ม.รังสิตคาดศก.ไทยปีนี้โต 3.2-4% ชี้ H2/59 กระเตื้องจากภาคลงทุน-ท่องเที่ยว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 14, 2016 15:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า คณะเศรษฐศาสตร์ และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ม.รังสิต ยังคงประมาณการช่วงการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 59 ไว้ที่ 3.2 - 4% โดยมีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำกว่า 3.5% จากการที่อัตราการเติบโตของการส่งออกอาจจะขยายตัวติดลบเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน

อย่างไรก็ตาม มูลค่าส่งออกสุทธิยังคงเป็นบวก และมีการเกินดุลการค้าค่อนข้างสูง จึงเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย โดยมีการปรับตัวเลขการคาดการณ์อัตราการขยายตัวของการส่งออกจาก 4% ลงมาเหลือ 0-2% อัตราการขยายตัวของการนำเข้าจาก 7% ลงมาเหลือ 2-3% และคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะไม่เกิน 1% (0-0.8%) โดยมีสมมติฐานสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปจากการคาดการณ์ครั้งก่อน คือ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ปรับลดลงมาจากที่คาดการณ์ไว้เดิมเมื่อเดือน พ.ย.58 0.1-0.2% และอัตราเฉลี่ยของราคาน้ำมันปรับลดลงมาอยู่ที่ 35-45 ดอลลาร์จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไตรมาสแรกโดยเฉพาะเดือนม.ค.และ ก.พ.นั้น ภาคการบริโภคชะลอลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 58 จากการเร่งการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนช่วงปลายปีจากมาตรการลดหย่อนภาษี เม็ดเงินจากการใช้จ่ายยังไม่กระจายตัวสู่กิจการขนาดเล็กขนาดย่อยมากนักยังคงกระจุกอยู่ในเครือข่ายของกิจการค้าปลีกยักษ์ใหญ่ มีการเร่งซื้อรถยนต์ปลายปีที่แล้วก่อนการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตในปีนี้

การส่งออกของไทยเดือนม.ค.หดตัวสูงถึง 9.3% และนำเข้าหดตัวแรง 2 เดือนแรกสะท้อนการชะลอตัวของการลงทุนและส่งออกในไตรมาสสอง ดุลการค้าและดุลบัญชีสะพัดดีขึ้นต่อเนื่อง คาดการณ์จีดีพีเติบโตได้ 2-2.5% ในไตรมาสหนึ่ง และ 2.5-3% ในไตรมาสสอง แต่ยังคงประมาณการทั้งปีไว้ตามคาดการณ์เดิม 3.2-4%

"เศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังจะกระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจน จากภาคการลงทุน การท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เศรษฐกิจยังสามารถขยายตัวได้มากกว่า 3% คือ รัฐบาลยังทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 3.9 แสนล้านในปีงบประมาณ 2559 การเบิกจ่ายนอกงบประมาณปรับตัวดีขึ้น การอ่อนตัวของเงินบาทสนับสนุนรายได้เงินบาทของผู้ประกอบการท่องเที่ยวและส่งออก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 4.7 แสนล้านบาท หากไม่มีวิกฤติรัฐธรรมนูญ เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ตามที่คาดการณ์ 3.2-4% (มีความเป็นไปได้มากที่สุด 3.2-3.5) ซึ่งยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่ควรเติบโตได้ในระดับ 4-6%" นายอนุสรณ์ กล่าว

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า สำหรับบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นกิจการขนาดใหญ่ยังคงมีสถานะทางการเงินที่มั่นคง แม้อัตรากำไรโดยรวมจะลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ กิจการเหล่านี้ยังคงมีสภาพคล่องสูงและมีอัตราการกู้ยืม (Leverage) ที่ไม่สูงนัก บริษัทจดทะเบียนโดยรวมมีแนวโน้มเพิ่มอัตราการจ่ายเงินปันผลเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ผู้ประกอบการยังคงไม่มั่นใจกับสภาวะเศรษฐกิจมากนัก จึงเลือกจ่ายเงินปันผลแทนที่จะเก็บเงินไว้ลงทุนในอนาคต Retention Rate มีค่าลดลงชัดเจน

ส่วนธุรกิจที่น่าเป็นห่วง คือ กิจการที่ก่อหนี้เพื่อควบรวมกิจการ กิจการขนาดเล็ก และ ธุรกิจทีวีดิจิตอล สัดส่วน NPL ของ SMEs เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสสองปีที่แล้วและคาดการณ์ว่าน่าจะปรับตัวสูงกว่า 4% ในไตรมาสสองปีนี้

ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 59 ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ไม่ดีอย่างที่คาดไว้ในช่วงปลายปีที่แล้ว โดยเฉพาะปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และวิกฤติฟองสบู่ในตลาดการเงินและตลาดอสังหาริมทรัพย์ อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และเพิ่มวงเงิน QE ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลบวกต่อตลาดการเงินในระยะสั้น และจะส่งผลต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะมีการประชุมในวันที่ 15-16 มี.ค.นี้ ส่วนธนาคารกลางญึ่ปุ่น (BPJ) น่าจะมีการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม หลังจากที่ได้ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบมาระยะหนึ่ง

"ปัญหาวิกฤติฟองสบู่จีนถือเป็นวิกฤติคลื่นลูกที่ 3 ของระบบทุนนิยมโลกในศตวรรษที่ 21 อันเป็นสภาวะที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ โดยคลื่นลูกแรกของทุนนิยมโลก คือ วิกฤติเศรษฐกิจ Hamburger Crisis ในสหรัฐฯ และ คลื่นลูกที่ 2 คือ วิกฤติเศรษฐกิจยูโรโซน" นายอนุสรณ์ กล่าว

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ยังกล่าวถึงผลกระทบภัยแล้งต่อภาคเกษตรกรรมและเศรษฐกิจว่า โดยภาพรวมความเสียหายเชิงเศรษฐกิจต่อพืชผลต่างๆ ในภาคเกษตรกรรมเบื้องต้นอยู่ที่ระดับ 19,460-20,000 ล้านบาท รายได้เกษตรกรลดลง 3,430 บาทต่อครัวเรือนต่อปี มีจำนวนครัวเรือนภาคเกษตรที่จดทะเบียน 7.1 ล้านครัวเรือน ความเสียหายต่อรายได้ของเกษตรกรจากภัยแล้งอยู่ที่ 24,353-25,000 ล้านบาท รวมความเสียหายต่อผลผลิตการเกษตรและรายได้ของเกษตรกร 43,813-45,000 ล้านบาท จีดีพีภาคเกษตรกรรมลดลง สินค้าเกษตรที่กระทบมาก คือ ไม้ผล ข้าวนาปรัง สับปะรด ปาล์มน้ำมัน ที่กระทบปานกลาง คือ ข้าวนาปี ปศุสัตว์ กระทบไม่มาก คือ มันสำปะหลัง อ้อย ซึ่งผลกระทบภัยแล้งจะทำให้หนี้ครัวเรือนเกษตรกรต่อจีดีพีภาคเกษตรในปี 59 อาจปรับตัวสูงขึ้นทะลุระดับ 80% ได้

"ปัญหาภัยแล้งเป็นปัญหาสำคัญของชาติที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ นอกจากภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภัยแล้งแล้ว ภาคเศรษฐกิจอื่นๆก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย เช่น ภาคการบริโภค ภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ภาคการค้า ภาคท่องเที่ยว เมื่อประเมินผลกระทบภัยแล้งต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวม (รวมภาคเศรษฐกิจอื่นๆ) ไม่น่าจะต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท" นายอนุสรณ์ กล่าว

พร้อมเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบภัยแล้งว่า มาตรการระยะสั้น 1. สนับสนุนการจ้างงานเพื่อขุดลอกคูคลองและปรับปรุงอ่างเก็บน้ำเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและสร้างรายได้เสริมแก่เกษตรกรในชนบท 2. เพิ่มพื้นที่ทำฝนหลวง เร่งรัดโครงการแก้มลิง 3. ส่งเสริมการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ประชาสัมพันธ์เลื่อนการปลูกข้าวนาปี 4. รณรงค์และสนับสนุนให้ชาวเมืองและเกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ

ข้อเสนอแนะ มาตรการระยะยาว 1. ลงทุนการบริหารจัดการน้ำและการจัดการระบบชลประทานอย่างเป็นระบบ 2. ฟื้นฟูป่าไม้ต้นน้ำ 3. ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อการดูแลและอนุรักษ์แหล่งน้ำชุมชน 4. ศึกษาระบบการใช้น้ำหมุนเวียน นำน้ำเสียมาบำบัดเพื่อนำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ 5. ปรับโครงสร้างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ ศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งกระทรวงทรัพยากรน้ำ 6. การพัฒนากลไกของตลาดซื้อขายล่วงหน้า ป้องกันความเสี่ยงความผันผวนของตลาด 7. ความร่วมมือระหว่างประเทศและความร่วมมือระหว่างภูมิภาค เพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ