(เพิ่มเติม) ปลัดคลัง กระตุ้นภาคเอกชนเร่งลงทุนหนุนเศรษฐกิจโต,ยันเดินหน้าต่อ"ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์"

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 19, 2017 14:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สิ่งที่ยังขาดหายไปในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยขณะนี้ คือการลงทุนของภาคเอกชนที่แค่เพียงกระเตื้องขึ้นมาบ้าง แต่ยังไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งขณะนี้ รมว.คลัง ได้เร่งรัดทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีพิจารณารายละเอียด เงื่อนไขของมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติไปแล้วให้เร็วขึ้นเพื่อช่วยสนับสนุนการลงทุน

"ถ้าการลงทุนภาคเอกชนกลับมาเป็นปกติ ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยก็จะขยายตัวได้มากกว่า 3.3% ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจ ยืนยันว่าไม่มีแนวโน้มเกิดปัญหาหรือวิกฤตใดๆ ส่วนที่คาดว่าจะมีปัญหาคือ จุลภาค รัฐบาลก็ได้เร่งแก้ปัญหาไปเรียบร้อยแล้ว"ปลัดกระทรวงคลัง กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าเศรษฐกิจมหภาค (macro) ของไทยยังแข็งแกร่งอย่างแท้จริงในทุกด้าน ทั้งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ฐานะการคลัง ดุลบัญชีเดินสะพัด สภาพคล่อง และอัตราการว่างงาน เหล่านี้เป็นข้อมูลยืนยันว่า ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง

แต่ต้องมาดูว่าภาคใดที่ยังมีปัญหา พบว่าระดับจุลภาค (micro) ของเศรษฐกิจไทยยังจำเป็นต้องเข้าไปแก้ไข สะท้อนมาจากข้อมูลในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ซึ่งในสัปดาห์หน้ากระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) และกรมบัญชีกลาง จะหารือร่วมกันเพื่อสรุปชุดมาตรการที่จะออกมาช่วยเหลือกับประชาชนผู้มีน้อยรายได้น้อยที่มาลงทะเบียน 14.1 ล้านคน โดยจะเป็นชุดมาตรการที่นอกเหนือไปจากรถเมล์ รถไฟ ค่าน้ำ ค่าไฟ ฟรี

"เราต้องพิจารณาในรายละเอียดอย่างรอบคอบเกี่ยวกับมาตรการที่จะให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้โดนใจ และเป็นการมากกว่าช่วยเหลือ ต้องเพิ่มศักยภาพในการหารายได้ให้ผู้มีรายได้น้อยอย่าแท้จริง"นายสมชัย กล่าว

สำหรับความคืบหน้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) นายสมชัย ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดยกเลิกโครงการนี้แน่นอน แต่จะเริ่มขายหน่วยลงทุนได้ราวเดือนก.ย. ส่วนกรณีปัญหานั้น ทางสศค. ต้องไปคุยกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งยืนยันว่าการตั้งกองทุนดังกล่าวเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีงบประมาณ และหากจะกู้ก็มีข้อจำกัดที่หนี้สาธาณะจะต้องไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี ซึ่งกองทุนนี้เป็นเงินอีกทางที่ช่วยสนับสนุน ประชาชนก็จะได้ประโยชน์จากกองทุนนี้ ซึ่งมีดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากทั่วไป

"การสร้างประเทศจะใช้งบประมาณจากหลายๆด้านต้องมาจากการกู้ทั้งในและต่างประเทศ และงบประมาณที่มีอยู่ รวมถึงจากหน่วยลงทุนที่จะออกมา ส่วนต้นทุนและวิธีการจัดตั้งกองทุนเป็นอย่างไร เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง สคร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมไปเร่งศึกษาและดำเนินการ และจำเป็นต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจด้วย ว่า ให้มองประเทศเป็นส่วนรวมไม่ใช่มองเป็นองค์กรหนึ่งองค์กรใด" นายสมคิด กล่าว

สำหรับการช่วยเหลือคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท จะไม่ใช่การแจกเงินฟรี แต่ทำให้สามารถลืมตาอ้าปากได้ โดยจะเริ่มดำเนินการให้ช่วงบประมาณ ปี 2561 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ และมีการจัดตั้งกองทุนประชารัฐขึ้นมาแล้วในงบประมาณ 50,000 ล้านบาท เพื่อเข้ามาช่วยเหลือแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ