(เพิ่มเติม) กรมท่าอากาศยาน วาง 5 ยุทธศาสตร์มุ่งสู่เป้าหมายรองรับผู้โดยสารได้ถึง 58 ล้านคนภายในปี 78

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 27, 2017 18:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวว่า กรมท่าอากาศยานได้ดำเนินงานในเชิงรุกเพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์กรมท่าอากาศยานปี 2560-2564 ที่กำหนดมาเพื่อรองรับยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม เพื่อให้ท่าอากาศยานภูมิภาคในสังกัด 29 แห่งทั่วประเทศสามารถรองรับผู้โดยสารได้ตรงตามเป้าหมาย 30 ล้านคนต่อปีภายในปี 68 และรองรับได้ถึง 58 ล้านคนต่อปีภายในปี 78 โดยเป็นไปตามมาตรฐาน ICAO

"ปี 60 นี้ถือเป็นปีที่สำคัญของกรมท่าอากาศยานในฐานะผู้บริหารท่าอากาศยานในสังกัด 29 แห่งครอบคลุมทั่วประเทศด้วยการปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น เป็นการดำเนินงานในเชิงรุกต่อเนื่องจากเมื่อช่วงต้นปีที่ได้มีการปรับโครงสร้างการทำงานในหลายด้าน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและการแข่งขันในเชิงธุรกิจ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารที่หลากหลายและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น"

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ของกรมท่าอากาศยาน ประกอบไปด้วย 5 ยุทธศาสตร์หลัก คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 จัดให้มีการพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อส่งเสริมโครงข่ายการบินให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ปรับปรุงบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกให้เป็นไป ตามมาตรฐานสากลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาและปรับปรุงการบริหารจัดการท่าอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพ ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาองค์กรภายใต้หลักธรรมาภิบาล และยุทธศาสตร์ที่ 5 บริหารทรัพยากรมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้กรมท่าอากาศยานได้ทำงานแบบบูรณาการ โดยได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่ปฏิบัติงานภายใต้นโยบาย One Transport ของกระทรวงคมนาคม และได้ทำงานเชิงรุกที่รวดเร็วร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ อาทิเช่น บมจ. ปตท. (PTT) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) ธนาคารกรุงไทย (KTB) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด รวมถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้กรมท่าอากาศยานสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง

นายดรุณ กล่าวต่อว่า ในวันที่ 29 พ.ย.นี้ จะมีการประชุมร่วมกันในเรื่องการบริหารสนามบินของกรมท่าอากาศยาน ซึ่งมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธาน โดยจะมีความชัดเจนในเรื่องบทบาทของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. ในการเข้ามาร่วมบริหารสนามบินของกรมท่าอากาศยานด้วย

โดยจากการศึกษา พบว่า ทอท.ควรบริหารสนามบิน 2 แห่ง คือ สนามบินตาก(ตะวันตก) และสนามบินอุดรธานี (ตะวันออกเฉียงเหนือ) เนื่องจากสนามตากมีระยะห่างจากสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง กับ เชียงใหม่ กึ่งกลางพอดี ดังนั้น ทอท.สามารถใช้เป็นที่จอดเครื่องบิน ช่วยลดแออัดของสนามบินหลักได้ โดย ทอท.ต้องลงทุนต่อขยายรันเวย์และอาคารผู้โดยสารประมาณ 5,000 ล้านบาท ส่วนที่อุดรธานี ลงทุนขยายอาคารผู้โดยสารประมาณ 3,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ กรมท่าอากาศยานจะเสนอแผนการให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาสนามบิน 4 แห่ง ได้แก่ ลำปาง,เพชรบูรณ์,นครราชสีมา และชุมพร ซึ่งหากได้รับอนุมัติจะเริ่มศึกษาการร่วมลงทุน PPP ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 ประมาณ 8 เดือน จากนั้นจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้ในปี 2561 ซึ่งแต่ละแห่งจะมีรูปแบบการร่วมลงทุนและระยะเวลาการลงทุนที่ต่างกัน

นายดรุณ กล่าวว่า ได้ออกแบบการพัฒนาสนามบินภูมิภาคในระยะยาว หรือ Ultimate Design ซึ่งจะกำหนดทิศทางของแต่ละสนามบินที่สอดคล้องกับความต้องการและสร้างประโยชน์ได้สูงสุดกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับสนามบินนั้นๆ ซึ่งจะทำให้รู้ถึงขนาดรันเวย์ ขนาดของอาคารผู้โดยสาร พื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อสร้างรายได้ ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เมื่อมีขอบเขตที่ชัดเจนจะสามารถประกาศเขตสนามบินได้ล่วงหน้า ซึ่งมีข้อดีในการวางแผนที่ดินและกรณีที่ต้องเวนคืนเพิ่มจะดำเนินการได้ล่วงหน้า

สำหรับโครงการ Tourist Airports ซึ่งจะเป็นการตอบสนองความต้องการนักท่องเที่ยวนั้น กรมท่าอากาศยานได้ทำงานร่วมกับ จังหวัด องค์กรท้องถิ่น และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และนำร่องที่สนามบินระนองแล้ว โดยปัจจุบันมีสายการบินนกแอร์ให้บริการ และในเดือน ก.พ.61 สายการบินไทยแอร์เอเชีย จะเปิดเที่ยวบินไประนอง ซึ่งในด้านการโดยสารจะมีการแข่งขันราคา ค่าโดยสารจะถูกลง และหากมีบริการนักท่องเที่ยว ในโครงการ Tourist Airports จะยิ่งดึงดูดสายการบินให้มาทำการบินมากขึ้น

หลังจากนี้จะขยายโครงการไปที่สนามบินน่านภายในเดือน ม.ค.61 และสนามบินบุรีรัมย์จะเริ่มในเดือน ก.พ.61 นอกจากนี้ ในบางกิจกรรม จะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนด้วย เช่น สปา เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ