(เพิ่มเติม) รายงาน กนง.มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยค่อย ๆ ฟื้น แต่ ศก.โลกยังเสี่ยง-บาทแข็งกดดันส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 23, 2016 16:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือน ก.ย.59 ระบุว่า ที่ประชุม กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี

ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จากอัตราดอกเบี้ยแท้จริงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่อยู่ในระดับต่ำ และการระดมทุนโดยรวมของภาคธุรกิจและสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ยังขยายตัวได้ แม้ธุรกิจบางกลุ่มยังมีข้อจำกัดในการได้รับสินเชื่อ

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า กนง.มีความเห็นว่าเงินบาทที่โน้มแข็งค่าขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่งสำคัญ อาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ดังนั้น กนง. เห็นว่าการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ยังมีความสำคัญ เพราะในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง และความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากขึ้น นอกจากนี้ กนง. เห็นว่ายังต้องติดตามความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน รวมทั้งพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (search for yield) จากการที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน

สำหรับในระยะต่อไป กนง. เห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง และพร้อมที่จะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ

ขณะที่ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 59 มีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่เคยประเมินไว้เล็กน้อยจากการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 2 ที่สูงกว่าคาดซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของปัจจัยชั่วคราว เช่น การทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย การเร่งซื้อรถยนต์จากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ขณะที่ระยะต่อไปนั้น การบริโภคภาคเอกชนอาจจะชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 2 บ้าง แต่ก็ยังมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การจ้างงานในภาคเกษตรกรรม และภาคบริการที่ขยายตัว ขณะที่รายได้จากภาคการผลิตเพื่อการส่งออกยังคงฟื้นตัวช้าตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าคาด และภาคการท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบระยะสั้นจากปัจจัยในประเทศ

ส่วนการลงทุนภาครัฐนั้นมีเพิ่มขึ้นจากที่เคยประเมินไว้ หลังจากที่ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้มีการมองว่าความต่อเนื่องของนโยบายการลงทุนในโครงการต่างๆ จะทำได้ดีขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำตามการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าที่ยังคงซบเซา

“การลงทุนภาคเอกชนกลับทิศกับการลงทุนภาครัฐ คือมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ การส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนแผ่วลง แสดงให้เห็นว่า การลงทุนของไทยยังต้องพึ่งพาการส่งออก ในทางกลับกันถ้าไม่มีการลงทุน การจะปรับความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกก็คงเกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้นสองเรื่องนี้ต้องเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน" นายจาตุรงค์ กล่าว

อย่างไรก็ดี โครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ที่มีความชัดเจนมากขึ้นจะช่วยสนับสนุนได้ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 60 และความสามารถในการระดมทุนไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการลงทุนของภาคธุรกิจ

สำหรับความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโน้มไปด้านต่ำมากขึ้น โดยความเสี่ยงด้านบวก คือ การใช้จ่ายภาครัฐทั้งการลงทุนและมาตรการภาครัฐ อาจทำได้เร็วและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากกว่าคาด ขณะที่ความเสี่ยงด้านลบที่สำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจคู่ค้าอาจขยายตัวต่ำกว่าคาดจากความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นหลังสถานการณ์ Brexit, การจัดระเบียบผู้ประกอบการทัวร์ศูนย์เหรียญอาจกระทบจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมากกว่าคาด และความสามารถในการรองรับ shock ทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนอาจน้อยกว่าที่คาด

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า สำหรับความสามารถในการรองรับ shock ทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนนั้น นายจาตุรงค์ กล่าวว่า สิ่งที่เห็นคือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบธนาคารพาณิชย์ยังไม่ bottom ซึ่งผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ยังมี NPL สูงขึ้นและมีโอกาสที่จะฉุดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้

ทั้งนี้ พัฒนาการสำคัญที่ กนง. ได้นำมาพิจารณาเพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ได้แก่ (1) เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้จากผลของการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ที่ทำให้เศรษฐกิจยุโรปชะลอตัว และส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศในภูมิภาคเอเชีย (2) จำนวนนักท่องเที่ยวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้เนื่องจากได้รับผลกระทบระยะสั้นจากเหตุการณ์ระเบิดในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ในเดือนสิงหาคมและมาตรการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ

(3) ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ และ(4) การใช้จ่ายภาครัฐในระยะต่อไปมีมากกว่าที่เคยประเมินไว้ ทำให้โดยรวมเศรษฐกิจปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงเดิม สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใกล้เคียงกับที่เคยประเมินไว้เช่นกัน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงตลอดช่วงประมาณการตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบ

"กนง. คงประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 59 และ 60 แต่ปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 59 และ 60 เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ต่ำกว่าคาดไว้เดิม โดยประเมินให้ความเสี่ยงต่อประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั้งสองโน้มไปด้านต่ำมากขึ้น สอดคล้องกับความเสี่ยงต่อประมาณการเศรษฐกิจ"

นายจาตุรงค์ กล่าวถึงปริมาณการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้เดิมตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่ฟื้นตัวช้าและยังเผชิญการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าส่งออกบางประเภท เช่น ราคาสินค้าเกษตรที่สูงกว่าคาดช่วยชดเชยปริมาณการส่งออกที่ต่ำกว่าคาด ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปี 59 ใกล้เคียงเดิม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ