ 17) เมื่อบวกกับสต็อกต้นปี 168,000 ตัน คาดว่าทั้งปีจะมีน้ำมันปาล์มดิบทั้งหมด 2,242,982 ตัน

ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบในปี 2558 คาดว่ามีประมาณ 1,854,000 ตัน โดยแบ่งเป็น ความต้องการใช้เพื่อการบริโภค-อุปโภค 929,000 ตัน เพื่อผลิตไบโอดีเซล 854,000 ตัน และเพื่อการส่งออก 71,000 ตัน หากความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นเช่นนี้ คาดปลายปี 2558 จะมีสต็อกประมาณ 388,982 ตัน ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2534 ประเทศไทยสามารถผลิตปาล์มน้ำมันดิบได้มากกว่าความต้องการใช้ภายในประเทศมาโดยตลอด ยกเว้นบางปีที่จะต้องมีการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย เพื่อน้ำมาใช้ผลิตเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์บรรจุขวด และช่วงต้นปี 2558 รัฐบาลได้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มเข้ามาเพิ่มในสต็อกอีก 50,000 ตัน ซึ่งแม้ว่าน้ำมันปาล์มจำนวนดังกล่าวได้นำไปผลิตและจำหน่ายเป็นปาล์มบริสุทธิ์บรรจุขวดเรียบร้อยแล้ว แต่ในภาพรวม ส่งผลทำให้สต็อกน้ำมันปาล์มดิบปลายปีมีประมาณเพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ