พาณิชย์ เผยยอดจดทะเบียนธุรกิจ เม.ย.โตกว่า 20%YoY แต่ลดลง 29% MoM

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 15, 2017 11:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยยอดการจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือน เม.ย.60 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศจำนวน 4,783 ราย เพิ่มขึ้น 796 ราย คิดเป็น 20% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.59 ซึ่งมีจำนวน 3,987 ราย แต่ลดลงจำนวน 1,989 ราย คิดเป็น 29% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.60 ซึ่งมีจำนวน 6,772 ราย

ขณะที่มูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในเดือน เม.ย.60 มีจำนวนทั้งสิ้น 21,832 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 9,352 ล้านบาท คิดเป็น 75% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.59 ซึ่งมีจำนวน 12,480 ล้านบาท แต่มีมูลค่าลดลงจำนวน 4,809 ล้านบาท คิดเป็น 18% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.60 ซึ่งมีจำนวน 26,641 ล้านบาท

สำหรับประเภทธุรกิจที่มีการประกอบธุรกิจใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไปจำนวน 425 ราย รองลงมาธุรกิจโฮลดิ้งจำนวน 362 ราย ตามด้วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จำนวน 273 ราย ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับจำนวน 236 ราย และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารจำนวน 109 ราย

ขณะที่มีนิติบุคคลจดทะเบียนเลิกจำนวน 878 ราย ลดลงจำนวน 289 ราย คิดเป็น 25% เมื่อเทียบเดือน มี.ค.60 ซึ่งมีจำนวน 1,167 ราย และลดลงจำนวน 19 ราย คิดเป็น 2% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.59 ซึ่งมีจำนวน 897 ราย

ทั้งนี้ส่งผลให้มีห้างหุ้นส่วนบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งทั้งสิ้น ณ วันที่ 30 เม.ย.60 จำนวน 1,383,897 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 20.84 ล้านล้านบาท โดยมีห้างหุ้นส่วนบริษัทที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศจำนวน 661,998 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 16.10 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 479,972 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,165 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 180,861 ราย

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-เม.ย.60) มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท จำนวน 23,585 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 2,075 ราย คิดเป็น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของก่อน (ม.ค.-เม.ย.59) ที่มีจำนวน 21,510 ราย แต่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ทั้งปีว่าจะมีอัตราการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 3% เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายเพิ่มมากขึ้นจากการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในตลาดจีน ยุโรป และกลุ่มประเทศ CLMV นอกจากนี้การใช้จ่ายภาครัฐที่เกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนยังได้รับผลบวกจากการขยายเวลามาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศต่อไปอีก 1 ปี เป็นสิ้นสุด 31 ธ.ค.60

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามเกี่ยวกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ความผันผวนของตลาดเงิน ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา และความไม่แน่นอนทางการเมืองของยุโรป รวมทั้งสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ