(เพิ่มเติม) บสย.-KTB เปิดตัว “สินเชื่อกรุงไทยใจดีช่วย SMEs" วงเงิน 1 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 2, 2016 16:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พร้อมด้วยธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดตัวโครงการสินเชื่อกรุงไทยใจดีช่วย SMEs วงเงิน 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ โดยมี บสย.สนับสนุนด้านการค้ำประกันสินเชื่อรวม 3 แพ็คเกจ สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็ก กลาง และรายย่อยที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และประเภทที่มีหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ

โดยแพ็คเกจค้ำประกันที่ 1 รองรับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไปที่มียอดขายมากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี ซึ่งดำเนินธุรกิจมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี โดยผู้กู้ที่มีหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ หรือมีหลักทรัพย์แค่ 30% ของวงเงินกู้ โดย บสย.จะเข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อในส่วนที่ขาดหลักประกัน วงเงินกู้สูงสุดรายละ 55 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3.75% ในปีแรก

แพ็คเกจค้ำประกันที่ 2 รองรับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไปที่มียอดขายมากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี ซึ่งดำเนินธุรกิจมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี และไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดย บสย.จะค้ำประกันสินเชื่อเต็มวงเงิน สามารถกู้ได้สูงสุดรายละ 40 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3.90% ในปีแรก

และแพ็คเกจค้ำประกันที่ 3 รองรับผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและรายย่อยที่มียอดขายน้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อปี ซึ่งดำเนินธุรกิจมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี โดยผู้กู้ที่มีหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ หรือมีหลักทรัพย์แค่ 30% ของวงเงินกู้ โดย บสย.จะเข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อในส่วนที่ขาดหลักประกัน วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3.75% ในปีแรก

นายอุดมศักดิ์ โรจน์วิบูลย์ชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดกลาง(KTB) เปิดเผยว่า ธนาคารสนับสนุนนโยบายของรัฐในการดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยได้ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อกรุงไทยใจดีช่วย SME วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องและเป็นเงินลงทุนในกิจการ โดยแบ่งเป็น 4 แพ็คเกจ ได้แก่ 1. สำหรับลูกค้าที่มีหลักประกัน หรือใช้หลักประกันร่วมกับบรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงินกู้สูงสุด 55 ล้านบาทต่อราย กรณีกู้แบบมีระยะเวลา อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี ปีแรกเริ่มต้น 3.75% ต่อระ ระยะเวลาผ่อนชำระ 7 ปี กรณีกู้เพื่อหมุนเวียนในกิจการ อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดที่ 3.90% ต่อปี

2. สำหรับลูกค้าที่ใช้ บสย. ค้ำประกันเต็มวงเงินให้กู้สูงสุดรายละ 40 ล้านบาท กรณีกู้เพื่อหมุนเวียนใจกิจการดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.75% ต่อปี กรณีกู้แบบมีระยะเวลา ดอกเบี้ย 2 ปีแรกคงที่เริ่มต้น 3.90% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระ 7 ปี แต่หากปฏิบัติตามเงื่อนไขของธนาคารจะลดอัตราดอกเบี้ยให้ปีละ 0.25% ต่อปี โดยแพ็คเกจที่ 1 จะลดให้ตั้งแต่ปีที่ 5 ส่วนแพ็คเกจที่ 2 ลดให้ตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป

3. สำหรับลูกค้าแฟคตอริ่ง ลูกค้าสามารถเลือกใช้บริการวงเงิน O/D อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 4.50% ต่อปี และสินเชื่อแฟคตอริ่งโดยกู้ได้สูงสุด 90% ของใบแจ้งหนี้ อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3.90% ต่อปี วงเงินสูงสุดรายละ 50 ล้านบาท

และ 4. เป็นสินเชื่อสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็ก (sSME) วงเงินกู้ไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท สำหรับลูกค้าที่มีหลักประกันหรือใช้หลักประกันร่วมกับ บสย. กรณีกู้แบบมีระยะเวลาอัตราดอกเบี้ย 3% ปีแรก คงที่เริ่มต้น 3.75% ต่อปี กรณีกู้เพื่อหมุนเวียนในกิจการ ดอกเบี้ยต่ำสุดที่ 3.90% ต่อปี

โดยลูกค้าแพ็คเกจที่ 1-3 ยื่นขอสินเชื่อได้ที่สำนักงานธุรกิจ 79 แห่งทั่วประเทศ ส่วนแพ็คเกจที่ 4 ยื่นขอสินเชื่อได้ที่สาขาของธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศได้ถึงวันที่ 30 ธ.ค.59

"เราประเมินว่าสินเชื่อกรุงไทยใจดีช่วย SME วงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างน้อย 500 ราย หรือเฉลี่ยรายละ 20 ล้านบาท และมั่นใจว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้หมดภายในปีนี้ หลังจากนั้นจึงจะมีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะมีการขยายวงเงินเพิ่มเติมหรือไม่ แต่หากมีเฟส 2 ออกมาอัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่ใช่ในระดับปัจจุบันที่ 3.75-3.90% และเราไม่ได้กังวลว่าโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบทำให้เกิดหนี้เสีย เนื่องจากเรามีเกณฑ์ในการปล่อยกู้ที่ไม่ได้เข้มมาก เพราะหากเข้มเกินไปจะทำให้ปล่อยสินเชื่อได้ยาก แต่ก็มีการคัดกรองเป็นอย่างดี เช่น ต้องเป็นผู้ประกอบการอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 3 ปี และต้องมีการตรวจสอบข้อมูลผ่านเครดิตบูโร ซึ่งตรงนี้ช่วยได้" นายอุดมศักดิ์ กล่าว

นายอุดมศักดิ์ กล่าวอีกว่า แนวโน้มธุรกิจเอสเอ็มอีในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 ปรับตัวดีขึ้นจากที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการเร่งลงทุนของภาครัฐในโครงการต่าง ๆ ที่จะเป็นผลดีกับผู้ประกอบการในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างรวมถึงราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น ก็น่าจะช่วยเสริมในส่วนนี้ได้ ทำให้คาดว่าในปีนี้ธนาคารจะสามารถปล่อยสินเชื่อกลุ่มเอสเอ็มอีได้ตามเป้าหมายที่ 7% จากปัจจุบันทำได้แล้ว 2-3%

ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) รวมของธนาคารอยู่ที่ 3.7-3.8% ส่วน NPL กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีอยู่ในระดับต่ำไม่ถึง 2% เท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารได้มีการเจรจาพูดคุยกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้ทันก่อนที่จะเกิดเป็นหนี้เสีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ