(เพิ่มเติม) รมว.อุตสาหกรรม ชี้ดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็นช่วยสร้างโอกาสและความท้าทาย-แก้ปัญหาได้เหมาะสมและตรงจุด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 10, 2018 14:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ "พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย สู่ยุคดิจิทัล" โดยระบุว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งแม้ในภาพรวมจะมองว่าประเทศรายใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา และจีน จะได้รับประโยชน์จากยุคดิจิทัลเทคโนโลยีมากที่สุดนั้น แต่ในความจริงแล้วประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทยเอง จะสามารถใช้ประโยชน์จากยุคดิจิทัลมาพัฒนาประเทศได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้แก้ปัญหาประเทศในหลากหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา บริการสาธารณสุข ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจมีการเติบโตได้อย่างยั่งยืน

"เทคโนโลยีดิจิทัลนำมาทั้งโอกาสและความท้าทาย ประเทศเราที่ผ่านมามีปัญหาทั้งความเหลื่อมล้ำ ความยากจน แต่เราสามารถได้เทคโนโลยีดิจิทัลในหลากหลายมุม ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา บริการสาธารณสุข ซึ่งถ้าแก้ไขได้ก็จะทำให้ GDP โตได้อย่างยั่งยืน การใช้เทคโนโลยีเป็นโอกาสที่ทำให้แก้ไขปัญหาได้มากขึ้น ถ้าเราไม่ก้าวสู่ยุคดิจิทัลโดยเร็วและถูกทิศทาง เราจะตกขบวนรถไฟดิจิทัล" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

พร้อมเห็นว่า ในปี 61 ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างชัดเจนทั้งในภาคของประชาชน, ภาคธุรกิจเอกชน ที่ต่างตื่นตัวกับเรื่องนี้ และภาครัฐบาลที่วางนโยบายเพื่อที่จะทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม วางรากฐานสู่ยุคดิจิทัลให้แก่ประเทศ ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบได้ภายใน 10 ปีนับจากนี้

"เราต้องการสร้างความตระหนัก และสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเอกชนเข้าใจว่าดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็น และต้องใจถึงที่จะกล้าลองใช้สิ่งใหม่ ต้องมีการปรับ mind set ในส่วนนี้" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

โดยในภาคอุตสาหกรรมนั้น รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะปรับให้เข้าสู่ดิจิทัลเทคโนโลยีใน 4 ส่วนที่สำคัญคือ 1. อุตสาหกรรมใน 10 กลุ่มเป้าหมาย 2. ธุรกิจในทุกระดับตั้งแต่ฐานรากจนถึงระดับบน 3. กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องปรับปรุงให้รองรับกับยุคดิจิทัล และ 4. การสร้างระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดให้มีการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวด้วยว่า สำหรับความช่วยเหลือของภาครัฐที่มีต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพื่อให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลนั้น ขณะนี้รัฐบาลกำลังจัดทำ Big Data ข้อมูลของ SME ทั่วประเทศเป็นครั้งแรกที่ได้มาขึ้นทะเบียนไว้กว่า 3.3 ล้านราย รวมทั้งจัดทำ Big Data ข้อมูลของโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เพื่อจะทำให้ภาครัฐได้ทราบข้อมูลต่างๆ ของ SME ในแต่ละราย และโรงงานอุตสาหกรรมในแต่ละแห่งว่าประสบปัญหาอย่างไร และต้องการให้รัฐบาลเข้าไปให้การช่วยเหลือในด้านใด เพื่อที่รัฐบาลจะได้จัดทำมาตรการให้ความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมและตรงจุด

ด้านนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ปีนี้จะถือเป็นปีของการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งกระทรวงดีอีมีภารกิจที่สำคัญใน 5 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.การดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในส่วนของการติดตั้งไฟเบอร์ออฟติกให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ โดยยังเหลืออีกเพียง 20% คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ทุกหมู่บ้านในประเทศไทยมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไว้ใช้งาน และทำให้ชุมชนสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐในด้านต่างๆ ได้สะดวกขึ้น ตลอดจนการนำสินค้าจากชุมชนขายผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นการขายในรูปแบบที่ทันสมัย เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ง่ายขึ้นนำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้แก่ชุมชน

2.การพัฒนาบุคคลากรด้วยการฝึกอบรมความรู้ให้แก่ชุมชน เพื่อรองรับการเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยในปีนี้กระทรวงดีอีตั้งเป้าว่าจะมีบุคคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมทั่วประเทศราว 1 ล้านคน 3.รองรับการเป็น E-Government ซึ่งกระทรวงดีอีกำลังสนับสนุนจัดทำฐานข้อมูล Big Data สำหรับ 20 กระทรวง 4.การพัฒนาสู่ดิจิทัล 4.0 ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Digital Park ที่ศรีราชา, การจัดสร้าง Smart City, โครงการ E-commerce ชุมชน เป็นต้น และ 5. ระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งกระทรวงดีอีจะสนับสนุนการจัดทำระบบป้องกันภัยทางไซเบอร์ใน 6 กลุ่มที่สำคัญ เช่น ตลาดหลักทรัพย์, กลุ่มธุรกิจพลังงาน, บริการด้านสาธารณสุข เป็นต้น

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ในยุคดิจิทัลมีความจำเป็นที่ภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์เองที่จะต้องมีการปรับปรุงระบบการดำเนินงานต่างๆ ให้มีความทันสมัย รองรับต่อเทคโนโลยีของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง เพราะธนาคารพาณิชย์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในระบบธุรกิจ

"ธุรกิจจะต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัล และนำประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้กับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การขาย ซึ่งถ้าปรับตัวได้ ธุรกิจก็จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน แม้กระทั่งธนาคารพาณิชย์เองก็เช่นกันที่ทุกธนาคารพยายามปรับตัว หาผลิตภัณฑ์ใหม่มาเตรียมรอไว้รองรับกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป" นายปรีดี กล่าว

พร้อมระบุว่า ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งได้ใช้งบประมาณจำนวนมากไปในส่วนของการพัฒนาระบบให้บริการทางการเงิน เพื่อหวังว่าสิ่งที่ได้ลงทุนไปนี้จะสามารถช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจให้แก่ลูกค้าของธนาคารได้ ดังนั้นจึงอยากให้ลูกค้าศึกษาว่าแต่ละธนาคารมีผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินอะไรใหม่ๆ ออกมาที่จะทำให้ภาคธุรกิจสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และลดต้นทุนให้กับองค์กรได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ