(เพิ่มเติม) กนง.มองแรงส่ง ศก.ปีนี้จากลงทุน-ท่องเที่ยว-มาตรการภาครัฐ ติดตามปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 31, 2016 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนมีนาคม 2559 ว่า กนง.ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจตลอดช่วงประมาณการ ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวราว 3.1% ซึ่งลดลงจากประมาณการในครั้งก่อนที่ระดับ 3.5% โดยมองว่าแรงส่งของเศรษฐกิจไทยปีนี้มาจากการลงทุน การท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

นอกจากนี้ กนง.ปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 59 ลงจากประมาณการครั้งก่อน แต่ยังปรับเข้าใกล้เป้าหมายในปี 60 ตามแนวโน้มราคาน้ำมันที่ทยอยเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจไทยที่ค่อยๆ ขยายตัวดีขึ้น โดยประเมินให้ความเสี่ยงต่อประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั้งสองยังโน้มไปด้านต่ำ ตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจน้อยกว่าคาดตามเศรษฐกิจที่อาจขยายตัวต่ำกว่ากรณีฐาน

"แม้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีสัญญาณอ่อนแรงลงแต่ยังอยู่ในแนวทางฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และนโยบายการเงินในระดับปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ผ่อนปรนเพียงพอที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทยอยกลับเข้าใกล้ค่ากลางของกรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม"รายงาน กนง.ระบุ

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะด้านต่างประเทศที่มี ความไม่แน่นอนสูง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับปัจจุบัน ทั้งนี้ กนง.เห็นว่าทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่แตกต่างกันมากขึ้นได้ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความผันผวนและเงินบาทแข็งค่าขึ้นในบางช่วง ซึ่งอาจไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเท่าที่ควร

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า การที่ กนง.ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีปี 59 ลงเหลือ 3.1% เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มการฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่เศรษฐกิจโลกก็ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้เดิมทั้งภูมิภาคเอเชีย และเศรษฐกิจของประเทศหลักๆ ซึ่งมีผลให้การดำเนินนโยบายการเงินของหลายประเทศมีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้น

นอกจากนี้ การส่งออกสินค้ายังลดลงจากภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดโดยเฉพาะเศรษฐกิจเอเชีย ขณะเดียวกันการส่งออกสินค้าของไทยในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มจะเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลกทำให้ปริมาณการค้าโลกชะลอลง ซึ่งในด้านความสามารถในการแข่งขันของไทยยังต้องใช้เวลาในการแก้ไข รวมทั้งสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีราคาต่ำเป็นตัวกดดันราคาสินค้าส่งออกด้วย

กนง.มองว่า แรงส่งที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้มาจากการลงทุน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ตลอดจนจำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงกว่าที่คาด ซึ่งรายจ่ายลงทุนที่จะปรับเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าจะมาจากการที่หน่วยงานภาครัฐเร่งก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายงบลงทุนได้มากกว่าคาด, งบประมาณปี 59 เพิ่มขึ้นหลังจากได้รับรายได้จากการประมูลใบอนุญาต 4G, กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 60 สูงกว่าคาด และมาตรการกระตุ้นของภาครัฐที่ยังทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน รวมทั้งการขยายเส้นทางการบินของสายการบินต้นทุนต่ำมีมากขึ้น และมีการเปิดเส้นทางการเดินทางใหม่ทางรถยนต์จากจีนมาไทย

สำหรับอัตราเงินเฟ้อนั้น กนง.ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 59 ลงมาเล็กน้อยที่ 0.6% จากเดิม 0.8% ตามต้นทุนที่ปรับตัวลดลง ซึ่งแม้อัตราเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้จะยังอยู่ในระดับต่ำ แต่คาดว่าภายในช่วงครึ่งปีแรกนี้อัตราเงินเฟ้อจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า กรณีที่การประชุม กนง.รอบล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มี.ค.59 ยังมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% นั้น เป็นเพราะคณะกรรมการ กนง.ให้ความสำคัญกับการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (Policy Space) ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากภายนอกเป็นสำคัญ รวมทั้งดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน โดยเฉพาะจากพฤติกรรมแสวงหาผลต่อบแทนที่สูงกว่า

อย่างไรก็ดี การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในช่วงจากนี้ไปจะขึ้นกับปัจจัยด้านต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจจีน

“นโยบายการเงินที่จะผ่อนปรนนั้น ขึ้นกับปัจจัยด้านต่างประเทศเป็นหลัก เช่น เศรษฐกิจหากปรับลดลงแรงไปกว่านี้ หรือเกิดผลกระทบจากการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจจีนมากกว่านี้" เลขานุการ กนง.ระบุ

ด้านนางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในการนำค่าใช้จ่ายจากการรับประทานอาหารนอกบ้านและท่องเที่ยวไปลดหย่อนภาษีว่า ในส่วนนี้ถือว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ได้บ้าง แต่อาจจะไม่มากนักเนื่องจากไม่ได้เป็นการเข้าไปแก้ไขในจุดที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศษฐกิจที่แท้จริง

“มาตรการที่ออกมากระตุ้นช่วงสงกรานต์ก็ถือว่าช่วยได้บ้าง ก็คล้ายๆกับช่วงกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงก่อนปีใหม่ แต่ไม่ได้แก้ไขในจุดที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่แท้จริง”นางรุ่ง กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ