รมว.เกษตรฯ คาดเริ่มรับซื้อยางได้ 25 ม.ค.นี้, สัปดาห์หน้าประชุมบอร์ดกยท.นัดแรก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 14, 2016 17:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การแก้ไขวิกฤติราคายางลดลงอย่างผิดปกติของรัฐบาลได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การติดตามราคายางอย่างต่อเนื่องและพบว่าราคายางลดลงอย่างผิดปกติตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.58 จนถึงต้นเดือน ม.ค.59 โดยกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาวางมาตรการแก้ไขวิกฤติราคายางลดลงอย่างผิดปกติ ดังนี้

วันที่ 7 ม.ค.59 ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการยางพารา 4 องค์กร ได้แก่ สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย, สมาคมยางพาราไทย, สมาคมน้ำยางข้นไทย และชุมนุมสหกรณ์เกษตรอุตสาหกรรมยางแห่งประเทศไทย ขอความร่วมมือให้ช่วยกันรักษาระดับราคาไม่ให้ไหลลงไป หากยังไม่สามารถหยุดการไหลลงของราคาได้ ก็พร้อมจะใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าควบคุมสถานการณ์ ได้แก่ พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ.2542 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ของกระทรวงพาณิชย์ ผลคือ ราคาหยุดไหลงลงและค่อยๆขยับขึ้น จนล่าสุด ครม.เมื่อวันที่ 12 ม.ค.มีมติอนุมัติการรับซื้อยางพาราจำนวน 1 แสนตันจากเกษตรโดยตรงในราคานำตลาด

โดยวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคายางพารา ได้เคาะราคารับซื้อยางแผ่นดิบจากชาวสวนยางในราคากก.ละ 45 บาท ในปริมาณ 1 แสนตัน คิดเป็นเงินประมาณ 4,500 ล้านบาท เริ่มเข้าซื้อยางตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.59 โดยคณะกรรมการ กยท.จะเข้าไปกำกับดูแล ส่วนยางก้อนถ้วยและน้ำยางสด จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์

เบื้องต้นวันนี้มีกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม มาเสนอตัวเลขที่ต้องการใช้ยาง ยังไม่นับกระทรวงอื่นๆ เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ฯลฯ รวม 8 กระทรวง จะเสนอความต้องการมาที่กระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้รวบรวม โดยวันพรุ่งนี้ (15 ม.ค.) อคส.จะเชิญหน่วยงานเหล่านี้มาประชุมเพื่อปรับความต้องการซื้อให้ตรงกับปริมาณยางที่รัฐบาลจะรับซื้อ 1 แสนตัน แล้วก็จะนำเข้าสู่กระบวนการ สำหรับเงินจำนวน 4,500 ล้านบาทที่จะนำมาซื้อยาง 1 แสนตันนั้น จะมาจากเงินของการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ตามมาตรา 49 ของ พ.ร.บ.การยางฯ ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่าสามารถใช้เงินส่วนหนึ่งเข้ามาดำเนินการตรงนี้ได้

รมว.เกษตรฯ กล่าวเสริมว่า แก้ปัญหาราคายางพาราด้านเกษตรมีทั้งในส่วนของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และการวางรากฐานที่จะสร้างความเข้มแข็งยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งงานในส่วนของการวางรากฐานจะไม่เห็นผลในระยะ 1-2 เดือน เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกษตรกรให้มาปลูกพืชตามแนวคิดของกระทรวง ซึ่งงานวางรากฐานจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการทำงานอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้สำคัญ เพราะมันคืออนาคต ทุกวันนี้หลายกระทรวงหลายหน่วยงานไม่มีอนาคต เพราะไม่ได้มีการวางรากฐานเท่าที่ควร เราแก้แต่ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น

"ผมเรียนว่านักการเมืองส่วนใหญ่ไม่ทำ ไม่วางรากฐาน เพราะไม่เห็นผลในทันที ก็จะทำงานในลักษณะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่วันนี้รัฐบาลนี้ทำ 2 เรื่องพร้อมกัน เพราะฉะนั้นบางเรื่องอาจจะใช้เวลาและความอดทน แต่จำเป็น ไม่เช่นนั้นอนาคตของเราจะไม่มีถ้าเราไม่วางรากฐาน เราเคยพูดถึงเรื่องโซนนิ่งแต่มันไม่เกิด เราเคยพูดเรื่องจะให้เกษตรกรปลูกสินค้าเกษตรในอนาคตข้างหน้าตามความต้องการของตลาด ซึ่งมันเปลี่ยนไปหมด สภาพแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจเปลี่ยนไปหมด"รมว.เกษตรฯ กล่าว

สำหรับกระแสข่าวว่าน้อยใจจนคิดลาออกจากตำแหน่งรมว.เกษตรฯนั้น พล.อ.ฉัตรชัย ยืนยันว่าไม่น้อยใจ โดยจะยังทำหน้าที่ต่อไป ขณะเดียวกันได้ให้กำลังใจข้าราชการของกระทรวงเกษตรฯ ทุกคนด้วย จะท้อแท้น้อยใจไม่ได้ ซึ่งเร็วๆ นี้ ปัญหาภัยแล้งก็จะมาอีก และน่าจะหนักกว่าปัญหายางพารา ซึ่งได้ออกมาตรการไปก่อนล่วงหน้า 3 เดือนแล้วและเริ่มเดินหน้าไปแล้ว แต่การจะสร้างความเข้าใจกับคนทั้งประเทศก็เป็นเรื่องยาก แต่ไม่ใช่เรื่องที่เราจะท้อแท้ ต้องเดินหน้าและมุ่งมั่นทำต่อไป

"ยืนยันว่าไม่น้อยใจ สื่อไปเขียนกันเอง ผมอยากให้กำลังใจข้าราชการในกระทรวงเกษตรฯ ทุกคนว่าเราน้อยใจไม่ได้ จะต้องไม่น้อยใจ แม้ว่าเราจะรู้สึกเหนื่อย แต่เราน้อยใจไม่ได้ คนที่เข้ามาช่วยเราทำงานต้องขอบคุณเขา แต่งานหลักของเราก็ต้องทำตามหน้าที่ แม้วันนี้เราจะเผชิญปัญหาหลายเรื่องในกระทรวงเกษตรฯ สินค้าเกษตรตกต่ำ มันไม่ได้เพิ่งมาตกต่ำในช่วง 4 เดือนที่ผมเข้ามาเป็นรัฐมนตรี สาเหตุมีมาก่อนหน้านี้ และเราขาดการวางระบบ ต่อไปก็จะเจอภัยแล้งอีก กระทรวงเกษตรฯก็ต้องรับอีก"รมว.เกษตรฯ กล่าว

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยาง ภายหลังมีมติอนุมัติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ การยางแห่งประเทศไทยจำนวนแล้วจำนวน 8 คนนั้น ในวันนี้ได้มีการประกาศรายชื่อผู้แทนจากกรรมการโดยตำแหน่งอีก 7 คน ได้แก่ ผู้แทนกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่งอีก 1 คน ซึ่งถือว่าครบองค์ประกอบแล้ว โดยได้กำหนดให้มีการประชุมนัดแรกภายในสัปดาห์หน้า เพื่อเร่งแก้ปัญหายางพาราให้เดินหน้าต่อได้โดยเร็ว

ส่วนการสรรหาผู้ว่าฯกยท. ซึ่งได้ดำเนินการสรรหามาก่อนหน้านี้ 2 ครั้ง เนื่องจากคุณสมบัติผู้สมัครไม่ครบถ้วน ล่าสุดกำลังตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครผู้ว่าฯกยท. เพิ่มเติม แม้ขณะนี้กระบวนการสรรหายังไม่เรียบร้อย แต่เชื่อมั่นว่าการดำเนินงานต่างๆ จะไม่ติดขัด เนื่องจากมีผู้ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้ว่าฯกยท. ปฏิบัติงานอยู่

ด้านนายเชาว์ ทรงอาวุธ รักษาการผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า เงินกยท.ขณะนี้มีอยู่ 31,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 15% จะจัดสรรเป็นทุนประเดิมของ กยท.หรือ 4,600 ล้านบาท, ส่วนที่ 2 ประมาณ 23,000 ล้านบาท จัดสรรเป็นภาระผูกพันกับชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการปลูกแทน 40% และที่เหลือ 3,000 ล้านบาท เป็นในส่วนของกองทุนพัฒนายาง

ทั้งนี้ มาตรา 49 พ.ร.บ.การยาง ระบุแนวทางการใช้เงินของ กยท.ได้ใน 6 กรณี คือ 10% ใช้ในการบริหาร 40% นำไปใช้ส่งเสริมการปลูกแทน 35% ใช้ในการส่งเสริมการพัฒนาผลผลิต เรื่องการแปรรูป การตลาด และที่เหลือใช้ในการรักษาเสถียรภาพราคา 5% ใช้ในการวิจัย 7% ใช้สร้างสวัสดิการให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้ว และอีก 3% ใช้สร้างเสถียรภาพให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่เป็นสมาคม หรือกลุ่มสหกรณ์

"สิ่งเหล่านี้ ในมาตรา 49 วรรคท้าย เรื่องการจัดสรรงบประมาณในสัดส่วนที่กล่าวมาไม่เพียงพอ สามารถตั้งงบประมาณเสนอของจากสำนักงบประมาณได้....เท่ากับว่าเงิน 4,500 ล้านบาทที่จะนำมาซื้อยาง 1 แสนตัน สามารถยืมมาจากงบประมาณในส่วนของการปลูกแทนนำมาใช้ก่อนได้ เพราะมีเวลาผูกพัน 6 ปีครึ่ง และขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องใช้เงิน....แต่รัฐบาลก็ต้องตั้งงบประมาณเพื่อชดเชย"นายเชาวน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ