นายกฯ จะเดินทางไปร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่เวียดนาม 8-11 พ.ย.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 6, 2017 10:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 25 และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ และนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ จะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 8 – 11 พฤศจิกายน 2560 ณ นครดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

กำหนดการประชุมที่สำคัญจะประกอบด้วย การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 แบบเต็มวัน และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 10-11 พฤศจิกายน 2560 โดยแบ่งเป็น การหารือกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค หรือ ABAC จากนั้น จะเป็นหารืออย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งหัวข้อการหารือของ Retreat I ในช่วงเช้า คือ การเติบโตอย่างมีนวัตกรรม การมีส่วนร่วม และการจ้างงานอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล (Innovative Growth, Inclusion and Sustainable Employment in the Digital Age) และหัวข้อการหารือของ Retreat II ในช่วงบ่าย คือ พลังขับเคลื่อนใหม่ทางการค้า การลงทุน และการเชื่อมโยงในภูมิภาค (New Driver for Regional Trade, Investment and Connectivity)

เป้าหมายในการเข้าร่วมประชุมของไทยในครั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการดำเนินการของไทยที่สำคัญในกรอบเอเปค โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกทางการค้า ความเชื่อมโยง (connectivity) เศรษฐกิจสีเขียว (Green growth / Green economy) และการพัฒนาทุนมนุษย์

ด้านนางอภิรดี เปิดเผยว่า การประชุมเอเปคปีนี้มีหัวข้อหลัก คือ การสร้างพลวัตรใหม่และการส่งเสริมอนาคตร่วมกันของเอเชีย-แปซิฟิก

"เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งจะรวบรวมผลงานที่ระดับเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการมาตลอดปี โดยนำเสนอระดับรัฐมนตรีและผู้นำรับทราบและให้ข้อสั่งการเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการต่อไป" นางอภิรดี กล่าว

สำหรับการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีเอเปคจะมีการหารือประเด็นสำคัญ ได้แก่ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค แนวทางเร่งดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายโบกอร์ของการค้าการลงทุนที่เสรี ภายในปี 2563 และการดำเนินการร่วมกันของเอเปคหลังปี 2563 ให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา

ทั้งนี้ ในปี 2563 เป้าหมายโบกอร์ซึ่งเป็นแก่นของการทำงานเอเปคกำลังจะสิ้นสุดลง รวมถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และมีปัจจัยส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีใหม่ๆ เอเปคจึงต้องทบทวนบทบาทและการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา เปรูซึ่งเป็นเจ้าภาพเอเปค ได้จัดการหารือเรื่อง APEC toward 2020 and beyond เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ของเอเปคหลังปี 2563 ซึ่งในการประชุมครั้งนี้เวียดนามจะได้สานต่อการทำงานในหัวข้อนี้ด้วย

นอกจากนี้ เอเปคยังให้ความสำคัญกับการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ซึ่งเอเปคได้เริ่มมีการพูดคุยกันแล้ว โดยมุ่งหวังให้เป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูง ครอบคลุม และเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน

"เอเปคถือเป็นกลไกความร่วมมือที่จะช่วยให้ไทยเข้าถึงมาตรฐานระหว่างประเทศที่ทันสมัยในด้านต่างๆ และส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน ผ่านโครงการเสริมสร้างความสามารถ ความร่วมมือด้านวิชาการ และความร่วมมือด้านกฎระเบียบ โดยตั้งอยู่บนหลักความสมัครใจ อีกทั้งไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกเอเปคเพื่อผลักดันเรื่องที่ไทยให้ความสำคัญ และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศของไทย เช่น การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของ MSMEs การส่งเสริมเศรษฐกิจอินเตอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัล การส่งเสริมนวัตกรรม และการเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง เป็นต้น" นางอภิรดี กล่าว

เอเปคเป็นกรอบความร่วมมือของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วย สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ คือ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัว-นิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา และเป็นกลุ่มคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยในปี 2559 การค้าของไทยกับกลุ่มเศรษฐกิจเอเปคมีมูลค่า 286,913.02 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 69.98 ของการค้ารวมของไทย เป็นการส่งออก 147,108.10 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 68.32 และการนำเข้า 139,804.92 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 71.82 โดยในปี 2560 (มกราคม-กันยายน) การค้าระหว่างไทยกับเอเปคมีมูลค่า 235,772.72 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 69.62 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย โดยเป็นการส่งออก 121,217.78 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 114,554.93 ล้านเหรียญสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ