ทย.ทุ่มงบ 720 ลบ.ปรับปรุง 3 สนามบินเตรียมการรับ ICAO เข้าตรวจปี 61

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 12, 2016 17:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรมท่าอากาศยาน (ทย.)เตรียมการรับมือการเข้าตรวจระบบรักษาความปลอดภัยของสนามบินระหว่างประเทศในไทย จากองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) ที่จะเข้าตรวจสอบอย่างเป็นทางการในปี 61 ระบุได้งบส่วนกลางในปี 60-61 จำนวน 720 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงอุปกรณ์ต่างๆ อาทิเครื่องสแกนทั้งผู้โดยสารและสินค้า(cargo) ภายในท่าอากาศยานที่ใช้เป็นสนามบินระหว่างประเทศ 3 แห่งคือ กระบี่ สุราษฎร์ธานี และ อุดรธานี ซึ่งการเข้าตรวจสอบของ ICAO จะช่วยยกระดับสนามบินให้มีมาตรฐานสากลและเป็นที่มั่นใจของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

ขณะเดียวกันเตรียมก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง มูลค่ประมาณ 1,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นสนามบินใหม่แห่งที่ 29 ของกรมท่าอากาศยาน โดยจะเคาะราคาประมูลในวันที่ 23 พ.ค. นี้

นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน เปิดเผยว่า จากที่รมว.คมนาคมได้ลงนามให้ ICAO เข้ามาตรวจสอบระบบการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานในไทย โดย ICAO จะเข้ามาตรวจในปี 61 ทั้งนี้ คาดว่า ICAO จะสุ่มตรวจสนามบินระหว่างประเทศ

ปัจจุบันมี ท่าอากาศยานที่ให้บริการทั้งเที่ยวบินในประเทศและต่างประเทศในประเทศไทยมีอยู่ 10 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานเชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานสุราษฏร์ธานี และ ท่าอากาศยานอุดรธานี โดย 6 ท่าอากาศยานแรก บริหารจัดการโดยบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT)

สำหรับท่าอากาศยานที่ กรมท่าอากาศยานเป็นผู้บริหารจัดการ ได้แก่ ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานสุราษฏร์ธานี และ ท่าอากาศยานอุดรธานี

นายจุฬา กล่าวว่า แม้ว่าใน 3 ท่าอากาศยานดังกล่าวมีเครื่องสแกนผู้โดยสาร และสินค้า (cargo) แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงได้ของบประมาณซึ่งเป็นงบกลางในปี 60-61 จำนวน 720 ล้านบาท เพื่อนำไปติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ภายในสนามบิน เช่น เครื่องสแกนทั้งผู้โดยสารและสินค้า เครื่องเอ็กซเรย์ที่ตรวจวัตถุระเบิด กล้อง CCTV การจัดการล้อมรั่วในพื้นที่หวงห้ามการบิน และระบบสายพานลำเลียง เป็นต้น

"การเข้ามาตรวจของ ICAO เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับคนต่างชาติที่จะเข้ามาใช้สนามบินของเรา ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ ICAO มาตรวจอย่างเป็นทางการ เพราะเรื่องการรักษาความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ " นายจุฬากล่าว

ทั้งนี้ ภายใน 6 เดือนจากนี้ ทาง ICAO จะแจ้งว่า จะตรวจสอบในส่วนไหน ซึ่งการตรวจจะเป็นไปตามมาตรฐานคู่มือของท่าอากาศยาน ที่ ICAO จะเลือกบางข้อของคู่มือมาตรวจท่าอากาศยาน

ปัจจุบัน กรมท่าอากาศยาน มีท่าอากาศยานทั้งหมด 28 แห่ง โดยมี 2 แห่งที่ไม่มีการใช้งาน คือ ที่ตาก และ เพชรบูรณ์ ซึ่งขณะนี้กำลังหาแนวทางให้ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ดีกว่าทิ้งไว้ ซึ่งอาจเปิดให้ใช้เป็นที่ฝึการบิน

นายจุฬา กล่าวว่า ในปี 58 ที่ผ่านมา รายได้จากท่าอากาศยานเฉลี่ย 26 แห่งเพิ่มขึ้น 25% จากจำนวนผู้โดยสารเติบโต 25% โดยท่าอากาศยานกระบี่มีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการมากที่สุดจำนวน 4 ล้านคน/ปี เป็นผลจากการขยายตัวของสายการบินต้นทุนต่ำ(Low cost Airlines) รองลงมาเป็นท่าอากาศยานอุดรธานี มีจำนวนผู้โดยสาร 1 ล้านคน/ปี และท่าอากาศยานอุบลราชธานี

ขณะเดียวกัน กรมท่าอากาศยานได้ขยายท่าอากาศยานแห่งใหม่ คือ ท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา มูลค่าประมาณ 1,700 ล้านบาท ด้วยเหตุผลเพื่อความมั่นคง ขณะนี้ได้เปิดประกวดราคาจ้างงานก่อสร้างทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบินและอื่นๆ ที่ท่าอากาศยานเบตง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ซึ่งได้มีผู้ยื่นซองประกวดราคาแล้ว และในวันที่ 23 พ.ค.นี้ จะเคาะราคา หากได้ผู้รับเหมาก่อสร้างแล้วคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างราว 2-3 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ