ส.อ.ท.มองอนาคตภาคธุรกิจหันใช้พลังงานทดแทนเพิ่ม ช่วยลดภาระต้นทุนผู้ประกอบการ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 8, 2016 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในฐานะ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรมว่า จากความต้องการพลังงานของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยภาคขนส่งมีความต้องการบริโภคน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น 25% และพลังงานหมุนเวียนก็มีสัดส่วนการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลมาจากโครงสร้างพลังงานโลกได้ถูกขับเคลื่อนด้วยกลไกตลาดและการแข่งขันเสรี และส่งผลให้มีบทบาทต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานของโลกในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันศูนย์กลางความต้องการพลังงานของโลกอยู่ที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economies) และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอาเซียนก็กลายเป็นภูมิภาคสำคัญที่มีความต้องการพลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

"ด้วยกระแสพลังงานที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จากตัวแปรทั้งทางด้านความต้องการของผู้บริโภค และกลไกทางการตลาด ทำให้ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมในการรับมืออยู่เสมอ เนื่องจากพลังงานเป็นต้นทุนสำคัญในการประกอบกิจการ" นายวีรศักดิ์ กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2016 "พลังงานไทยในกระแสพลังงานโลก"

ทั้งนี้ ส.อ.ท.ในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ในการประสานนโยบายและดำเนินการร่วมกับภาครัฐ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาการประกอบการของภาคอุตสาหกรรม ตระหนักถึงความสำคัญในเตรียมความพร้อมด้านข้อมูล และแนวทางในการรับมือแก่ให้ผู้ประกอบการ และเห็นว่าเรื่องทิศทางพลังงานในอนาคต เป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมควรทราบ การจัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2016 พลังงานไทยในกระแสพลังงานโลก จึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นเสมือนเวทีหนึ่งที่จะทำให้ผู้ประกอบการ และผู้สนใจรู้เท่าทันสถานการณ์พลังงานของประเทศ และของโลก อันจะนำไปสู่การปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์พลังงานในปัจจุบันและอนาคต อีกทั้งสามารถดำเนินการได้สอดคล้องและแข่งขันกับตลาดโลกได้

นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า จากความต้องการพลังงานของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความต้องการพลังงานที่เพิ่มมากขึ้น โดยสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในปัจจุบันยังคงอยู่ที่ 82% ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา แต่ในปี ค.ศ.2035 จะมีอัตราการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลดลงเหลือ 76% เนื่องจากสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น อาทิ พลังงานถ่านหินที่ยังคงเป็นตัวเลือกในการผลิตไฟฟ้าในหลายภูมิภาคเนื่องจากมีราคาถูก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันยังคงมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2559 โดยในอนาคตการบริโภคน้ำมันในโลกนั้นจะมุ่งไปที่ภาคขนส่ง และปิโตรเคมีมากขึ้น กลไกการตลาดและการแข่งขันเสรีของภาคเอกชนและบริษัทข้ามชาติระดับโลก ก็จะเข้ามามีบทบาทต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย

ในส่วนของการสนับสนุนนโยบายพลังงานทางเลือกในมิติต่างๆ อาทิ การนำนวัตกรรมต่างๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อให้สามารถลดต้นทุนของเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานทางเลือก ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าภายในปี ค.ศ.2030 พลังงานทางเลือกจะเป็นแหล่งพลังงานที่ใหญ่ที่สุด โดยมีพลังงานน้ำเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดตามมาด้วย พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์

ทั้งนี้ สถานการณ์การใช้พลังงานทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีการขยายตัวของภาคธุรกิจการผลิตพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตในด้านเศรษฐกิจสาขาต่างๆ นอกจากนี้ ยังทำให้ประเทศไทยไม่ผูกขาดกับแหล่งพลังงานใดเพียงแหล่งเดียว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ