ครม.ขยายเวลาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีหนุน Veture Capital และส่งเสริม SMEs รายใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 28, 2016 12:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลังได้มีมาตรการเพื่อให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการสนับสนุนกิจการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital : VC) และส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายใหม่ (SMEs/New Startup) ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่รัฐต้องการสนับสนุน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมาตรการการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว (กิจการเงินร่วมลงทุนตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 597) พ.ศ. 2559 (พรฎ. 597) และการส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายใหม่ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 602) พ.ศ. 2559 (พรฎ. 602)) จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2559

โดยล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการเสนอขอขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนกิจการเงินร่วมลงทุน และส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายใหม่ เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของกิจการเงินร่วมลงทุนของประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างให้เกิดแหล่งเงินทุนที่สำคัญในการส่งเสริมการเติบโตของ SMEs/Startup ตลอดจนเพื่อให้มีระยะเวลาสร้างความตระหนักและการรับรู้ในการผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการที่เป็น SMEs/New Startup รายใหม่เพิ่มมากขึ้น ภายใต้กรอบระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไปอีกระยะหนึ่ง ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

1. การขยายระยะเวลาสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนกิจการเงินร่วมลงทุน

1.1 เห็นชอบการขยายระยะเวลาการจดแจ้งการเป็นกิจการเงินร่วมลงทุนและทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เพื่อได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เพื่อสนับสนุนกิจการเงินร่วมลงทุนตาม พรฎ. 597 ปัจจุบัน ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561

1.2 อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อขยายเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนและผู้ลงทุนในกิจการเงินร่วมลงทุน สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินปันผลหรือรายได้ที่ได้จากการโอนหุ้นในกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุนเป็นระยะเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชีนับแต่วันที่จดแจ้งการเป็นกิจการเงินร่วมลงทุนกับสำนักงาน ก.ล.ต. ดังต่อไปนี้

(1) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินปันผลที่ได้รับจากกิจการเงินร่วมลงทุนหรือรายได้ที่ได้จากการโอนหุ้นของกิจการเงินร่วมลงทุน

(2) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นรายได้จากการที่กิจการเงินร่วมลงทุนเลิกกัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน

2. การขยายระยะเวลาสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายใหม่

2.1 เห็นชอบการขยายระยะเวลาการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายใหม่ตาม พรฎ. 602 ปัจจุบัน ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560

2.2 อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อขยายเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี นับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดี

(1) จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560

(2) มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินสามสิบล้านบาท

(3) มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการของกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือรายได้เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของรายได้ทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

(4) ยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติจากอธิบดี ทั้งนี้ ตามเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

(5) ไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ