รมช.คมนาคม คาดญี่ปุ่นสรุปผลศึกษาแนวทางพัฒนาสถานีกลางบางซื่อได้ในพ.ค. หลังสำรวจข้อมูลเพิ่มเติม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 22, 2017 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม กล่าวภายหลังหารือกับ นาย Takamasa HIROSE รองอธิบดีกรมเมืองฝ่ายวิศวกรรม กระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ว่า ทางญี่ปุ่นได้นำเสนอแนวคิดในการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อและพื้นที่โดยรอบใน 3 แนวทาง คือ 1.เป็นศูนย์กลางของส่วนราชการ 2.เป็นศูนย์กลางด้านการประชุมและจัดแสดงสินค้า และ 3.เป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านนวัตกรรมใหม่ๆ

“เป้าหมายการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ อันดับแรกคือเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่ดีที่สุด รองรับการเดินทางในพื้นที่กทม.และการเดินทางเชื่อมทุกภูมิภาค จากนั้นค่อยดูเรื่องการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เรื่องที่ดิน การศึกษาเดิมที่มี ไม่ได้ลงรายละเอียด ดังนั้นที่ทางญี่ปุ่นมาศึกษาจะละเอียด ครอบคลุมและจะได้ยืนยันว่าที่สนข.ศึกษาเป็นไปได้ทางธุรกิจหรือไม่”

นอกจากนี้ จะต้องพิจารณาถึงการพัฒนาในพื้นที่อื่นๆ ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ เช่น พื้นที่สถานีมักกะสัน สถานีแม่น้ำ ที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) รวมถึงการพัฒนาของภาคเอกชนที่จะเป็นคู่แข่งกับ สถานีกลางบางซื่อ เพื่อให้เห็นความต้องการในภาพรวม อุปสงค์และอุปทานทั้งหมดอย่างครอบคลุม จากนั้นจึงจะสามารถตัดสินใจได้ว่า ควรพัฒนาสถานีกลางบางซื่อในแต่ละช่วงเวลาอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงฯ ยังไม่สามารถตัดสินใจได้ เนื่องจากต้องการให้มีการสำรวจเพิ่มเติมในเรื่องความต้องการด้านต่างๆ ทั้งในประเทศและนอกประเทศ เนื่องจากกรุงเทพฯ นั้นเป็นเมืองระดับโลก หรือ International City ดังนั้นการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อจะต้องพิจารณาในประเด็นนี้ด้วย

โดยทางญี่ปุ่นจะไปสำรวจข้อมูลเพิ่มเติม และสรุปผลการศึกษาในเดือนพ.ค. 2560 และจะประชุมร่วมกันอีกครั้ง จากนั้นจะทำรายงานฉบับสมบูรณ์ภายในปลายเดือนส.ค. 2560 ซึ่งการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ เชิงธุรกิจที่มีความเสี่ยง ผลศึกษาของญี่ปุ่น จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นำการศึกษาของญี่ปุ่น ไปประมวลร่วมกับการศึกษาสถานีกลางบางซื่อเดิมเพื่อตัดสินใจต่อไป

ส่วนที่มีการเสนอให้พัฒนาพื้นที่แปลง A ขนาด 35 ไร่นั้น ขั้นตอนขณะนี้ได้เสนอไปที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อพิจารณาการร่วมลงทุนเอกชน (PPP) นั้น ให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ส่วนแปลง B พื้นที่ 78 ไร่, แปลง C พื้นที่ 105 ไร่, แปลง D พื้นที่ 87.5 ไร่ ยังไม่ได้นำเสนอ ต้องให้รอผลการศึกษาของญี่ปุ่นมาประกอบการตัดสินใจ เนื่องจากเกรงว่าหากเดินหน้าเปิดประมูลแล้วอาจจะไม่มีเอกชนสนใจลงทุน เนื่องจากรายละเอียดที่กำหนดอาจไม่มีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ