(เพิ่มเติม) พาณิชย์เผย ธ.ค.ส่งออกหด -8.73% นำเข้าหด -9.23% เกินดุล 1,487 ล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 26, 2016 12:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศในเดือน ธ.ค.58 ระบุว่า การส่งออกมีมูลค่า 17,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบ 8.73% ขณะที่นำเข้ามีมูลค่า 15,613 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบ 9.23% ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน ธ.ค.58 เกินดุล 1,487 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรหดตัวตามราคาสินค้าเกษตรโลก โดยภาพรวมเดือน ธ.ค.58 ลดลง -9.8% และทั้งปี 2558 ลดลง -7.4% ตามทิศทางของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน ธ.ค.58 ยางพาราหดตัวถึง -25.2% เช่นเดียวกับอาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ข้าว และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่หดตัวสูงถึง -10.9% -22.5% และ -25.2% ตามลำดับ ถึงแม้ปริมาณส่งออกสินค้าเหล่านี้ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยราคาที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้มูลค่าการส่งออกหดตัวลงมาก ขณะที่ผลไม้สด แช่แข็ง และแห้ง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่ม และไก่แปรรูป ยังคงขยายตัวสูงขึ้น 68.7% 20.7% 10.1% และ 4.8% ตามลำดับ

ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมัน โดยภาพรวมเดือน ธ.ค.58 ลดลง -6.7% และทั้งปี 2558 ลดลง -4.0% ปัจจัยหลักยังคงมาจากการหดตัวของมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบหรืออุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก หดตัวสูงต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว และมีแนวโน้มลดต่ำลงมากต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า รวมทั้งการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญอย่างทองคำกลับหดตัวครั้งแรกในรอบ 5 เดือนที่ -34.8% จากปัจจัยด้านราคาทองคำในตลาดโลกที่เริ่มชะลอตัวลง

นอกจากนี้มูลค่าส่งออกกลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยกลับมาหดตัวเล็กน้อยในเดือน ธ.ค.58 ที่ -0.6% เนื่องจากได้เร่งการส่งออกไปในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดีภาพรวมการส่งออกกลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบปี 58 สามารถขยายตัวได้ดีที่ 4.3% มีจำนวนรถยนต์ที่ส่งออก 1,204,895 คัน ซึ่งเป็นไปตามจำนวนเป้าหมายที่ 1.2 ล้านคัน ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ มูลค่าส่งออกของไทยชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ส่งผลให้ปี 58 มีการส่งออกลดลง 5.78% มูลค่า 214,375 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าลดลง 11.02% มีมูลค่า 202,654 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าของปี 58 เกินดุล 11,721 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับปัจจัยที่มีผลกระทบให้การส่งออกของไทยปี 58 หดตัวต่อเนื่อง เป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญ ได้แก่

1.ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักในปัจจุบันที่ชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ส่งผลให้การนำเข้าของเกือบทุกประเทศทั่วโลกยังคงหดตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถิติการนำเข้าล่าสุดถึงเดือน พ.ย.58 ของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ ญี่ปุ่น (-20.3%) จีน (-18.8%) เกาหลีใต้ (-16.7%) ฝรั่งเศส (-16.0%) สหราชอาณาจักร (-8.9%) สหรัฐฯ (-4.2%)

2.ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง และไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว โดยในเดือน พ.ย.58 ราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงถึง -42.5% ขณะที่ทั้งปี 58 ลดลง -47.0% ส่งผลกระทบต่อมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก ยังคงมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มลดลงไปจนถึงปีหน้า

3.ราคาสินค้าเกษตรโลกปรับตัวลดลงมาก โดยเฉพาะทั้งปี 58 ราคาข้าวลดลง -10.9% ยางพาราลดลง -20.3% และน้ำตาลลดลง -7.2% ส่งผลให้แม้ว่าไทยจะส่งออกในปริมาณไม่ต่ำกว่าเดิม แต่มูลค่าส่งออกลดลงมาก

4.การใช้มาตรการลดค่าเงินของประเทศคู่ค้าสำคัญ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการส่งออก โดยข้อมูลล่าสุดของค่าเงินสกุลต่างๆ ในเดือน ม.ค.59 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ค่าเงินออสเตรเลียดอลลาร์ของออสเตรเลียอ่อนค่าลง 10.7% เมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐฯ ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียลดลง 18.3% ขณะที่ค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าลง 10.7% ซึ่งอ่อนค่าใกล้เคียงหรือน้อยกว่าสกุลอื่น ทำให้สินค้าไทยมีราคาแพงเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าของคู่แข่ง ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าไทยลดลง ทำให้แม้ว่าค่าเงินบาทไทยจะเริ่มอ่อนตัวอย่างต่อเนื่องในระยะที่ผ่านมา จนปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 36.0 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ (22 ม.ค.59) แต่ก็ยังหนุนมูลค่าการส่งออกได้ไม่มากนัก

นายสมเกียรติ กล่าวถึงสาเหตุที่การส่งออกปี 58 หดตัว 5.78% ว่า มีสาเหตุสำคัญจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งราคาน้ำมันที่ลดลงกระทบต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อีกทั้งยังกดดันให้สินค้าเกษตรอยู่ในระดับต่ำ แต่อย่างไรก็ดีในปี 58 ไทยสามารถกลับมาเกินดุลการค้าได้สูงสุดในรอบกว่า 6 ปี

ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยส่วนใหญ่ยังมีสถานการณ์การส่งออกที่ดีกว่าโลก รวมทั้งมีแนวโน้มส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นในเกือบทุกสินค้าส่งออกสำคัญ จากการเปรียบเทียบข้อมูลล่าสุดช่วง 6 เดือนแรกของปี 58 จำนวน 81 ประเทศทั่วโลกที่มีการรายงานมูลค่าการส่งออก พบว่ามูลค่าการส่งออกโลกช่วง ม.ค.-มิ.ย.58 หดตัวอยู่ที่ -11.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การส่งออกของไทยในระยะเดียวกันหดตัวอยู่ที่ -5.7% ซึ่งสะท้อนว่าโดยเปรียบเทียบแล้วสถานการณ์ส่งออกของไทยยังดีกว่าสถานการณ์ส่งออกโลก รวมทั้งส่วนแบ่งตลาดของไทยยังมีแนวโน้มสูงขึ้นจาก 1.40% ในปี 57 เพิ่มขึ้นเป็น 1.48% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 58

"การส่งออกของไทยยังมีสถานการณ์ที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ มาก ในภาวะที่การค้าทั่วโลกชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้าและปัจจัยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกหดตัวสูง โดย IMF คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกของโลกทั้งปี 2558 จะหดตัวถึง -11.17% ซึ่งการส่งออกของไทยยังหดตัวน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลก สำหรับข้อมูลการนำเข้าของตลาดล่าสุดแสดงว่าไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ในตลาดและสินค้าส่งออกสำคัญไว้ได้ สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถทางการแข่งขันของไทยไม่ได้ลดลงตามมูลค่าส่งออก อีกทั้งรายได้จากการส่งออกของไทยในรูปเงินบาทหดตัวไม่มากนัก นอกจากนี้มูลค่าการนำเข้าลดลงตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกซึ่งเป็นสินค้านำเข้าสำคัญอันดับ 1 ของไทย ส่งผลให้ปี 2558 ไทยกลับมาเกินดุลการค้าสูงสุดในรอบกว่า 6 ปี" นายสมเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ ไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ในประเทศคู่ค้าสำคัญไว้ได้ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (27) จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย และออสเตรเลีย เป็นต้น และส่วนแบ่งตลาดในปี 2558 ของไทยในประเทศคู่ค้าสำคัญมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 57

สำหรับตลาดส่งออกกลุ่ม CLMV ยังคงขยายตัวต่อเนื่องทั้งปี เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป (15) ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งในสิ้นปีนี้ ขณะที่คู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ยังคงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และอาเซียน (5) หดตัวจากปัจจัยสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันในเดือน ธ.ค.58 โดยยังคงมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่อง 7.4% โดยกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ยังขยายตัวสูงต่อเนื่องจากการค้าชายแดนเป็นสำคัญ โดยสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงขึ้น ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องดื่ม น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำตาลทราย เป็นต้น เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป (15) ที่เดือนนี้ขยายตัวที่ 2.3% จากการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล และไก่แปรรูป เป็นต้น ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกาหดตัว -7.2% จากการหดตัวของเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น เช่นเดียวกับตลาดหลักอย่าง จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน (9) ที่ลดลง -9.5% -9.8% และ -6.3% ตามลำดับ

นายสมเกียรติ กล่าวว่า แม้การส่งออกของไทยในปี 58 จะติดลบ 5.78% แต่การส่งออกของไทยยังติดลบน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ที่เฉลี่ยแล้วติดลบมากกว่า 10% ขณะเดียวกันไทยยังรักษาส่วนแบ่งตลาดในประเทศคู่ค้าสำคัญไว้ได้ดี ทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป โดยส่วนแบ่งตลาดสินค้าของไทยในประเทศคู่ค้าสำคัญมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 57 และการส่งออกสินค้าสำคัญของไทยส่วนใหญ่ยังมีสถานการณ์การส่งออกที่ดีกว่าหลายประเทศอื่น รวมทั้งมีแนวโน้มส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นในเกือบทุกสินค้าส่งออกด้วย

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่า การส่งออกของไทยในปี 58 ที่ติดลบ 5.78% นั้น เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นที่ 3 และติดลบมากสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 52 ที่การส่งออกของไทยติดลบถึง 14.3%

นายสมเกียรติ คาดว่า การส่งออกของไทยในเดือน ม.ค.59 จะสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ ถ้าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกไม่ปรับตัวลดลงไปต่ำกว่าระดับในปัจจุบัน ซึ่งจะมีโอกาสให้การส่งออกในเดือน ม.ค.59 มีมูลค่าประมาณ 18,000 ล้านดอลลาร์ได้ และแนวโน้มการส่งออกในไตรมาสแรกของปีนี้ก็ยังมีแนวโน้มเป็นบวกได้เช่นกัน

"ถ้าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ก็มีแนวโน้มที่การส่งออกในไตรมาสแรกปีนี้จะกลับมาเป็นบวกได้" นายสมเกียรติ กล่าว

พร้อมระบุว่า กระทรวงพาณิชย์จะพยายามผลักดันการส่งออกของไทยในปีนี้ให้ขยายตัวได้ 5% ตามเป้าหมายที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไดัมอบนโยบายไว้

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะมีผลต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ คือ ปัจจัยเรื่องราคาน้ำมัน, ภาวะเศรษฐกิจโลก, การดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีผลต่อค่าเงินบาทของไทยด้วย อย่างไรก็ดี หากราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นก็จะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รวมทั้งสินค้าเกษตร และยานยนต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ