(เพิ่มเติม1) สศก.คาดภาวะเกษตรปี 60 ขยายตัว 2.4-3.4% จากปีนี้หดตัว 0.5% หลังปริมาณน้ำเพิ่ม-ศก.โลกฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 20, 2016 14:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 60 จะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.4-3.4% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท โดยสาขาพืชขยายตัว 2.6-3.6% สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 1.1-2.1% สาขาประมง ขยายตัว 3.0-4.0% สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 1.5-2.5% และสาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.2-3.2%

ทั้งนี้ การคาดการณ์ตัวเลขดังกล่าวเป็นผลจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ เกษตรกรมีความมั่นคงด้านรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี การกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภาคเกษตร การปลูกฝังเรื่องวิทยาการเกษตรสมัยใหม่ การใช้กลไกประชารัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเศรษฐกิจชุมชน และภาคเกษตรของประเทศไทยให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางบวก ประกอบกับเศรษฐกิจโลกในปี 2560 มีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย

ขณะที่คาดว่าสภาพอากาศและปริมาณน้ำจะเอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตรมากกว่าปี 59 เนื่องจากในช่วงปี 59 ฝนเริ่มตกตามฤดูกาล ทำให้มีปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลักเพิ่มขึ้น เพียงพอต่อการเพาะปลูกและการเติบโตของพืชที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามในเรื่องของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2560 ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย อาจทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังประเทศจีนลดลง

สำหรับสาขาพืชในปี 60 จะเติบโตจากปี 59 เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งหล่อเลี้ยงพื้นที่ปลูกข้าวลุ่มเจ้าพระยาและแม่กลองกว่า 20 ล้านไร่ มีปริมาณน้ำพอสมควรทำให้คาดว่าข้าวนาปรังปีการผลิต59/60 ซึ่งเริ่มตั้งแต่พ.ย.59 เป็นต้นไป และจะเก็บเกี่ยวเดือนมี.ค.60 จะมีพื้นที่ปลูกประมาณ 9-10 ล้านไร่ ส่วนปริมาณผลผลิตนาปี 60/61 น่าจะอยู่ที่ 30-31 ล้านตันข้าวเปลือก

ส่วนแนวโน้มราคาข้าวปี 60 ทั้งข้าวขาว ข้าวหอมมะลิจะสูงขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากเกษตรกรที่มียุ้งฉางเข้าร่วมโครงการชะลอการขายข้าวเปลือกของภาครัฐเป็นการเก็บสต็อกข้าวของเกษตรเพื่อรอราคาในช่วงม.ค.-ก.พ.60 ขณะที่ข้าวนาปีที่เก็บเกี่ยวในช่วงพ.ย.ธ.ค.เป็นช่วงปลายฝน จะไม่มีปัญหาเรื่องความชื้นสูง ราคาน่าจะเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น ซึ่งราคาข้าวเปลือกความชื้น 15% อยู่ที่ประมาณ 8 พันบาท เนื่องจากราคาข้าวที่ตกต่ำในช่วงเดือน ต.ค.59 เป็นข้าวที่เจอปัญหาฝนตกทำให้ข้าวมีความชื้นสูงอยู่ระหว่าง 28-30% ทำให้หลายภาคส่วนคาดว่าปริมาณผลผลิตข้าวที่ออกช่วงเดือนต.ค.-พ.ย.59 จะล้นตลาด มีการผลิตข้าวมากกว่าแผนบริหารจัดการแบบครบวงจร ที่สำคัญคือสต็อกในตลาดโลกยังมี สต็อกในประเทศไทยยังมี

ยางพารา ขณะนี้ราคาที่ตลาดกลางหาดใหญ่ ตลาดล่วงหน้าราคามีแนวโน้มสูงขึ้น อาจจะมาจากความต้องการใช้น่าจะดีขึ้น แต่ก็จำเป็นต้องหาตลาดใหม่เพิ่มเติม เช่น อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมทั้งประเทศอุตสาหกรรมใหม่ๆที่มีการใช้ยางพารา

สำหรับตลาดที่น่าเป็นห่วงในปี 60 คือ ตลาดจีน ซึ่งคาดว่า GDP จะอยู่ระหว่าง 6-8% ซึ่งแสดงว่าจีนกำลังเน้นหลักการบริโภคภายใน ซึ่งที่ผ่านมาตลาดใหญ่ของสินค้าเกษตรของไทยหลายตัวอยู่ที่จีน เช่น ยางพารา ข้าวหอมมะลิ มันสำปะหลัง

"สินค้าเกษตรมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ สินค้าเกษตรและอาหาร กลุ่มนี้ไม่น่าห่วงและมีแนวโน้มเติบโตต่อไป แต่ที่น่าห่วงคือสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม"

อย่างไรก็ตาม ตลาดที่คาดว่าจะสดใสสำหรับสินค้าเกษตรคือ ตลาดอาเซียนและ CLMV มีการเติบโตจากการนำเข้าสินค้าเกาตรและอาหาร สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งเราต้องพยายามใช้ประโยชน์ของทั้งสองตลาดให้มากที่สุดในเรื่องของการประหยัดโลจิสติกส์ และเป็นประเทศที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ

"สศก.จะมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ภาคเกษตรเป็นระยะ เนื่องจากปัจจัยต่างๆอาจเกิดความผันผวน โดยประมาณเดือนมี.ค.60 จะประเมินอีกครั้งว่าตัวเลขที่เราคาดการณ์ไว้จะยังเป็นไปตามเป้าหรือไม่" นางสาวจริยา กล่าว

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 59 หดตัว 0.5% เมื่อเทียบกับปี 58 คิดเป็นมูลค่า 3.8 แสนล้านบาท โดยสาขาพืช และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัว 1.8% และ 0.5% ตามลำดับ ขณะที่สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง และสาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.8% ,2.5% และ 2.2% ตามลำดับ

สำหรับปัจจัยลบที่ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรหดตัว คือ ปรากฎการณ์เอลนีโญ และสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ของประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปี 58 ต่อเนื่องถึงต้นปี 59

"ในปี 59 เรื่องมูลค่าผลิตภัณฑ์เกษตรลดลงเนื่องจากการเกิดภัยแล้งในปี 58 กระทบต่อปริมาณผลผลิตในปี 59 จะเห็นพื้นที่ประสบภัยแล้งขยายวงกว้าง โดยเฉพาะข้าวนาปรัง และบางพื้นที่ต้องปรับเปลี่ยนการผลิตจากข้าวไปเป็นพืชอื่นและทำอาชีพเสริม"

ขณะที่การทำประมงทะเล ยังคงประสบปัญหาในเรื่องของการปรับตัวและการปฏิบัติตามกฎหมายประมงของผู้ประกอบการเรือประมง และการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีทิศทางลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีนชะลอตัว

ทั้งนี้ หากจะพิจารณาเป็นรายสาขาพบว่า สาขาพืช หดตัว 1.8% จากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานและสภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นไม่กระทบต่อการผลิตพืชมากนัก สำหรับผลผลิตพืชสำคัญที่ลดลง อาทิ ข้าวรวม ในปี 2559 มีผลผลิต 29.09 ล้านตัน ลดลง 2.6% เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีผลผลิต 29.86 ล้านตัน มันสำปะหลัง มีผลผลิตรวม 30.71 ล้านตัน ลดลง 2.4% เมื่อเทียบปี 2558 ที่มีผลผลิต 31.47 ล้านตัน อ้อยโรงงาน มีผลผลิตรวม 97.34 ล้านตัน ลดลง 10.5% เมื่อเทียบปี 2558 ที่มีผลผลิต 108.76 ล้านตัน ยางพารา มีผลผลิตรวม 4.38 ล้านตัน ลดลง 0.9% เมื่อเทียบปี 2558 ที่มีผลผลิต 4.42 ล้านตัน ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตรวม 11.17 ล้านตัน ลดลง 7.2% เมื่อเทียบปี 2558 ที่มีผลผลิต 12.05 ล้านตัน สำหรับผลไม้ (ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ) มีผลผลิตรวม 1.72 ล้านตัน ลดลง 13.4% เมื่อเทียบกับปี 2558 ซึ่งมีผลผลิต 1.99 ล้านตัน ด้านราคาพืชที่สำคัญในปี 2559 อาทิ ปาล์มน้ำมัน สับปะรดโรงงาน ยางพารา และผลไม้ ปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการของตลาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 2.8% โดยผลผลิตไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ โคเนื้อ และน้ำนมดิบ เพิ่มขึ้น 4.4%, 6.6%, 8.7%, 2.2% และ 2.5% ตามลำดับ เนื่องจากการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงระบบมาตรฐานฟาร์มที่ดี และราคาสินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์ดี

สาขาประมง ขยายตัว 2.5% โดยผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาโรคกุ้งตายด่วนคลี่คลายลง ประกอบกับเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีและใช้พันธุ์กุ้งที่ต้านทานต่อโรคมากขึ้น ส่วนปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ ปลานิล และปลาดุก มีทิศทางลดลง

สาขาบริการทางการเกษตร หดตัว 0.5% เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังลดลงจากปัญหาภัยแล้ง แม้ว่าเกษตรกรจะสามารถเพาะปลูกข้าวนาปีได้เพิ่มขึ้น แต่การจ้างบริการทางการเกษตรในภาพรวมยังคงลดลง

สาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.2% จากผลผลิตไม้ยางพาราและไม้ยูคาลิปตัสที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ รายได้เกษตรกร เฉลี่ยเดือน มกราคม - ตุลาคม 59 เพิ่มขึ้น 0.8% มาอยู่ที่ 280,000 บาท/ครัวเรือน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ สับปะรดโรงงาน ยางแผ่นดิบ ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน มังคุด เงาะ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ เพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ